กาฬสินธุ์ - ชลประทานจังหวัดกาฬสินธุ์เผยอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 5 แห่ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอเข้าขั้นวิกฤต เตือนเกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูก ระบุน้ำต้นทุนเหลือน้อยไม่ควรสูบน้ำใช้เชิงเกษตรแต่ควรเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งซึ่งคาดว่าจะยาวนาน
วันนี้ (26 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดกาฬสินธุ์แจ้งว่า จากการติดตามปัญหาภัยแล้งที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ล่าสุดได้ตรวจสอบน้ำต้นทุน 18 อ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่เขตชลประทาน พบว่าในปีนี้อ่างเก็บน้ำขนาดกลางอย่างน้อย 5 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ อ.หนองกุงศรี อ.ห้วยเม็ก อ.ยางตลาด
ประกอบด้วย บึ่งอร่าม หนองคู หนองหมาจอก หนองหญ้าม้า และห้วยวังลิ้นฟ้า เข้าขั้นวิกฤตเพราะสภาพอ่างมีความตื้นเขินไม่สามารถกักเก็บน้ำได้
ล่าสุด นายสมหมาย ดอกบัว หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงการชลประทานกาฬสินธุ์ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยสีทน ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำหลักที่ใช้ผลิตน้ำอุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และติดตามสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 18 แห่ง หลังจากปัจจุบันพบว่าปริมาณน้ำเกือบทุกแห่งลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายสมหมาย ดอกบัว หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงการชลประทานกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้น้ำต้นทุน รวม 18 อ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีน้ำเหลืออยู่ที่ 35. 87 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณร้อยละ 40 จากความจุรวมที่ 60.85 ล้าน ลบ.ม. และเริ่มวิกฤตแล้ว 5 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ซึ่งก็ยังคงผลิตน้ำประปาได้ แต่ประชาชนไม่ควรขยายพื้นที่ทางการเกษตร เพราะถือเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
ในขณะนี้ยังพบว่ามีเกษตรกรขยายพื้นที่ทางเกษตรเกินกว่ากำหนดถึง 2,800 ไร่ เดิมที่ตั้งเป้าไว้เพียง 10,000 ไร่
อย่างไรก็ตาม จากสภาพความแปรปรวนของอากาศที่คาดว่าจะร้อนจัด จึงทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ส่วนใหญ่ตื้นเขินเกิดการระเหยเร็วกว่ากำหนด จึงขอความร่วมมือเกษตรกรหยุดสูบน้ำเข้าพื้นที่ตนเอง เพราะชลประทานมีความจำเป็นที่จะต้องสงวนน้ำเอาไว้ใช้ให้ถึงฤดูฝนที่มีความยาวนาน