xs
xsm
sm
md
lg

อปท.วอนรัฐทุ่มงบแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก 5 ตำบลเมืองตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วอนภาครัฐหันมาสนใจแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากใน จ. ตรัง โดยเฉพาะ 4-5 ตำบล ของ อ.เมือง ด้วยการสนับสนุนงบงบประมาณดำเนินโครงการต่างๆ ตามที่ได้เสนอไป

วันนี้ (6 ธ.ค.) นายสมนึก เพชรฤทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาท่ามใต้ อ.เมืองตรัง กล่าวว่า ต.นาท่ามใต้ ถือเป็นหนึ่งใน 4-5 ต.ของ อ.เมืองตรัง ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมแต่ละครั้งเป็นระยะเวลายาวนานไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ จนสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือน ทรัพย์สิน และพื้นที่ทางการเกษตร รวมรัฐบาลยังต้องหางบประมาณมาเยียวยาคิดเป็นมูลค่า 10-20 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปแค่ครั้งคราวเท่านั้น แต่เมื่อใดที่เกิดฝนตกหนักก็จะกลับมาเกิดน้ำท่วมอีกครั้ง

แม้ว่าที่ผ่านมา อบต.นาท่ามใต้ และสำนักชลประทานที่ 11 จะร่วมกันผลักดันโครงการแก้มลิงมาเพื่อดำเนินการในปี 2557-2558 ด้วยงบประมาณ 70 ล้านบาท ในเนื้อที่ 287 ไร่ เพื่อช่วยระบายน้ำฝนที่ไหลบ่าจากต้นแม่น้ำตรัง ใน อ.ทุ่งสง จ.นนครศรีธรรมราช มาสู่ อ.รัษฎา อ.ห้วยยอด และ อ.เมืองตรัง ก่อนไหลลงสู่ทะเลอันดามัน เพราะจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมใน ต.นาท่ามใต้ และพื้นที่ใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี แต่กลับไม่ได้รับการพิจารณาจากทางรัฐบาล ทั้งๆ ที่ได้พยายามผลักดันมาตั้งแต่เมื่อปี 2552

นายสมบัติ ผลประยูร นายก อบต.หนองตรุด กล่าวว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนในพื้นที่ก็คือ การเสริมพนังกั้นแม่น้ำตรังให้มั่นคงแข็งแรงมากขึ้น เนื่องจากเดิมจะเป็นแค่คันดิน เมื่อถูกกระแสน้ำแรงๆ กัดเซาะจึงพังทลายลงได้โดยง่าย แต่หากเปลี่ยนมาเป็นคันคอนกรีตก็จะช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ รวมทั้งปรับปรุงผิวจราจรบนพนังกั้นน้ำให้เป็นคอนกรีต เพื่อให้รถสามารถวิ่งสัญจรไปมาได้โดยสะดวก เพราะหากถูกน้ำท่วมก็จะสร้างความเดือดร้อนให้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักเข้าออกระหว่างตำบล

นอกจากนั้น อบต.หนองตรุด และสำนักชลประทานที่ 11 ยังร่วมกันผลักดันโครงการขุดคลองเพื่อช่วยระบายน้ำจากพื้นที่หมู่ที่ 1 และ 3 ต.หนองตรุด ออกไปทาง ต.บางรัก ต.นาโต๊ะหมิง เพื่อลงสู่คลองช้าง และไหลออกสู่ทะเลอันดามันด้วยความรวดเร็ว เนื่องจากตรงจุดดังกล่าวเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งมักจะมีน้ำท่วมอยู่ยาวนานหลายวัน โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ แต่ไม่รู้ว่าโครงการนี้จะสามารถดำเนินการได้เมื่อไหร่ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูงมากนับพันๆ ล้านบาท
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น