xs
xsm
sm
md
lg

ยะลามอบเงินเยียวยาเหยื่อไฟใต้อีกกว่า 92 ล้าน เหยื่อหวังใต้สงบสุขเป็นของขวัญปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - จ.ยะลา มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 939 ราย เป็นเงินกว่า 92 ล้านบาท เหยื่อเผยสภาพจิตใจดีขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งให้ชายแดนใต้สงบสุขโดยเร็ววันเป็นของขวัญปีใหม่แก่ทุกๆ คน

วันนี้ (24 ธ.ค.) ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีประชาชนทั่วไปที่เสียชีวิต และทุพพลภาพ จังหวัดยะลา ประจำปีงบประมาณ 2557 รวม 939 ราย แยกเป็นเสียชีวิต 828 ราย และทุพลภาพ 111 ราย รวมเป็นเงินเยียวยาจำนวนทั้งสิ้น 92,900,000 บาท

โดยมี นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และเป็นประธานในพิธี นายสามารถ วราดิศัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายวชิระ อัลภาชน์ ปลัดจังหวัดยะลา นายสมเกียรติ ศีรษะเนตร นายอำเภอเมืองยะลา นายชูศักดิ์ นิสโร หัวหน้าศูนย์เยียวยาจังหวัดยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ครอบครัว และผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 500 คน

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ทุกท่านที่ได้รับผลกระทบฯ หากให้เลือกระหว่างเงินกับการได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ คงจะเลือกอย่างหลัง หากแต่ทุกคนต้องยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ในรอบปีนี้หน่วยงานราชการได้ช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรถึงจะดูแลผู้ได้รับผลกระทบฯ ได้ ทางคณะกรรมการเยียวยามีความเห็นว่า ชีวิตคือชีวิต ไม่มีชีวิตใครจะมีค่ามากกว่าใคร ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน จึงได้กำหนดมาตรฐานกลางให้มีการเยียวยากรณีของประชาชน ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ได้รับการเยียวยาเทียบเท่ากับข้าราชการ โดยย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 โดยแบ่งจ่ายปีละ 100,000 บาท

จนมาถึงปีงบประมาณ 2557 นี้ โครงการเยียวยาฯ จึงเป็นโครงการต่อเนื่องที่ทำมานาน เป็นเรื่องของความผูกพัน การก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่เลือกศาสนา ทุกชีวิตย่อมเป็นเหยื่อของความรุนแรงนี้ได้ทุกคน เงินเยียวยาที่ทางรัฐบาลได้มอบให้ไม่อาจจะทดแทนชีวิตที่ได้สูญเสียไป หรือทดแทนความบาดเจ็บทางร่างกายได้ แต่อดีตไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่สามารถลบล้างได้ สิ่งที่ทำได้คือ การแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้ง การมอบเงินจึงเป็นทางหนึ่งที่ช่วยแสดงให้เห็นถึงการดูแล ห่วงใย และให้กำลังให้ผู้ได้รับผลกระทบมีกำลังในการใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเหมาะสม ไม่เป็นภาระต่อสังคม อยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันด้วย และอยากเห็นผู้ได้รับผลกระทบฯ ได้มีการรวมกลุ่ม รวมตัวกันเพื่อจะได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน พูดคุยกัน เพราะการเยียวยาจิตใจทางหนึ่งคือ การได้พูดคุย ได้มีเพื่อน ทางหน่วยงานภาครัฐเองก็จะได้จัดโครงการต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้รับการบริการจากภาครัฐได้อย่างทั่วถึง สุดท้ายนี้เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ที่จะมาถึง ขอให้ทุกท่านสุขภาพแข็งแรงทั้งกาย และใจ แคล้วคลาดจากสิ่งชั่วร้ายที่ได้ผ่านพ้นไป มีความสุขความเจริญต่อไป

นางวัลภา ปิ่นชัย หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2550 ได้ขับรถจักรยานยนต์ไปส่งลูกสาวไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติศรีนครินทร์ ตำบลบุดี จังหวัดยะลา โดนคนร้ายประกบยิง ทำให้ลูกสาวเสียชีวิต และตนเองได้รับบาดเจ็บสาหัสบริเวณกระดูกสันหลังทำให้เดินไม่ได้ แต่ตอนนี้สภาพจิตใจได้ดีขึ้นมากแล้ว ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากทาง ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี หวังให้เหตุการณ์สงบสุขโดยเร็ววัน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ทุกๆ คน



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น