xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นแล้ว “ขาเดร์ แวเด็ง” ศิลปินแห่งชาติดนตรีพื้นบ้านภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สิ้นแล้ว “ขาเดร์ แวเด็ง” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ปี 2536 เสียชีวิตที่โรงพยาบาลปัตตานี เนื่องจากติดเชื้อในกระแสโลหิต หลังป่วยรักษาตัวที่ รพ. ร่วมเดือน หมอต้องใช้เครื่องช่วยหายใจยื้อชีวิต จนกระทั่งวันนี้เวลา 13.45 น. เสียชีวิตด้วยวัย 82 ปี

“ขาเดร์ แวเด็ง” ชื่อที่รู้จักกันทั่วไปก่อนที่จะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฏในบัตรประชาชนด้วย คือชื่อ แวกาเดร์ แวเด็ง ส่วนชื่อในฐานะศิลปินแห่งชาติ คือ ขาเดร์ แวเด็ง ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2536 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) นายขาเดร์ แวเด็ง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2474 ที่ปัตตานี โดยได้เติบโตที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีอาชีพหลักเป็นช่างทอง ออกแบบทำทองรูปพรรณต่างๆ ชำนาญการทำแหวนมากเป็นพิเศษ โดยได้เรียนวิธีการทำแหวนจาก “ครูเจาะสาแม” ที่อำเภอรามัน เมื่อตอนอายุประมาณ 18 ปี (ก่อนหน้านั้นเป็นช่างทำตัวถังรถยนต์)

นายขาเดร์ แวเด็ง ได้สมรสเมื่ออายุได้ 29 ปี มีบุตรชาย 2 คน ธิดา 3 คน ปัจจุบันอยู่กับครอบครัวที่บ้านเลขที่ 240/1 หมู่ 1 ถนนรามโกมุท ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ฝึกการเล่นดนตรีโดยวิธีจดจำจากนักดนตรีรุ่นพี่ตั้งแต่เด็กๆ เครื่องดนตรีที่ชอบเป็นพิเศษ คือ ไวโอลิน นอกจากนั้น ยังเล่นแมนโดลิน รำมะนาเล็ก รำมะนาใหญ่ มาราคัส (ลูกแซ็ก) และฆ้อง รวมถึงแอคคอเดี้ยนได้ดีอีกด้วยเช่นกัน

เพลงรองเง็งที่ไพเราะเป็นที่ถูกใจของคนดูอย่างยิ่ง ต้องเป็นเพลงรองเง็งจากวง “เด็นดงอัสลี” ที่มีแวกาเดร์ หรือขาเดร์ แวเด็ง เป็นเจ้าของวง ลูกวงของขาเดร์ แวเด็ง มีหลายคน เช่น เซ็ง อาบู เล่นแมนโดลิน สะแปอิง ตาเยะ ตีฆ้อง แวสะมะแอ แวดาโอ๊ะ ตีกลอง มะยูโซะ เจ๊ะโนะ ตีกลองเล็ก สะมาแอ มามะ เล่นมาราคัส

นายขาเดร์ แวเด็ง มีชื่อเสียงจากการเล่นดนตรีสำหรับรองเง็งที่มี 14 เพลง คือ เพลงลาฆูดูวอ เพลงเลนัง เพลงปูโจ๊ะปีซัง เพลงเมาะอินังลามา เพลงจินตาซายัง เพลงเมาะอินังยาวอ เพลงอาเนาะดีดิ๊ เพลงบุหงารำไป เพลงมาสแมเราะห์ เพลงซัมเป็ง เพลงโยเก็ตรองเง็ง เพลงซำมาริซำ เพลงปุราคำเปา เพลงแกแนะอูแด

“ขาเดร์ แวเด็ง” ภูมิใจมากที่มีโอกาสได้บรรเลงดนตรีรองเง็งถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ นอกจากนี้ ยังเคยพาลูกวงไปบรรเลงที่ประเทศมาเลเซียมาแล้ว ซึ่งทางมาเลเซียเคยเสนอให้ขาเดร์ แวเด็ง สอนไวโอลินที่รัฐยะโฮร์ เมื่อ พ.ศ.2512 โดยให้เงินเดือนสูง แต่ขาเดร์ แวเด็ง พอใจที่จะอยู่เมืองไทยมากกว่า ซึ่งการแสดงที่เมืองไทยตามงานพิธีต่างๆ ทางภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน หรืองานเข้าสุหนัต รวมทั้งงานเลี้ยงทั่วไปนั้นเดิมไม่มีค่าตอบแทนเป็นเงินค่าจ้าง อย่างดีก็ได้กินข้าวในงานเลี้ยงนั้น นานๆ ครั้งจึงจะมีเจ้าภาพบางคนเอาเงินใส่ซองให้บ้าง

ขาเดร์ แวเด็ง บอกว่าชอบเล่น เมื่อมีคนมาเชิญไปเล่นท่านมักจะไปเสมอ ตอนหลังเมื่อตั้งเป็นวงดนตรีหลังจากได้เป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว จึงได้ค่าตอบแทนจากการแสดงบ้าง และยังมีเงินเดือนในฐานะศิลปินแห่งชาติด้วย ก่อนได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ขาเดร์ แวเด็ง เคยได้รางวัลประกาศเกียรติคุณ “ผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ประจำปี 2535” และปีเดียวกันนี้ ได้รับรางวัล “ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงดนตรีสากล (ไวโอลิน)” จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

รางวัลเกียรติยศสูงสุดที่เป็นความภาคภูมิใจของ นายขาเดร์ แวเด็ง คือ การได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2536 สาขาศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้าน เป็นการสร้างชื่อเสียงแก่จังหวัดปัตตานีที่เป็นถิ่นกำเนิดของขาเดร์ แวเด็ง ด้วย

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น