xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานสตูล หวั่นน้ำในฝายไม่พอ แนะชาวนาลดปริมาณปลูกข้าวนาปรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตูล - ชลประทานสตูล หวั่นน้ำในฝายไม่เพียงพอ เริ่มกักเก็บในการปล่อยน้ำให้การเกษตรทำนาปรัง และสวนเกษตรปลูกผักขาย พร้อมทั้งขอให้ลดปริมาณการปลูกข้าวลงจากเดิม เนื่องจากน้ำจะแห้ง และลดระดับลงอย่างรวดเร็ว เกรงว่าจะไม่มีน้ำปล่อยให้ชาวเกษตรได้ใช้อย่างเพียงพอ

วันนี้ (11 ก.พ.) นายประยูร ภู่งาม หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำสำนักงานชลประทานดุสน กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมการส่งน้ำไปให้ชาวบ้าน และชาวเกษตรกรในการใช้น้ำลดลง เนื่องจากระบบทางการปล่อยน้ำทางฝ่ายคลองดุสนมีปัญหา รวมทั้งสภาพอากาศในขณะนี้ทำให้น้ำลดระดับลงแต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ทางสำนักงานชลประทานดุสน จึงต้องปล่อยน้ำเป็นช่วงๆ โดยปิดซ่อมบำรุง 7 วัน ปล่อยน้ำให้ได้ใช้ในภาคเกษตร 4 วัน และได้ไปขอต่อรองกับชาวเกษตรกรที่ปลูกข้าวทำนาปรังในช่วงหน้าแล้งนี้จากเดิมที่จะปลูกประมาณ 9 ไร่ หรือประมาณ 20 ไร่ ในการที่จะทำนาปรัง และขอให้ลดการปลูกข้าวลง จาก 9 ไร่ เหลือ 5 ไร่ จาก 20 ไร่ เหลือ 10 ไร่ เพราะเกรงว่าในช่วงนี้สภาพอากาศร้อนจัด หวั่นน้ำจะแห้งลดระดับลงอย่างรวดเร็ว จะไม่มีน้ำปล่อยให้ชาวเกษตรได้ใช้อย่างเพียงพอ จึงขอจับตาดูสถานการณ์ภัยแล้ง และน้ำในฝายดุสนช่วงระยะนี้ไว้ก่อน

นายประยูร กล่าวอีกว่า ส่วนที่ทางประปา จ.สตูล ก็ได้ขอน้ำไปใช้ทุกวัน วันละหนึ่งหมื่นคิว หรือหมื่นลูกบาศก์เมตร เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำประปาแจก และปล่อยจ่ายให้ชาวบ้าน รวมทั้งทางเทศบาลแต่ละแห่งมาขอนำไปช่วยเหลือชาวบ้านในช่วงภัยแล้งนี้ ดังนั้น การปล่อยน้ำลงพื้นที่หรือล่องน้ำชลประทานบางจุดที่แห้งไม่มีน้ำ ก็ต้องกักเก็บน้ำไปปล่อยในล่องชลประทานเพื่อให้ไหลผ่านเข้าในพื้นที่ของชาวบ้านเพื่อใช้ในการเกษตร เช่น ตำบลเกตรี ตำบลฉลุง ของอำเภอเมืองสตูล ส่วนฝายดุสน รับผิดชอบอำเภอควนโดน อำเภอเมือง ในการปล่อยน้ำ และพื้นที่อำเภอท่าแพ เกษตรกรส่วนน้อยที่มีการทำแปลงเกษตร และจะใช้น้ำจากคลองท่าแพ ส่วนของอำเภอละงู จะใช้น้ำจากคลองสายละงู และมีเกษตรกรปลูกผักไม่เยอะเท่ากับอำเภอเมือง ส่วนปัญหาภัยแล้ง ทางสำนักงานชลประทานสตูล ได้เกาะติดตลอดเวลา ซึ่งภัยแล้งปี 2557 มาเร็วเริ่มแล้งตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว จนถึงเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่อย่างไรระบบน้ำแจกจ่ายยังไม่ถึงวิกฤตที่จะประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้ง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น