xs
xsm
sm
md
lg

“หาดใหญ่โพล” เผย “หม่อมอุ๋ย” เหมาะนั่งนายกฯ คนกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “หาดใหญ่โพล” เผยผลสำรวจพบประชาชนไม่อยากให้พรรคการเมืองให้นำนโยบายรับจำนำข้าวมาใช้อีก ชี้อยากเห็นการปฏิรูปการคอร์รัปชันอย่างจริงจัง แนะควรจำกัดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร เผยส่วนใหญ่เห็นว่า “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” เหมาะตำแหน่งนายกฯ คนกลางแก้วิกฤตประเทศ

“หาดใหญ่โพล” เผยผลสำรวจโพล เรื่อง “วิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลรักษาการ” โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลรักษาการ โดยกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจครั้งนี้เป็นประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 604 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ 2557 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้ สถานภาพกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 58.05) มีอายุระหว่าง 31-40 ปี (ร้อยละ 33.27) รองลงมา อายุ 21-30 ปี (ร้อยละ 27.49) และอายุ 41-50 ปี (ร้อยละ 23.69) ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป (ร้อยละ 22.38) รองลงมา คือ ประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย (ร้อยละ 19.18) พนักงานบริษัท/ลูกจ้าง (ร้อยละ 17.58) และนักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ 14.92) ตามลำดับ

สรุปผลการสำรวจ ผศ.ดร. กอแก้ว จันทร์กิ่งทอง รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนเห็นว่าแนวทางในการช่วยเหลือชาวนา คือ การระบายข้าวสู่ตลาด เป็นวิธีที่ดีที่สุด (ร้อยละ 29.08) รองลงมา คือ ชาวนาเอาข้าวคืนจากรัฐบาล (ร้อยละ 22.02) และรัฐบาลลาออกเพื่อหารัฐบาลคนกลางมาช่วยเหลือชาวนา (ร้อยละ 17.82)

ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 67.17 เห็นว่า การชุมนุมของชาวนาเพื่อเรียกร้องเงินจำนำข้าวส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในระดับมาก และร้อยละ 18.42 เห็นว่าการชุมนุมของชาวนาเพื่อเรียกร้องเงินจำนำข้าวส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในระดับปานกลาง ในขณะที่ร้อยละ 14.41 เห็นว่า การชุมนุมของชาวนาเพื่อเรียกร้องเงินจำนำข้าวส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในระดับน้อย

นอกจากนี้ ประชาชนไม่ต้องการให้พรรคการเมืองใช้โครงการรับจำนำข้าวในการหาเสียงเลือกตั้งอีก (ร้อยละ 72.09) โดยประชาชนต้องการเห็นการปฏิรูปการคอร์รัปชันมากที่สุด (ร้อยละ 63.45) รองลงมา คือ การปฏิรูประบบการเมือง/ระบบการเลือกตั้ง (ร้อยละ 47.38) การปฏิรูประบบราชการ (ร้อยละ 40.44) การปฏิรูประบบสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง (ร้อยละ 28.43) และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ร้อยละ 20.47) ตามลำดับ 

เมื่อสอบถามประเด็นย่อยในการปฏิรูปประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้มีการกำหนดขอบเขตการใช้อำนาจของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติ มากที่สุด (ร้อยละ 90.48) รองลงมา คือ การกำหนดให้มีบทลงโทษในการคอร์รัปชันที่รุนแรง (ร้อยละ 84.43) ให้คดีการคอร์รัปชันไม่มีอายุความ (ร้อยละ 80.53) การให้สิทธิประชาชนในการฟ้องคดีทุจริตคอร์รัปชัน (ร้อยละ 79.30) การปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมไม่ซื้อเสียง (ร้อยละ 77.83) การตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่มีตัวแทนจากภาคประชาชน (ร้อยละ 77.37) การสร้างโอกาสในการศึกษาของเยาวชนอย่างเท่าเทียม (ร้อยละ 76.04) และการปฏิรูปโครงสร้างกระบวนการผลิตของเกษตรกร (ร้อยละ 75.29)

ในส่วนของการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น ประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นใน 28 เขตในพื้นที่ภาคใต้ส่อต่อการขัดรัฐธรรมนูญ (ร้อยละ 55.89) เมื่อสอบถามว่าใครเหมาะสมกับนายกรัฐมนตรีคนกลาง พบว่า ประชาชนเห็นว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลางภายใต้ความขัดแย้งมากที่สุด (ร้อยละ 23.00) รองลงมา คือ คุณอานันท์ ปันยารชุน (ร้อยละ 20.21) คุณพลากร สุวรรณรัฐ (ร้อยละ 19.86) และ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ (ร้อยละ 11.67)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น