xs
xsm
sm
md
lg

“ศิษย์เก่าวลัยลักษณ์” ยื่นหนังสือจี้อธิการฯ แจงเหตุโค่นป่าปลูกแตงโมนับ 100 ไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - “สมาคมศิษย์เก่า ม.วัยลักษณ์” ยื่นหนังสือจี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ชี้แจงเหตุโค่นป่าปลูกแตงโมนับ 200 ไร่ อัดข้ออ้างตัดไม้เพื่อช่วยชุมชนแก้ปัญญาวัวในพื้นที่เป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยไร้เหตุผล พร้อมเปิดเวทีถกทางแก้ปัญหา ด้านรองอธิการวลัยลักษณ์ เผยขอสืบค้นรายละเอียดก่อน อ้างเรื่องนี้ขอเป็นกลางไม่เลือกข้าง

วันนี้ (17 ก.พ.) ในช่วงที่ผ่านมา เกิดกรณีตัดต้นไม้ดั้งเดิมในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ส่งผลให้เป็นประเด็นพูดคุยถกเถียงกันมานานนับปี สืบเนื่องจากการตัดต้นไม้พื้นถิ่นภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช มีจำนวนมากกินเนื้อที่นับร้อยไร่ และการตัดต้นไม่ดังกล่าวตัดเพียงเพื่อปลูกแตงโม ทำให้ “ประชาคมวลัยลักษณ์” มีคำถามถึงฝ่ายบริหารหลายคำถามด้วยกัน

เพื่อความกระจ่างชัดเจนในประเด็นดังกล่าว ทางสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยได้ยื่นหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 มีใจความว่า

“จากปรากฏการณ์การตัดต้นไม้ไถพื้นที่บริเวณมหาวิทยาลัย ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นเต็มไปด้วยไม้ยืนต้น และไม้พันธุ์พื้นเมืองแหล่งสุดท้ายของอำเภอท่าศาลา ในขณะนี้การทำลายต้นไม้เกิดขึ้นรอบมหาวิทยาลัย กินอาณาบริเวณกว้างขวาง ภาพที่ปรากฏสร้างความกังวลต่อศิษย์เก่า และประชาคมในอำเภอท่าศาลายิ่ง ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งตั้งคำถามไปถึงระบบการบริหาร และการจัดการทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยที่เป็นระบบ ความสำคัญของประเด็นนี้คือ

1.การตัดต้นไม้แค่เพียง 1 ต้น ในสังคมปัจจุบันเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตัดต้นไม้นับพันต้นโดยไม่ได้สนใจอะไรเลย ในฐานะสถาบันทางวิชาการ ควรหรือไม่ที่จะแสดงพฤติกรรมเช่นนี้

2.ข้ออ้างของคุณอุทัย แกล้วกล้า ซึ่งตอบในเฟซบุ๊ก บอกว่า เป็นการช่วยเหลือชุมชนและเป็นการแก้ปัญหาวัวในมหาวิทยาลัย ข้ออ้างดังกล่าวได้รับการวิพากษ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นหนทางแก้ปัญหาจริงหรือไม่ กับการต้องตัดต้นไม้ยืนต้น และพืชพื้นเมืองหลายพันต้น ภูมิปัญญาของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงของประเทศน่าจะมีหนทางดำเนินการได้ดีกว่านี้

3.ระบบบริหาร การจัดการทรัพย์สิน การใช้ประโยชน์ที่ดินของมหาวิทยาลัยมีระบบเช่นไร เหตุใดจึงปล่อยให้มีการทำลายต้นไม้มากมายขนาดนี้

เพื่อความกระจ่างของปัญหา และป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามสู่การรับรู้ของภายนอก จึงขอให้ท่านอธิการบดีได้จัดเวทีเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาคม มวล.ศิษย์เก่า และประชาคมท่าศาลา โดยด่วน เพื่อทำให้ปัญหานี้ยุติลงได้ด้วยดี”

หลังจากยื่นหนังสือเพื่อสอบถามรายละเอียดของโครงการตัดต้นไม้ในมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีคำอธิบายใดๆ จากฝ่ายบริหาร หลังจากสมาคมศิษย์เก่ายื่นหนังสือไปประมาณ 1 เดือน ทางสมาคมได้นัดพูดคุยกับฝ่ายบริหารเพื่อขอคำอธิบายถึงรายละเอียดของโครงการดังกล่าวที่ตึกบริหาร คำอธิบายจากฝ่ายบริหารก็ไม่มีความชัดเจน โดยฝ่ายบริหารอ้างว่า ต้องศึกษาข้อมูลก่อน เหตุการณ์ผ่านมานานนับปี กรณีดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนแต่การตัดป่าเพื่อปลูกแตงโมยังคงดำเนินต่อไป

เนื้อหาต่อไปนี้เป็นประเด็นการพูดคุยระหว่างฝ่ายบริหาร คือ ผศ.ดร.มนตรี อิสรไกรศีล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับตัวแทนสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
การพูดคุยเริ่มด้วยทางสมาคมศิษย์เก่าได้ฉายภาพการตัดทำลายป่าให้ทางรองอธิการบดีได้ดู ซึ่งทางสมาคมศิษย์เก่าคาดว่า ทางฝ่ายบริหารคงไม่เคยเห็นสภาพพื้นที่ป่าภายในมหาวิทยาลัยที่ถูกทำลายมาก่อน ต่อด้วยคำถาม 4 คำถามสำหรับกรณีการโค่นป่าไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ ในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

