ศูนย์ข่าวภูเก็ต - โรงพยาบาลศูนย์วชิระภูเก็ต จัดประชุมวิชาการด้านการดูแลบาดแผล เรื่อง Update Wound Care management พร้อมแถลงข่าวการจัดตั้งศูนย์ดูแลบาดแผล โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน และพัฒนาคุณภาพการดูแลแผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่โรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำของภาคใต้ฝั่งตะวันตก
เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (13 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 6 อาคารบ้านคุณพุ่ม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นายแพทย์เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์วชิระภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการด้านการดูแลบาดแผล เรื่อง Update Wound Care management ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพด้านวิชาการ กลุ่มภารกิจด้านการพยาบาล โรงพยาบาลศูนย์วชิระภูเก็ต จัดขึ้น เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย พยาบาลจากโรงพยาบาลศูนย์วชิระภูเก็ต โรงพยาบาลถลาง โรงพยาบาลป่าตอง โรงพยาบาล อบจ. โรงพยาบาลพังงา โรงพยาบาลกระบี่ และจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดภูเก็ต ได้พัฒนาความรู้ในการดูแลผู้ป่วยบาดแผล และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดูแลบาดแผลแก่ผู้ป่วย
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การประชุมวิชาการฯ นิทรรศการเกี่ยวกับแผลต่างๆ มากมาย เช่น แผลเบาหวาน แผลไฟไหม้-น้ำร้อนลวก แผลหลอดเลือดดำ แผลกดทับ เป็นต้น บูทเวชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ในรูปแบบต่างๆ กัน ทำให้เหมาะสมกับแผลในแต่ละลักษณะ และชนิดของแผล
นอกจากนี้ ภายหลังเปิดการประชุมดังกล่าว นายแพทย์เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์วชิระภูเก็ต พร้อมด้วยนายแพทย์วินิจ สุวรรณรัฐภูมิ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม นายแพทย์บัณฑิต วรรณศุภผล หัวหน้าศูนย์ดูแลบาดแผล และ ดร.ยุวดี เกตุสัมพันธ์ ประธานชมรมออสโตมีและแผล โรงพยาบาลศิริราช ร่วมแถลงข่าวการเปิดศูนย์ดูแลบาดแผลของโรงพยาบาลศูนย์วชิระภูเก็ต โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยที่มีแผลในโรงพยาบาลทุกระดับ และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ
นายแพทย์เจษฎา กล่าวว่า แผลเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย พบได้ทั้งในโรงพยาบาล บ้าน และชุมชน มีการคาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลเนื่องจากมีแผลมากกว่าร้อยละ 50 เป็นทั้งแผลเฉียบพลัน และแผลเรื้อรัง ต้องรับการรักษานาน หายจากโรคที่เป็นอยู่ช้า บางรายต้องสูญเสียอวัยวะ อีกทั้งมีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะการติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การจัดตั้งศูนย์ดูแลบาดแผลขึ้นมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน และพัฒนาคุณภาพการดูแลแผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่โรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำของภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ด้านนายแพทย์วินิจ กล่าวถึงกระบวนการหายของแผล และการดูแลแผลที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจกระบวนการของแผล และการดูแลแผลที่ถูกต้องเหมาะสมกับแผลแต่ละชนิด เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการหายของแผล ศูนย์ดูแลบาดแผลจึงประกอบด้วยทีมแพทย์ พยาบาล และทีมสหวิชาชีพที่มีความชำนาญ อีกทั้งทีมสุขภาพทั้งภายในโรงพยาบาล และชุมชนร่วมกันดูแลผู้ป่วย
ขณะที่ในส่วนของการดูแลบาดแผลเรื้อรังต่างๆ นายแพทย์บัณฑิต กล่าวว่า ในอดีตแผลเรื้อรังต่างๆ นับตั้งแต่แผลในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งต้องใช้เวลารักษานาน และเมื่อเป็นแล้วแก้ไขได้ยาก ทำให้ผู้ป่วยบางรายต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนไป เช่น ถูกตัดเท้า หรือขา ยิ่งไปกว่านั้นเรายังพบแผลเรื้อรังที่รักษายากอีกกลุ่มหนึ่งคือ แผลที่ขา หรือเท้าของผู้ป่วยโรคของหลอดเลือด และแผลที่เกิดจากการกดทับ ปัจจุบันการดูแลแผลในผู้ป่วยเหล่านี้ได้เปลี่ยนไป แผลที่ไม่เคยหายก็หายได้ ระยะเวลาหายก็สั้นลง ทั้งนี้ เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการ และมีเครื่องมือและผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ที่ทันสมัย ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีแผลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ในปี 2557 เราตั้งเป้าว่าจะวนไปให้ความรู้ในหน่วยงานในองค์กรเพื่อพัฒนาบุคลากรของโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในการดูแลบาดแผล หลังจากนั้น เราจะจัดหน่วยออกไปให้ความรู้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต่างๆ ทั้งหมด เพื่อให้สามารถดูแลบาดแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ส่วนทางด้าน ดร.ยุวดี กล่าวว่า ปัจจุบันความรู้เรื่องการดูแลแผลมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งด้านกลไกการเกิดแผล การประเมินแผล การใช้เครื่องมือต่างๆ เกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยง การป้องกันและการรักษาแผล ทั้งแผลระยะเริ่มต้น และแผลที่มีระดับความรุนแรงสูง ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องติดตามให้ทันต่อข้อมูลทางวิชาการที่ก้าวหน้า และทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย