xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาโวยแล้งลามหนัก เชื่อถูกมือดีแย่งสูบน้ำหายหมดคลอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - ชาวนาแปดริ้วโวยอีก หลังแล้งลามหนักต้นข้าวทรุด ลุกลามทั่วหลายพื้นที่ เชื่อถูกมือดีแย่งชิงสูบน้ำจนแห้งเหือดหายหมดคลอง ร้องรัฐบาลช่วยแก้หวั่นหนี้ท่วมต้นทุนสูญ เหตุกู้ยืมเงินมาทำนา ก่อนเจอปัญหาทำขาดทุนย่อยยับ

นายวัชรินทร์ เพชรโสภณ อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 91/1 ม.2 ต.เกาะไร่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรชาวนาที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทำนาข้าวอยู่ในขณะนี้ กล่าวว่า ขณะนี้ชาวนาในพื้นที่ริมคลองแขวงกลั่น ในหลายตำบล เริ่มจาก ต.บางเตย ต.บางกะไห อ.เมือง และ ต.เกาะไร่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กำลังขาดแคลนน้ำทำนาอย่างหนัก จนต้นข้าวกำลังจะแท้ง แห้งตายขณะออกรวง กลายเป็นข้าวลีบทั้งหมดแล้ว หลังจากภัยแล้งได้ลุกลามขยายเพิ่มพื้นที่การขาดแคลนน้ำเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ซึ่งปัจจุบัน ระดับน้ำในคลองเกือบทุกสายที่เชื่อมต่อถึงกันมีสภาพแห้งขอดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จนขณะนี้ชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนอยู่นั้น จึงมีความสงสัยว่าน่าจะมีสาเหตุอื่นมาเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรกรรม หลังจากได้มีโรงงานผลิตไฟฟ้าแห่งหนึ่ง (โรงไฟฟ้านครเนื่องเขต) ได้เข้ามาก่อตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลใกล้เคียง ได้แอบแย่งสูบน้ำจนแห้งหายไปจากลำคลองแบบหมดเกลี้ยงเพื่อนำไปตุนไว้ใช้ในการผลิตไฟฟ้าช่วงหน้าแล้ง

“จึงทำให้ชาวนาในพื้นที่ไม่มีน้ำที่จะนำมาใช้ในการทำนา และใช้ในภาคเกษตรกรรม ทั้งที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวแห่งนี้ได้เคยถูกชาวบ้านในพื้นที่หลายตำบลออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างมาตั้งแต่เริ่มแรกก่อนมีการลงมือก่อสร้าง และเรื่องร้องเรียนดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของศาลปกครอง ประจำภูมิภาคที่ จ.ระยอง แต่เขากลับยังคงแอบทำการผลิตไฟฟ้าออกมาจำหน่ายให้แก่ทาง กฟผ.มาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 56 ที่ผ่านมา จนมาถึงปีนี้จึงส่งผลทำให้เกิดความแห้งแล้งที่ลุกลามมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการแย่งชิงน้ำกันขึ้นระหว่างชาวนา และโรงไฟฟ้า” นายวัชรินทร์ กล่าว

ด้านนางจินดา การคณะวงศ์ อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 37 ม.3 ต.เกาะไร่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ตนทำนาข้าวรวม 34 ไร่ ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดภาวะพื้นที่ทำนาขาดแคลนน้ำมาก่อน เนื่องจากนาข้าวในบริเวณนี้เป็นแหล่งที่ทำกินได้อย่างอุดมสมบูรณ์มาก เพิ่งจะมาประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำขึ้นในปีนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งก็ไม่รู้สาเหตุว่าเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้นในพื้นที่ได้อย่างไร
 
เมื่อตอนปลายปี 2556 ก็ยังมีน้ำเหลืออยู่มาก จนท่วมขังปริ่มท้องนาข้าว จึงหว่านข้าวไม่ได้ เนื่องจากพื้นที่เขตนี้เป็นเส้นทางระบายน้ำจากทางภาคเหนือ ภาคกลางลงสู่ทะเล ชาวนาจึงได้เลื่อนเวลาการหว่านข้าวออกไปให้ล่าช้าขึ้นมาอีกหน่อย โดยรอให้น้ำที่ยังขังอยู่ในท้องนาลดลงมาก่อนแล้วจึงทำการหว่านข้าว แต่พอหว่านข้าวได้แค่เพียง 2 เดือนเศษ (เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย.56) กลับเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้นเลยในทันที

เนื่องจากพอน้ำลดระดับแห้งลงกลับแห้งหายไปอย่างรวดเร็วอย่างน่าแปลกใจ จนไม่มีน้ำเพียงพอที่จะสูบขึ้นมาเพื่อนำไปใช้หล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังจะตั้งท้องออกรวงอยู่ในท้องนา โดยที่ชาวนาก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไรเช่นกันในขณะนี้ เพราะไม่มีน้ำ ตอนนี้จึงทำได้อย่างเดียวคือการรอคอยความหวังจากการช่วยเหลือของรัฐบาล หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ และยังไม่รู้เลยว่าจะต้องรอคอยจนข้าวแห้งตายไปเลยหรือเปล่า และยังไม่รู้ว่าในปีนี้ชาวนาจะต้องประสบปัญหาการขาดทุนไปอีกเท่าไหร่



กำลังโหลดความคิดเห็น