รองโฆษกกองทัพบก เผย ผบ.ทบ. ส่ง 860 ทหารพร้อมรถ-เรือช่วยน้ำท่วม นายกฯ สั่งช่วยพม่า ทบ.จัดเรือช่วยชาวเมียวดี ด้านอธิบดี ปภ. เผยสถานการณ์น้ำท่วม 7 จังหวัดยังน่าห่วง ประชาชนเดือดร้อนจำนวนมาก สั่งเร่งสูบน้ำ-แจกถุงยังชีพ
วันนี้ (31 ก.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงการช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ว่า กองทัพบกได้ส่งกองร้อยเฉพาะกิจ โดยมีกำลังพลจำนวน 860 นาย รถยนต์บรรทุก 37 คัน เรือ 27 ลำ เข้าช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่ที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน น่าน, เชียงราย, พะเยา ปราจีนบุรี กาญจนบุรี และสกลนคร ด้วยการเข้าขนย้ายคนและสิ่งของไปยังพื้นที่ปลอดภัย พร้อมทั้งเปิดเส้นทางการสัญจร รวมถึงการวางแผนร่วมกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ เน้นการเปิดเส้นทางเพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ถูกตัดขาด ซึ่งขณะนี้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ส่งผู้บังคับหน่วยทหารในทุกพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยเป็นตัวแทน ลงพื้นที่เข้ารับทราบความต้องการเร่งด่วนของผู้ประสบภัยและชุมชนที่เกิดเหตุ เพื่อส่งความช่วยเหลือให้ตรงกับความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยยังเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า โดยเฉพาะจังหวัดเมียวดี ตรงข้ามจังหวัดตาก ซึ่งรัฐบาลพม่าได้ประสานขอความช่วยเหลือมายังรัฐบาลไทย โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กองทัพบก จัดส่งความช่วยเหลือเป็นการด่วน ซึ่งในวันนี้กองทัพบกได้จัดเรือยางติดเครื่องยนต์ 2 ลำ เรือท้องแบน 3 ลำพร้อมเจ้าหน้าที่ประจำเรือ 20 นาย ถุงยังชีพ 300 ชุด และถุงยังชีพอีก 500 ชุดจากกาชาดอำเภอ นำไปมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดี บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า เพื่อนำไปบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย กาญจนบุรี ตาก น่าน พะเยา สกลนคร และปราจีนบุรี สรุปได้ดังนี้ จ.เชียงราย น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ 18 ตำบล 76 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเทิง อำเภอเวียงแก่น อำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สรวย และอำเภอแม่ฟ้าหลวง มีผู้เสียชีวิต 2 ราย จากการถูกต้นไม้ล้มทับทางหลวงหมายเลข 1155 กิโลเมตรที่ 66 ตำบลหล่ายงาว เสียหายจากการถูกน้ำป่ากัดเซาะ รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ส่วนที่ จ.กาญจนบุรี น้ำเอ่อเข้าท่วมในพื้นที่ 2 ตำบล 16 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลหนองลู และตำบลไล่โว่ ประชาชนเดือดร้อน 240 ครัวเรือน น้ำป่าซัดสะพานไม้ข้ามแม่น้ำซองกาเลีย (สะพานอุตตมานุสรณ์หรือสะพานมอญ) ขาดเป็นระยะทางประมาณ 70 เมตร
จ.ตาก ระดับน้ำในแม่น้ำเมยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอดล้นสปิลเวย์ไหลเข้าท่วมในพื้นที่เทศบาลนครแม่สอด อำเภอแม่สอดรวม 9 ตำบล โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนจอกจอ ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนพื้นที่อื่นระดับน้ำสูง 50-100 เซนติเมตร อีกทั้งได้เกิดดินสไลด์ปิดทับเส้นทาง 2 สาย ได้แก่ ถนนอุ้มผาง-เปิ่งเคลิ่ง บริเวณก่อนถึงศูนย์นุโพ และเส้นทางบ้านขุนห้วยแม่สอด ตำบลพระธาตุผาแดง รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเปิดเส้นทางแล้ว
จ.ปราจีนบุรี น้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไหลหลากเข้าท่วมในอำเภอเมืองปราจีนบุรี และถนนสุวรรณศร สาย 33 ปราจีนบุรี-ประจันตคาม บ้านขอนขว้าง ระหว่างหมู่ที่ 10 และ 13 จ.น่าน เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 6 อำเภอ 13 ตำบล 48 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอสองแคว อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอสันติสุข ประชาชนเดือดร้อน 1,377 ครัวเรือน ที่ จ.พะเยา เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในอำเภอเชียงคำ รวม 6 ตำบล 62 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 2,603 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตจากการถูกต้นไม้ล้มทับ 1 ราย จ.สกลนคร เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ 17 ตำบล 144 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอพังโคน อำเภอบ้านม่วง และอำเภอโพนนาแก้ว ประชาชนเดือดร้อน 14,568 ครัวเรือน
อธิบดีกรมป้องกันฯ กล่าวอีกว่า สั่งการให้ศูนย์ ปภ.ในพื้นที่ประสบอุทกภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์ รถสูบน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากถนนและพื้นที่ลุ่มต่ำ พร้อมนำเรือท้องแบน เรือเล็ก รถลากจูง รถแบ็คโฮ รถผลิตน้ำดื่ม รถบรรทุก และรถไฟฟ้าส่องสว่างออกปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งนำเครื่องอุปโภคบริโภค ถุงยังชีพ ข้าวกล่อง และน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย ตลอดจนเร่งตรวจสอบและสำรวจความเสียหายของพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป