xs
xsm
sm
md
lg

12 วิธีดูแลสุขภาพเท้าก่อนถูกตัดขาจาก “เบาหวาน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญหาที่น่ากลัวของผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการเป็นแผลที่เท้า เพราะหากไม่ดูแลให้ดีอาจสูญเสียขาและเสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยเบาหวานก็มีแนวโน้มการถูกตัดขาเพิ่มขึ้นจากการเป็นแผลที่เท้า จากข้อมูลของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พบว่า ทุก 1 ปี มีผู้ป่วยเบาหวานถูกตัดเท้าถึง 1 ล้านเท้า

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เพราะ 1.การเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลายซึ่งรับความรู้สึก ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดเมื่อเหยียบวัตถุมีคม หรือโดนวัตถุที่มีอุณหภูมิสูงหรือการกดรัดที่เท้า จึงเกิดแผลโดยไม่รู้ตัว 2.โรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน ทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดมาเลี้ยง เกิดเนื้อตาย หรือเมื่อเกิดแผลจากเหตุใดก็ตาม แผลจะหายยาก 3.การติดเชื้อง่าย เมื่อควบคุมเบาหวานไม่ดี ระดับน้ำตาลสูง จะทำให้ความสามารถของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อโรคลดลง ทำให้เชื้อโรคลุกลาม และ 4.ภาวะเส้นประสาทอัตโนมัติเสื่อม ทำให้ไม่มีเหงื่อออกผิวหนังบริเวณส่วนขาจึงแห้ง คัน หากเกาอาจมีแผลแตกและติดเชื้อได้ง่าย

เมื่อผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผลที่เท้า แผลจึงมักหายยากและเรื้อรัง ลุกลามได้ง่าย จึงเป็นต้นเหตุในการตัดขา ซึ่งพบสูงถึง 15-40 เท่าของผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน

อย่างไรก็ตาม หากมีการดูแลสุขภาพเท้าเป็นอย่างดี มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดแผลที่เท้า และลดอัตราการตัดขาได้ถึง 44-85% ซึ่งวิธีการปฏิบัติดูแลเท้าของผู้ป่วยเบาหวานสามารถทำได้ 12 ข้อ ดังนี้

1.ล้างเท้าด้วยน้ำธรรมดาและสบู่ที่มีฤทธิ์อ่อนทุกวันตอนเช้าและก่อนนอน ไม่ควรใช้แปรงหรือขนแข็งขัดเท้า ไม่จำเป็นต้องแช่เท้า ถ้าต้องการทำอาจใช้น้ำอุ่นน้อยๆ สามารถทดสอบได้โดยใช้มือ ข้อศอก หรือเทอร์โมมิเตอร์วัดเพื่อมิให้น้ำร้อนจนเกินไปจนทำให้ผิวหนังพองและเป็นแผล แต่ไม่ควรแช่นานเกิน 5 นาที หลังจากนั้นซับทุกส่วนโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าให้แห้งด้วยผ้าขนหนู

2.สำรวจเท้าด้วยตนเองทุกวันในสถานที่มีแสงสว่างเพียงพอว่ามีแผล รอยช้ำ ผิวเปลี่ยนสี หรือเม็ดพองหรือไม่ โดยตรวจทั่วทั้งฝ่าเท้า ส้นเท้า ซอกระหว่างนิ้วเท้า และรอบเล็บเท้า เมื่อพบความผิดปกติควรพบแพทย์

3.ควรใช้กระจกส่องในการตรวจฝ่าเท้าถ้าไม่สามารถก้มเท้าดูด้วยตนเอง หรืออาจขอให้ญาติช่วยสำรวจเท้า

4.ทาครีมหรือโลชั่นถ้าผิวแห้ง เพื่อป้องกันการเกิดรอยแตก ทาบางๆ โดยเว้นบริเวณซอกนิ้วเท้าและรอบเล็บเท้า ถ้าผิวหนังมีเหงื่อมากควรใช้แป้งฝุ่นหรือผงโรยเท้า

5.สวมรองเท้าตลอดเวลา ทั้งในและนอกบ้าน ไม่ควรเดินเท้าเปล่า

6.สวมรองเท้าขนาดพอดี ไม่คับหรือหลวมเกินไป วัสดุที่ทำควรมีลักษณะนิ่ม ไม่ใส่รองเท้าส้นสูง ก่อนใส่รองเท้าควรตรวจดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในรองเท้าหรือไม่ เช่น หิน กรวด ทราย เพราะเท้าที่ชาจะไม่รู้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ เมื่อซื้อรองเท้าคู่ใม่ควรใส่เพียงวันละ 30 นาที - 1 ชั่วโมง ก่อนประมาณ 3-5 วัน และการเลือกซื้อรองเท้าควรทำในช่วงตอนบ่าย ซึ่งเป็นเวลาที่เท้าขยายขนาดกว่าตอนเช้า

7.ควรใส่ถุงเท้าด้วยทุกครั้ง โดยใช้ถุงเท้าที่ทำด้วยผ้าฝ้ายนุ่ม ไม่ควรใช้ไนล่อนหรือถุงเท้าที่รัดมาก และถุงเท้าที่ใส่ไม่ควรให้มีรอยย่นในรองเท้า หลีกเลี่ยงถุงเท้าที่ยาวสูงถึงน่องหรือมียางยืดที่รัดแน่นอยู่ขอบบน เพราะจะทำให้การไหลเวียนของเลือดที่มาเลี้ยงเท้าไม่สะดวก และต้องเปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน

8.หลังอาบน้ำอาจใช้หินขัดเท้าถูเบาๆ ที่แคลลัส (ผิวหนังที่หนาขึ้นจนแข็ง) เพื่อลดการหนาตัว ห้ามใช้สารเคมีที่ซื้อตามร้านทั่วไปเพื่อลอกตาปลาหรือจี้หูด เนื่องจากสารพวกนี้จะระคายเคืองผิวหนังมากไป ห้ามตัดตาปลาหรือหูดเองด้วยมีดโกน

9.การตัดเล็บ ให้ตัดหลังอาบน้ำใหม่ๆ เพราะเล็บเท้าจะนิ่มขึ้น ทำให้ตัดง่าย ถ้าสายตามองเห็นไม่ชัดควรให้ผู้อื่นช่วยตัดเล็บให้ เล็บเท้าที่หนาและผิดปกติควรได้รับการตะไบและตัดแต่งให้เรียบร้อย

10.เมื่อมีบาดแผล ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล ห้ามใช้ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ถ้าแผลมีการอักเสบสังเกตได้จากมีอาการปวดบวม แดงมากขึ้น มีหนองที่แผล ต้องรีบปรึกษาแพทย์

11.งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากมีผลให้หลอดเลือดตีบแข็ง อาจขาดเลือดมาเลี้ยงทำให้เกิดแผลจากเนื้อตาย หรือถ้ามีแผลติดเชื้อทำให้เม็ดเลือดขาวเข้ามากินเชื้อได้น้อย การหายช้า ทำให้แผลลาม

และ 12.การบริหารเท้าทุกวัน ช่วยทำให้การหมุนเวียนของเลือดที่เท้าดีขึ้น โดยบริหารดังนี้

บริหารขาในท่าแกว่งเท้า ให้ยืนเกาะขอบโต๊ะ แกว่งเท้าไปมา ไม่งอขาขณะแกว่งในด้านหน้า ให้เกร็งยกขาสูงขึ้นจากส้นนับ 1-10 แล้วจึงแกว่งไปด้านหลัง ทำทีละข้างๆ ละ 10 ครั้ง

บริหารน่อง นั่งเก้าอี้หลังตรง ยกปลายเท้าสูงจากพื้น 1 ฟุต เกร็งปลายเท้าให้ชี้เข้าหาตัว ส้นเท้าเหยียดออกจนรู้สึกน่องตึง นับ 1-10 แล้วคลายกล้ามเนื้อที่น่องทำ 10 ครั้งสลับข้าง

เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานมีสุขภาพเท้าที่ดี และห่างไกลปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เกิดแผลที่เท้าและไม่ลุกลามจนต้องถูกตัดขาในที่สุด
 


12 วิธีดูแลสุขภาพเท้าก่อนถูกตัดขาจาก "เบาหวาน"
12 วิธีดูแลสุขภาพเท้าก่อนถูกตัดขาจาก "เบาหวาน"
ปัญหาที่น่ากลัวของผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการเป็นแผลที่เท้า เพราะหากไม่ดูแลให้ดีอาจสูญเสียขาและเสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยเบาหวานก็มีแนวโน้มการถูกตัดขาเพิ่มขึ้นจากการเป็นแผลที่เท้า จากข้อมูลของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พบว่า ทุก 1 ปี มีผู้ป่วยเบาหวานถูกตัดเท้าถึง 1 ล้านเท้า สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เพราะ 1.การเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลายซึ่งรับความรู้สึก ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดเมื่อเหยียบวัตถุมีคม หรือโดนวัตถุที่มีอุณหภูมิสูงหรือการกดรัดที่เท้า จึงเกิดแผลโดยไม่รู้ตัว 2.โรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน ทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดมาเลี้ยง เกิดเนื้อตาย หรือเมื่อเกิดแผลจากเหตุใดก็ตาม แผลจะหายยาก 3.การติดเชื้อง่าย เมื่อควบคุมเบาหวานไม่ดี ระดับน้ำตาลสูง จะทำให้ความสามารถของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อโรคลดลง ทำให้เชื้อโรคลุกลาม และ 4 ภาวะเส้นประสาทอัตโนมัติเสื่อม ทำให้ไม่มีเหงื่อออกผิวหนังบริเวณส่วนขาจึงแห้ง คัน หากเกาอาจมีแผลแตกและติดเชื้อได้ง่าย เมื่อผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผลที่เท้า แผลจึงมักหายยากและเรื้อรัง ลุกลามได้ง่าย จึงเป็นต้นเหตุในการตัดขา ซึ่งพบสูงถึง 15-40 เท่าของผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน
กำลังโหลดความคิดเห็น