คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ
พรรคเพื่อไทยได้ประกาศไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ จนกลายเป็นประเด็นให้สังคมได้วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง แต่บทความนี้จะกล่าวถึงอีกคดีหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกันของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คือ คดีที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท (27 มิถุนายน 2556) ให้รัฐบาลแพ้คดี
คดีนี้รัฐบาลได้ยอมรับคำพิพากษาแต่โดยดี และยอมรับที่จะไปดำเนินการตามคำแนะนำของศาล คือ “ให้ผู้ถูกฟ้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ต้องปฏิบัติ ด้วยการนำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปดำเนินการให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้ทั่วถึง ตามเจตนารมณ์ของส่วนที่ 10 สิทธิในข้อมูลข่าวสาร และการร้องเรียน… ”
แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลได้ดำเนินการไปอย่างที่เรียกว่าไม่เป็นไปตามสาระสำคัญที่ศาลได้แนะนำไว้เลย ผมขอเรียกในเบื้องต้นนี้ว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังกระทำอยู่เป็นการหลอกลวงศาล เพียงเพื่อที่จะได้นำไปอ้างว่าได้ทำตามคำแนะนำดังกล่าวแล้ว ผมมีเหตุผลที่จะเล่าให้ฟังโดยย่อเพื่อให้ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดสามารถเข้าใจทั้งตัวโครงการ และสถานการณ์ ซึ่งล่าสุด (22 พ.ย.) เวทีรับฟังที่จังหวัดสมุทรสงคราม ต้องล้มเลิกลงกลางคัน ดังต่อไปนี้ครับ
2.เล่ห์เหลี่ยมของโครงการ
จากบทนำในเอกสารที่มีความยาว 18 หน้า ซึ่งจัดทำโดย คณะอนุกรรมจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ใช้เหตุผลที่ว่า “ประเทศไทยประสบสภาวะวิกฤตจากอุทกภัยมาอย่างอย่าง (มีคำว่าอย่างสองตัวติดกันจริงๆ) ต่อเนื่อง และนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ.2554 …” แล้วตามด้วยจำนวนผู้ประสบภัย ผู้เสียชีวิต และมูลค่าความเสียหายที่ประเมินโดยธนาคารโลก
ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (19 พ.ย.) ผมได้ตั้งข้อสังเกตในที่ประชุมหลังจากข้าราชการจากสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช) ได้ชี้แจงว่า “ต้องสนองนโยบาย”
ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ข้าราชการต้องยืนยันในหลักการที่ถูกต้องสิครับ จะให้นักการเมืองลากไปได้อย่างไร อย่างเช่น ในเอกสารชิ้นนี้ (ผมชูเอกสาร 18 หน้าขึ้น) คุณปล่อยออกมาได้อย่างไร ในเมื่อมีการกล่าวถึงแต่ความเสียหายของน้ำท่วม แต่ไม่ระบุถึงสาเหตุของน้ำท่วมเลย คุณศรีสุวรรณ จรรยา (พยานผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับเชิญ) ได้พูดแล้วว่าสาเหตุของน้ำท่วมเมื่อปี 2554 นั้น เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล เมื่อไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงแล้วจะแก้ปัญหาให้ยั่งยืนได้อย่างไร” นั่นคือ สิ่งที่ผมได้พูดไป ผมอยากจะพูดมากกว่านี้ แต่ไม่มีเวลาครับ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์) ได้ยอมรับในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่า มีการเก็บกักน้ำไว้ในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ไว้มากเกินไป เมื่อน้ำล้นเขื่อนจึงจำเป็นต้องปล่อยออกมา น้ำจึงท่วมมากกว่าที่ควรจะเป็น
กล่าวอย่างเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย นี่ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งรุนแรงในประวัติศาสตร์ แต่จะมีเหตุใดบ้างนั้นต้องเป็นหน้าที่ของผู้ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาต้องแจงสี่เบี้ยออกมา
และเมื่อปัญหามันมีความซับซ้อน ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอีกเช่นกันที่จะต้องรับฟัง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนอย่างทั่วถึง ทั้งในระดับแผนแม่บท และระดับโครงการซึ่งชาวบ้านเป็นผู้รู้ดีที่สุด
โดยส่วนตัว ผมเองมีปัญหาคาใจอยู่ข้อหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2554 คือ บ้านผมซึ่งอยู่ในอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ในช่วงที่น้ำกำลังจะท่วม คนในหมู่บ้านต่างออกไปเฝ้าระวังระดับน้ำที่สะพาน เพื่อนบ้านคนหนึ่งซึ่งบ้านเดิมอยู่ที่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ เขาพูดขึ้นว่า
“ที่ปากน้ำ น้ำยังแห้งอยู่เลย มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวนมาก แต่ไม่มีน้ำจะให้สูบ เพราะมีการปิดกั้นน้ำเอาไว้ไม่ให้ผ่านกรุงเทพฯ เรื่องนี้จบแล้วต้องมีการเช็กบิล” ผมซาบซึ้งในคำพูดของเพื่อนบ้านที่อายุยังน้อยคนนี้มาก ที่ยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาลในภาวะฉุกเฉิน แต่จะต้องมีการทำความจริงให้ปรากฏในภายหลัง
ในวันที่ผมต้องอพยพหนีน้ำ ผมต้องนั่งรถ 6 ล้อออกไป เพราะรถเล็กผ่านไม่ได้ เมื่อผ่านสะพานพระราม 5 ไปแล้ว สิ่งที่ผมจำได้ และติดอยู่ในดวงตาจนทุกวันนี้ก็คือ ถนนทุกสายแห้งสนิทราวกับคนละประเทศกันเลย
มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ เงินภาษีประชาชนที่จมหายไปกับ “บิ๊กแบ็ก” จำนวน 2 พันล้านก็ยังไม่มีการประเมิน ข้อขัดแย้งของประชาชนที่อยู่คนละฝั่งของกำแพงกั้นน้ำก็ยังไม่ได้สรุปว่าต่อไปจะเอากันอย่างไร
ผมเข้าใจนะครับว่า การป้องกันเขตเศรษฐกิจชั้นในของกรุงเทพมหานครมีความจำเป็นอยู่ระดับหนึ่ง แต่ถ้าถึงขั้นไม่อนุญาตให้น้ำผ่านไปได้สักหยดหนึ่ง ในขณะที่น้ำกำลังท่วม และเน่าเหม็นอยู่เขตรอบนอก ผมว่าเป็นความสามานย์ของผู้ใช้อำนาจรัฐครับ
การแก้ปัญหาที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล (และเป็นเงินกู้ด้วย) ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกแล้วว่า สาเหตุหลักที่แท้จริงของปัญหาคืออะไร แต่จงใจหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ หรือ “สมุทัย” ไปอย่างหน้าตาเฉย จึงเป็นเล่ห์เหลี่ยมที่นอกจากจะ (1) ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาของประเทศได้ (2) สิ้นเปลืองเงินทองจำนวนมากแล้ว (3) ยังจะก่อผลกระทบต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งจะกล่าวเป็นลำดับต่อไป
3. หัวใจสำคัญของโครงการ 3.5 แสนล้านบาท
เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่ครอบคลุมพื้นที่ 36 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยเริ่มต้นตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่ มีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด (ชัยภูมิ และสกลนคร) ภาคใต้มีเพียงจังหวัดเดียวคือสงขลา ผมจะกล่าวถึงเฉพาะ โครงการผันน้ำ (Flood Way) ซึ่งใช้งบประมาณ 1.61 แสนล้านบาทเพียงอย่างเดียว โดยเริ่มต้นจากจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่รวมแม่น้ำ ปิง วัง ยม และน่าน มาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ผมได้แนบแผนที่ (จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ) มาประกอบเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยครับ
โครงการนี้ต้องการจะผันน้ำจากจังหวัดนครสวรรค์ ไปสู่ทะเลโดยการขุดแม่น้ำสายใหม่ 2 สาย (แต่ทางราชการเรียกว่าคลองเพื่อให้ดูเล็กลง) โดยที่สายตะวันตกยาวประมาณ 300 กิโลเมตร ผ่านหลายจังหวัด และหลายลุ่มน้ำ ตั้งแต่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม สำหรับสายตะวันออกยาว 270 กิโลเมตร
ความกว้างของแม่น้ำสายใหม่นี้ประมาณ 245 เมตร ลึก 10 เมตร ผมอยากทราบว่าความกว้างดังกล่าวมันสักขนาดไหนกัน จึงลองวัดจากแผนที่ Google Earth บริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า พบว่าแม่น้ำเจ้าพระยามีความกว้าง 230 เมตรเท่านั้น
เท่าที่ผมได้ฟังข่าวจากสถานีไทยพีบีเอส (22 พ.ย.) ชาวบ้านคนหนึ่งในลุ่มน้ำแม่กลองให้ความเห็นว่า “ถ้าน้ำจืดจำนวนมากถูกผันมาลงแม่น้ำแม่กลองแล้ว หอยที่ชาวบ้านเลี้ยงจะต้องตายหมด และถ้ามีการลอกให้แม่น้ำแม่กลองลึกลงไปอีก 10 เมตร เพื่อรองรับน้ำที่มากขึ้น ตลิ่งก็จะพังไหม”
นอกจากนี้ ชาวบ้านคนเดิมยังได้ตั้งคำถามแบบธรรมดาว่า “ถ้าน้ำทะเลหนุนแล้วจะระบายน้ำออกจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้อย่างไร”
ประเด็นนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องให้ผู้เลี้ยงหอยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ แต่มันเป็นปัญหาของกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ว่า จะให้น้ำที่มาจากแม่น้ำสายใหม่ซึ่งมีปริมาณมากกว่าน้ำในแม่น้ำแม่กลองเดิมถึง 2-3 เท่าตัวจะให้มันไหลไปไหน
เหมือนรถยนต์ที่แน่นเอี๊ยดบนถนน 6 เลน แล้วจู่ๆ ก็ต้องผ่านถนนที่แคบลงเหลือแค่ 2 เลน น้ำไม่เหมือนรถยนต์นะครับที่จะยอมติดอยู่กับที่ให้เสียเวลาเล่น แต่มันจะล้นไปท่วมเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านที่อยู่สองฟากฝั่งนั่นเอง
อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทานได้ให้ความเห็นในที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญว่า “โครงการผันน้ำของรัฐยังไม่ได้มีการศึกษาให้ครบถ้วนทั้งด้านผลกระทบต่อชุมชน และระบบนิเวศ โครงการเขื่อนแม่วงก์ มีการศึกษาแล้วแต่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ ทางคณะกรรมการบริหารน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ไปเก็บโครงการนี้มาจากกรมชลประทาน นอกจากนี้ ผู้ศึกษาผลกระทบต้องเป็นคนละบริษัทกับผู้ที่จะสร้างโครงการ ไม่ใช่ให้บริษัทรับเหมาเป็นผู้ศึกษาเอง รัฐบาลต้องทำตามขั้นตอนซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปี หรือสองปี”
4.ทำไมจึงเรียกว่าเป็นการรับฟังเพื่อหลอกศาล
เนื่องจากคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน (ซึ่งมีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน) ได้รับเรื่องร้องเรียนถึงความไม่ชอบมาพากลของการรับฟังความคิดเห็นในโครงการดังกล่าวในหลายเวที พร้อมกับเชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง
ชาวบ้านจากจังหวัดกาญจนบุรี ได้เล่าให้ฟังว่า “ชาวบ้านในตำบลท่าล้อจะถูกอพยพ 40 ครอบครัว และสูญเสียที่ทำกิน 30 ครอบครัว จากการร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากหน่วยงานไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่ให้ความสนใจในการให้ข้อมูลที่แท้จริง”
ชาวอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ร้องเรียนว่า พวกตน 6 หมู่บ้าน ประมาณ 3 พันคน จะถูกทำลายวิถีชีวิต จะสูญเสียที่ดินทำกิน
นอกจากนี้ ในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏว่า มีคนในอำเภออื่นอีก 4 อำเภอที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมาเข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้ชาวอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงได้พูดคนละ 3 นาที จำนวนไม่กี่คน แต่คนที่อยู่อำเภอไกลๆ จากโครงการได้พูดมากกว่า
ผมได้เห็นเอกสารของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกคนเข้าร่วมประชุมพบว่า เขาใช้วิธีการคำนวณให้เป็นไปตามสัดส่วนของจำนวนประชากรของแต่ละอำเภอ แต่โครงการเขื่อนตั้งอยู่แค่ใน 6 หมู่บ้านเท่านั้น
ชาวบ้านที่ร้องเรียนกล่าวว่า “เป็นการใช้คนจำนวนมากมาออกเสียงเพื่อขออนุญาตข่มขืนคนส่วนน้อย”
เอ๊ะ ช่างคล้ายคลึงกับคำพิพากษาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว
คุณประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้เข้าสังเกตการรับฟังความคิดเห็นมาหลายเวทีได้สรุปว่า ชาวอุทัยธานีมีความเห็นตรงกันว่าไม่ต้องการ Flood Way พร้อมกับสาระสำคัญ 4 ข้อ คือ
(1) จะอพยพชาวบ้านที่โดนเวนคืนไปอยู่ที่ไหน หญิงชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า ที่ดินของเธอได้จำนองไว้ 20 ไร่ ทางรัฐบาลจะไถ่ถอนให้ไหม
(2) ศาลได้สั่งให้รับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง แต่การรับฟังจริงๆ แล้วกลับไม่ทั่วถึง ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจำนวนมากถูกตัดสิทธิ และถูกกันไม่ให้เข้าร่วมประชุม แต่ข่าวที่ออกผ่านสื่อต่างๆ กลับรายงานว่าประชาชนร้อยละ 80 เห็นด้วยกับโครงการ
(3) ทางกรรมาธิการวุฒิสภา ได้เชิญผู้แทนธนาคารมาชี้แจง เพราะโครงการนี้เป็นโครงการเงินกู้ ซึ่งผู้แทนธนาคารระบุว่า สภาพบังคับตามสัญญาจะมีผลบังคับก็ต่อเมื่อมีการจ่ายเงินกันแล้ว ดังนั้น มีแนวโน้มว่าธนาคารจะไม่กล้าเสี่ยงในการจ่ายเงิน (ประเด็นนี้ผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจนัก)
(4) ชาวบ้านจำนวนหนึ่งประกาศจะยอมตาย
ผมได้ฟังคำสัมภาษณ์ของคุณหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ในรายการเส้นทางประชาธิปไตย) ซึ่งได้เข้าร่วมสังเกตการณ์รับฟังทุกเวที พบว่า ในแต่ละเวที ไม่มีการให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านเลย เช่น โครงการสร้างเขื่อนที่อำเภอแม่แจ่ม รัฐบาลควรจะให้ข้อมูลว่า เมื่อสร้างเขื่อนแล้วน้ำจะท่วมกี่เมตร ท่วมไปถึงไหนบ้าง แล้วจะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านอย่างไร เป็นต้น นอกจากนี้ การให้ข้อมูลก็ควรจะให้ล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน (ตามระเบียบ) และควรจะทำเป็นภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจได้
5.บทเรียนจากหาดใหญ่
การแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการสร้างคลองผันน้ำได้เกิดขึ้นแล้วที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2543 (ดังภาพประกอบ) ทางรัฐบาลก็ได้สร้างคลองระบายน้ำด้วยเงินลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท แต่ปรากฏว่า ในปี 2553 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นอีก โดยระดับน้ำในบางพื้นที่กลับท่วมมากกว่าปี 2543 เสียอีก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน ทางราชการที่เกี่ยวข้องต่างออกมายืนยันว่าน้ำจะไม่ท่วมหาดใหญ่อย่างแน่นอน
โครงการ 3.5 แสนล้านบาทคราวนี้ก็มีส่วนหนึ่งลงในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ และทราบว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นกันในปลายเดือนธันวาคม ก็หวังว่าชาวหาดใหญ่คงจะได้นำบทเรียนมานำเสนอกันอย่างกว้างขวาง หากรัฐบาลรับฟัง
6. สรุป
สิ่งที่ผมได้เล่ามานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับคำพิพากษา และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน การปิดกั้นการแสดงความเห็นของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง การบิดเบือนหลักการแก้ปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จผ่านสื่อสาธารณะ ผมจึงได้สรุปว่าเป็นการหลอกลวงทั้งศาล และประชาชนผู้เสียภาษี
อนึ่ง ผมมั่นใจว่าประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างแน่นอน แต่วิธีการของรัฐบาลไม่ถูกต้อง มุ่งแต่การใช้เงินอย่างเร่งรีบ ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่มีทางออก และทางเลือกที่ใช้เงินน้อยกว่า และไม่กระทบต่อระบบนิเวศ และชุมชน แต่รัฐบาลไม่รับฟัง และไม่สนใจด้วยครับ
การนัดชุมนุมใหญ่ของประชาชนในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ น่าจะมีชาวบ้านที่คัดค้านโครงการบริการจัดการน้ำออกมาร่วมด้วยเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน
คุณเหิมเกริมเกินกว่าที่ประชาชนจะยอมได้อีกต่อไปแล้ว รัฐบาลนี้!