พิษณุโลก - ทหารเกณฑ์ช่วยน้ำท่วม เจอโรคน้ำกัดเท้ากันระนาว ผู้ว่าฯ สองแควคนใหม่ฟิต ออกตรวจน้ำท่วมบางกระทุ่ม-วังทอง ลั่นขอคุยชลประทานทำแผนยั่งยืน ดีกว่าสร้างพนังกั้นน้ำ
วันนี้ (2 ต.ค.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอบางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก พร้อมอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) นำยาสามัญประจำบ้านกว่า 400 ชุด ออกแจกจ่ายให้กับประชาชน และทหารที่กำลังช่วยกันอุดพนังกั้นน้ำแม่น้ำวังทอง บริเวณหมู่ 10 บ้านไร่ ต.เนินกุ่ม ที่พังเพิ่มขึ้นอีก 1 จุด ยาวกว่า 10 เมตร
โดยพาะกำลังพลทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ที่ต้องยืนแช่น้ำประคองเรือขนย้ายสิ่งของช่วยชาวบ้านกันทั้งวัน ทำให้เป็นโรคน้ำกัดเท้ากันหลายสิบนาย ทั้งยังเสี่ยงที่จะเป็นโรคฉี่หนูอีกด้วย
ทั้งนี้ เหตุน้ำท่วมในหลายอำเภอของ จ.พิษณุโลก มาจากน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ กับแม่น้ำวังทอง เอ่อล้นตลิ่งเริ่มตั้งแต่ ต.วังพิกุล ไหลลงมารวมที่ ต.เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม ก่อนกระจายเข้าเขต จ.พิจิตร
ขณะที่นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ที่เพิ่งมารับตำแหน่ง ได้เดินทางไปตรวจพื้นที่น้ำท่วมที่ ต.เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม เมอบถุงยังชีพ 400 ชุดให้กับประชาชนหมู่ 1, 3, 4, 5, 7 และ 10
นายระพีกล่าวว่า ชาวบ้านอยากให้ทำพนังป้องกันน้ำท่วม ซึ่งถ้าจะให้ทำก็ทำได้ แต่ตนเชื่อว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถาวร เดี๋ยวก็พังอีกเพราะไม่มั่นคง หากจะแก้ปัญหาแบบยั่งยืนก็ต้องมีเครื่องจักรก่อสร้างอย่างถาวร ซึ่งตนเดินทางมาครั้งนี้เพื่อตรวจดูการทำงานของทหารว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ และทราบว่าบริเวณน้ำท่วมนั้น ชลประทานจังหวัดพิษณุโลกมีแผนงานแก้ปัญหาที่ยั่งยืนแล้ว โดยจะมีการประชาพิจารณ์ในเร็วๆ นี้ ดังนั้นจะขอพูดคุยกับหัวหน้าชลประทานก่อน
นอกจากนี้ นายระพียังเดินทางไปที่หมู่ 14 บ้านวังฉำฉา ต.วังพิกุล อ.วังทอง ที่กำลังพลจากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 กำลังร่วมกับชาวบ้านนำทรายมาใส่กระสอบกั้นน้ำที่ไหลสู่หมู่ 14 หมู่ 2 และหมู่ 8 ต.วังพิกุล อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดระดับน้ำได้ลดลงแล้ว แต่ด้วยความแรงของกระแสน้ำก่อนหน้านี้ทำให้ถนนบ้านดงพลวง ม.7 ต.วังพิกุล ที่เชื่อมกับ ต.หนองพระ อ.วังทอง และชาวบ้านใช้สัญจรประจำ ถูกพัดพังเสียหาย ชาวบ้านต้องช่วยกันทำสะพานไม้ชั่วคราวมาสร้างขึ้นเพื่อสัญจรเป็นการชั่วคราวแทน
ด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก รายงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมว่า จ.พิษณุโลก ประสบปัญหาน้ำท่วม 8 อำเภอ จาก 9 อำเภอ รวม 39 ตำบล 164 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 4,805 ครัวเรือน ไร่นาเสียหาย 31,381 ไร่ ล่าสุดสถานการณ์เคลี่ยคลายแล้ว 1 อำเภอ อีก 7 อำเภอยังคงประสบอุทักภัยอยู่ และยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ เนื่องจากระยะนี้ยังคงได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน