xs
xsm
sm
md
lg

“พลวัต” ประชาธิปไตยที่กำลังพัฒนาไปมากกว่าพิธีกรรมกาบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
โดย...นักข่าวชายขอบ
 
 
เคลื่อนไหวตัวเองอยู่ในสนามข่าวมาแรมเดือน จนไม่มีเวลาที่พอจะคิดอ่านผ่านตัวหนังสือมากนัก หลังจากขบวนการประชาชนเปิดพื้นที่เคลื่อนไหวในเมืองกรุง “นักข่าวชายขอบ” ในรัฐชายขอบของคนข่าว จึงพอมีเวลากลับมาเป็นของตัวเองมากขึ้น
 
หากไม่คิดอ่านตามขบวนการประชาชนเรือนแสน เรือนล้าน ที่ปรากฏกายอยู่บนท้องถนนราชดำเนินอย่างมีอารยะ ไร้การคุกคามข่มขู่ และไล่ฆ่าผู้ที่เห็นต่าง หรือการแสดงออกในทางการยั่วยุ รุกเร้า ปลุกระดมให้เกิดความรุนแรงเช่นเมื่อ 3 ปีก่อน
 
จึงเป็นนัยสำคัญที่ต้องคิดอ่านพิจารณาตามอย่างแยบคายรอบคอบถึงกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศนี้ 
 
นักการเมืองผู้กุมอำนาจรัฐคงลืมไปเป็นแน่แท้ แท้จริงแล้วประเทศไทยปกครองด้วย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” แม้ว่าตลอดระยะเวลา 81 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยไม่ได้อยู่บนเส้นทางที่ราบเรียบ หรือผลิใบได้เต็มใบนัก
 
หลักการสำคัญของระบอบนี้ “อำนาจอธิปไตย” คือ การถ่วงดุลอำนาจของ 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ
 
แต่กระบวนการนี้ได้ถูกบิดเบือนไปเสียสิ้น ด้วยอ้างอำนาจเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง จะทำสิ่งก็ได้สุดแล้วแต่เสียงข้างมากจะพาไป โดยลืมถึงหลักอธิปไตยที่สำคัญ
 
เมื่ออำนาจตุลาการได้ปฏิบัติตามอำนาจการถ่วงดุลให้เกิดดุลยภาพแห่งอธิปไตยในบ้านเมืองนี้ นับแต่หัวยันหางของรัฐบาลกลับบิดเบี้ยวหลักการสำคัญนี้ไป สร้างความขุ่นแค้นให้แก่มวลชนของตัวเองที่ไม่รู้ ไม่รับข้อมูลที่ถูกต้อง ด้วยข้อหาต่างๆ นานาที่สาดใส่อำนาจตุลาการ
 
ขบวนการประชาชนจึงเริ่มต้นขึ้น แม้ว่าจะก่อเกิดขึ้นจากสมาชิกพรรคการเมืองก็ตามที แต่นัยสำคัญคือ การพัฒนาประชาธิปไตยแบบยุคสมัยใหม่ที่เป็น “พลวัต” ครั้งสำคัญของประเทศนี้
 
นั่นคือ ประชาธิปไตยที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคประชาสังคม หรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
 
อำนาจจากเสียงข้างมากไม่ใช่เป็นสิ่งที่ชอบธรรมถูกต้องเสมอไป หากเมื่อรัฐใช้อำนาจนั้นไปในทางตรงกันข้าม ภาคประชาสังคมในนามองค์กรต่างๆ ทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ แพทย์พยาบาล หรือรัฐวิสาหกิจ นักธุรกิจต่างๆ ในประเทศนี้ได้ออกมาขับเคลื่อนต่อต้านการใช้อำนาจเพื่อตัวเองและพวกพ้องของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
ไม่ต่างอะไรกับบริษัทในเครือที่ต้องแสวงหาผลประโยชน์เพื่อบริษัทตัวเอง และพวกพ้อง โดยมีประธานบริษัทเป็นผู้บงการอยู่ต่างแดน
 
บทเรียนครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวันนี้ หาใช่การชุมนุมล้มล้างรัฐบาลเพียงอย่างเดียวไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความชอบธรรมของกระบวนการภาคพลเมือง ที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในการควบคุมอำนาจรัฐให้อยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น
 
แม้คนที่ถืออำนาจรัฐจะอ้างข้างๆ คูๆ ตรรกะเบี้ยวบิด ผิดเพี้ยน ทำนองว่ารัฐบาลคือ ความชอบธรรมจากเสียงข้างมาก ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนส่วนใหญ่ และยังปราศจากความรับผิดชอบชั่วดี
 
ท่ามกลางประชาชนต่างจับได้ไล่ทันถึงความชั่วช้า ล้มเหลว วันนี้ภาคประชาสังคมได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การกากบาตรลงบนบัตรเลือกตั้งเป็นเพียงแค่พิธีกรรมหนึ่งเท่านั้น
 
ไม่มีบัตรเลือกตั้งใบไหนที่อนุญาตให้ชั่วช้า ขี้ฉ้อ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
 
แต่คุณูปการแห่งความชั่วของรัฐบาลนี้ ได้สร้างพลวัตความเข้มแข็งให้สังคมไทยได้อย่างเหลือเชื่อในขบวนการภาคประชาสังคม ส่วน ส.ส.และ ส.ว.ทั้ง 312 คนจะให้มีการประหาร 7 ชั่วโคตรคงก็ไม่พอกระมัง.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น