xs
xsm
sm
md
lg

อย่าปล่อยให้ “จนท.รัฐ” สมคบ “นายทุน” ค้าโรฮิงญาข้ามชาติลอยนวล / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
การที่ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลานำกำลังเข้าจับกุม “ชาวโรฮิงญา” หรือ “ชาวอาระกัน” ที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์นำมาหลบซ่อนในสวนยางแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.สำนักแต้ว อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งถือว่าเป็นล็อตมหึมาอีกล็อตหนึ่ง เพราะมีจำนวน 729 คนด้วยกัน
 
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ย.2556 ได้มีหนังสือพิมพ์ต่างประเทศฉบับหนึ่งลงสกู๊ปข่าวเรื่องการค้ามนุษย์คือ ชาวโรฮิงญาในภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีการโฟกัสไปที่ค่ายกักกันชาวโรฮิงญาในพื้นที่ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และมีการระบุว่ามีหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีส่วนในเรื่องของ “ส่วย” การค้ามนุษย์ด้วย
 
และก่อนหน้าเมื่อปลายปี 2545 เจ้าหน้าที่ชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่ถูกนำมากักขังในสวนยาง ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ได้จำนวน 200 กว่าราย และเป็นเหตุให้รัฐบาลสั่งให้มีการปราบปรามการนำโรฮิงญาส่งขายไปยังประเทศที่สามอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้มีการจับกุมชาวโรฮิงญาทั่วภาคใต้ได้กว่า 1,000 คน จนสุดท้ายกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เมื่อรัฐไม่มีที่ควบคุมตัวและไม่สามารถส่งชาวโรฮิงญากลับไปยังรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวโรฮิงญาได้ เพราะรัฐบาลพม่าไม่ยอมรับกลับประเทศ
 
สิ่งที่ติดตามมาในการจับกุมชาวโรฮิงญาคือ หน่วยงานของรัฐไม่มีสถานที่ควบคุมตัวชาวโรฮิงญาเหล่านี้ รวมทั้งต้องหางบประมาณมาเป็นค่าอาหารเพื่อเลี้ยงดูตามมนุษย์ธรรม เพื่อรอประเทศที่สามแสดงความจำนง ในการรับตัวไปอาศัยอยู่ และปรากฏว่าตลอดทั้งปี 2556 ที่ผ่านมามีชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัวตามห้องขังของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และตาม สภ.ต่างๆ มีคดีการแหกห้องขังหลบหนีการควบคุมตัวของโรฮิงญาเกิดขึ้นมากมาย มีเจ้าหน้าที่ได้รับโทษฐานที่ปล่อยให้ผู้ต้องขังแหกห้องขังหลบหนี ทุก สภ.ที่มีการควบคุมตัวชาวโรฮิงญา ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังมีชาวโรฮิงญาชุดแรกตกค้างอยู่ในสถานที่ควบคุมตัวจำนวนหนึ่ง ที่ยัง หลบหนีไม่สำเร็จ
 
โดยข้อเท็จจริงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่ จ.ระนองลงมาจนถึง จ.สงขลา และ จ.นราธิวาส คือเส้นทางในการหลบหนีและซ่อนตัวของชาวโรฮิงญา ซึ่งจะฉวยโอกาสในฤดูทะเลฝั่งอันดามันปลอดคลื่นลมเดินทางโดยทางเรือจากรัฐยะไข่ประเทศพม่า ไปยังประเทศมาเลเซียและประเทศอื่นๆ เพื่อ แสวงหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่าการอยู่ในประเทศพม่าแบบ “ชนเผ่าที่ไร้รัฐ” อันเนื่องจากนโยบายการปกครองของประเทศสาธารณรัฐเมียนมาร์
 
ในอดีตชาวโรฮิงญาก็คือ “เหยื่อ” ของขบวนการค้ามนุษย์ เฉกเช่นเดียวกับในปัจจุบัน เพียงแต่เป็นการค้ามนุษย์ของกลุ่มคนเล็กๆ และราคาของชาวโรฮิงญาไม่แพง ขณะที่ขบวนการค้าชาวโรฮิงญาไม่สลับซับซ้อนเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งเวลานี้การค้าชาวโรฮิงญากลายเป็นขบวนการใหญ่และหลากหลายขบวนการ ผู้ที่อยู่ในขบวนการมีทั้งชาวโรฮิงญาเองและชาวพม่า รวมถึงเอาเยนต์ชาวไทยและนายทุนชาวมาเลเซีย
 
ในขณะเดียวกันมีหน่วยงานของรัฐตั้งแต่หน่วยงานที่รับผิดชอบในน่านน้ำ บนบก ที่มีทั้งแค่เปิด “ไฟเขียว” ให้มีการนำชาวโรฮิงญาไปเป็น “สินค้า” ได้อย่างสะดวก จนถึงการเป็นเอเยนต์ในการ “รับซื้อ” และมียานพาหนะในการขนส่งชาวโรฮิงญาให้กับขบวนการรับซื้อที่ อ.สะเดา จ.สงขลา และที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาสเสียเอง และมูลค่าการ “ซื้อ-ขาย” ชาวโรฮิงญาเพื่อ “ส่งออก” จากปีละไม่กี่ล้านบาทในอดีต จนมาถึงปัจจุบันมีมูลค่าปีละพันล้านบาทขึ้นไป
 