1.มหาวิทยาลัยจัดทำแผน และผังการใช้ประโยชน์เสร็จสิ้นแล้วหรือไม่

2.มีคำสั่ง หรือแผนการใดที่ระบุให้มีการตัดต้นไม้ และทำลายระบบนิเวศป่าพื้นเมือง

3.เหตุผลและข้ออ้างที่บอกว่าจะช่วยชุมชนนั้น การช่วยชุมชน คือการตัดป่าใช่หรือไม่ ชาวบ้านที่ช่วยเป็นกลุ่มไหน ใครที่รับประโยชน์ และทำไมต้องเป็นแตงโม

4.ระบบบริหาร สั่งการ ควบคุมเป็นอยู่อย่างไรจึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

“ผมคงไม่ตอบคำถาม” เป็นคำกล่าวของ ผศ.ดร.มนตรี อิสรไกรศีล รองอธิการบดี หลังจากดูภาพการตัดทำลายป่า และมีคำถามจากสมาคมศิษย์เก่า วันนี้ผมเพียงมาฟังว่ากลุ่มศิษย์เก่าคิดอย่างไร ต้องหารายละเอียดก่อน เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องถูกผิดแต่เป็นเรื่องมุมมอง เรื่องนี้ต้องสืบหารายละเอียดก่อนผมขอเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใด เป็นคำยืนยันของรองอธิการบดี ในวันที่มีการพูดคุยกับทางสมาคมศิษย์เก่า

ด้านนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ทางด้านสมาคมศิษย์เก่า ได้ส่งหนังสือถึงอธิการบดี ขอให้ผู้บริหารชี้แจงกรณีมีการตัดป่าจำนวนมากว่ามีเหตุผลอย่างไรบ้าง แต่คำตอบที่ได้รับจากฝ่ายบริหารเพียงคำยืนยันว่า มารับฟังสมาคมฯ

นายกสมาคมศิษย์เก่าฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่ทางสมาคมสอบถามฝ่ายบริหารนั้น ได้ถามถึงระบบบริหาร ซึ่งเป็นงานที่ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบโดยตรง และประเด็นการตัดป่าจำนวนมากภายในมหาวิทยาลัยเป็นหน้าที่ฝ่ายบริหารที่ต้องรับรู้ ยังคงต้องค้นหารายละเอียดอะไรอีก จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ที่ผ่านมา ทำงานกันบ้างไหม และถ้าหากกรณีนี้เกิดขึ้นนอกมหาวิทยาลัย ยอมรับได้ที่จะให้มีการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่นี่เหตุเกิดที่ปลายจมูก และประเด็นนี้รับรู้กันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ยังจะหาข้อมูลอะไรมากมายในเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอยู่แล้ว
ภาพจาก Facebook :Wanchai P Wanchai P
การตัดต้นไม้เกือบ 200 ไร่ ไม่ใช่ความผิด แต่เป็นเรื่องของมุมมองที่แต่ละคนมองกันคนละมุม นั่นหมายความว่า การตัดต้นไม้ 200 ไร่ มองว่าถูกต้องก็ได้ ผิดก็ได้ นี่คือวิธีคิดของผู้บริหาร ถ้าวิสัยทัศน์เช่นนี้เป็นที่รับรู้ออกสู่ภายนอก สังคมจะมองอย่างไร ในโลกปัจจุบันการตัดต้นไม้ 1 ต้น กลายเป็นประเด็นที่สำคัญ แต่รองอธิการบดีกลับบอกว่า ตัดต้นไม้ 200 ไร่ เป็นเรื่องมุมมอง ท่านรู้หรือไม่ว่าการตัดต้นไม้ต้นเดียวก็ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย นี่ถ้าหากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบรับรู้ว่ามีการตัดต้นไม้กัน 200 ไร่ จะเป็นข่าวใหญ่ขนาดไหน นี่ยังไม่ถามว่าไม้ทั้งหมดหายไปไหน

นายกสมาคมศิษย์เก่า กล่าวอีกว่า นี่ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างบุคคล แต่นี่คือการตั้งคำถามต่อทิศทางของมหาวิทยาลัย เป็นการตั้งคำถามจากปรากฏการณ์ที่ใหญ่มาก แต่รองอธิการกลับมองว่าเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล และบอกว่าจะวางตัวเป็นกลาง

มีคำถามว่าอะไรคือเป็นกลาง หากพิจารณาจากคำถามของศิษย์เก่า 4 ข้อจะพบว่าไม่มีคำถามใดที่มุ่งหมาย คาดคั้น หรือเอาผิดต่อบุคคล ซึ่งแน่นอนเรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ แต่จุดมุ่งหมายหลักของทางสมาคมฯ คือ คำถามกับระบบ รองอธิการบดีไม่เข้าใจ หรือมีนัยอะไรที่ไม่ยอมเข้าใจ ทางสมาคมฯ เริ่มสงสัยมากขึ้นว่าที่ไม่ยอมตอบคำถามมันมีอะไรอยู่เบื้องหลังกันแน่ ประเด็นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าฝ่ายบริหารลอยตัวอยู่เหนือปัญหา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น