แน่นอนว่ามูลค่าพันกว่าล้านบาทที่เกิดจากการซื้อ-ขายมนุษย์ชาวโรฮิงญา รวมทั้งอื่นๆ ที่ผ่านทางชายแดนด้าน จ.สงขลาและ จ.นราธิวาสนั้น มีหน่วยงานของรัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ “ส่วยการค้ามนุษย์” ที่เริ่มนับตั้งแต่หน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลน่านน้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปล่อยให้รถบรรทุกขนชาวโรฮิงญาสามารถผ่านจุดตรวจได้อย่างสะดวก เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ใช้เป็นสถานที่กักกันชาวโรฮิงญาก่อนการส่งออก ประกอบด้วย ตำรวจท้องที่ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจตระเวนชายแดน ที่มีหน่วยตั้งอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งมี “ข่าว” หนาหูที่สุดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าโรฮิงญามากที่สุด
 
เรื่องการค้ามนุษย์ที่เป็นชาวโรฮิงญานั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่ไฟเขียวให้ขบวนการดำเนินการได้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่จะไม่ล่วงรู้ว่าในพื้นที่มีการนำคนเป็นจำนวนเป็นร้อยเป็นพันมาควบคุมได้ เพื่อการซื้อ-ขายและส่งข้ามแดน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นที่รู้กันทั่วว่า ต.สำนักแต้ว และ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดาคือ แหล่งการค้าชาวโรฮิงญาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ผู้ที่เป็นเอเยนต์หรือนายทุนใหญ่เป็นทั้งผู้นำท้องถิ่นและผู้นำท้องที่ เป็นทั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานแรกที่รับรู้มาโดยตลอดคือ ฝ่ายปกครอง ต่อด้วยตำรวจในพื้นที่ทั้งตำรวจภูธรและตำรวจตระเวนชายแดน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง แต่กลับไม่มีการดำเนินการกับขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้แต่อย่างใด
 
แน่นอน การจับกุมชาวโรฮิงญาเพื่อนำมาคุมขัง ควบคุมตัว เป็นสิ่งที่ก่อปัญหาให้กับภาครัฐ เพราะต้องรับผิดชอบในการหางบประมาณมาเลี้ยงดู ต้องหาสถานที่ใช้ในการควบคุมตัวจนกว่าจะมีการส่งไปยังประเทศที่ 3 เพราะไม่สามารถดำเนินการตามขบวนการหลบหนีเข้าเมืองได้ เนื่องจากรัฐบาลพม่าเห็นว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คนของประเทศพม่า
 
ดังนั้นผู้ที่จับกุมชาวโรฮิงญาจึงมักถูก “ตำหนิ” ว่าเป็นผู้ที่ “โง่แต่ขยัน” และเป็นผู้สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติ
 
แต่การไม่จับกุมนั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องไฟเขียวให้กับขบวนการค้ามนุษย์ดำเนินการได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และสามารถสร้างค่ายกักกันชาวโรฮิงญาทีละ 500 จนถึง 1,000 คนได้อย่างเสรี โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่สนใจที่จะดำเนินการกับขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นธุรกิจผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรมและมนุษย์ธรรมอย่างร้ายแรง ที่เพื่อนมนุษย์ไม่ควรพึงกระทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และผู้รักษากฎหมายเองก็ไม่พึงที่จะให้ขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้ “ลอยนวล” อยู่เหนือกฎหมายบ้านเมือง
 
เจ้าหน้าที่รัฐเลือกที่จะไม่จับกุมชาวโรฮิงญา และเลือกที่จะผลักดันให้คนเหล่านั้นออกจากประเทศของเรา เพื่อเห็นแก่มนุษย์ธรรมก็สามารถทำได้ แต่กับขบวนการค้ามนุษย์นั้น เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนอกพื้นที่และในพื้นที่ต่างไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และรับผลประโยชน์ที่ขบวนการหยิบยื่นให้ ในอนาคตปัญหาการค้ามนุษย์จะหนักหน่วง รุนแรงและเกิดผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง
 
วันนี้ประเทศไทยถูก “ยูเอ็น” กล่าวว่าว่าเป็นแหล่งค้ามนุษย์ที่ถูกจับตามอง และ จ.สงขลาเป็น 1 ใน 6 จังหวัด ที่ถูกระบุว่า เป็นแหล่งค้ามนุษย์  ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องและมีหน้าที่ในการแก้ปัญหาปฏิเสธตลอดเวลาว่าไม่จริง ไม่มี แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ณ วันนี้ก็เท่ากับเป็นการ “ตบหน้า” ผู้ใหญ่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างแรง เพราะที่ผ่านมาแสดงว่ามีการ “โกหกคำโต” ทั้งกับรัฐบาลและประชาชนทั้งประเทศ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น