ยะลา - นักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอบคุณ ศอ.บต.ที่อำนวยความสะดวกให้ไปศึกษาต่อในประเทศอียิปต์ ในขณะที่บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองเดินทางมาส่ง และดูอาร์จากเอกองค์อัลลอฺฮฺให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง
วานนี้ (21 พ.ย.) ที่อาคารอเนกประสงค์ ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ดร.มะรอนิง สาแลมิง รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย นายอดินันท์ ปากบารา ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นายอับดุลอาซิส ยานยา นายกสมาคมสถาบันปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ผู้นำศาสนา ตัวแทนของสายการบินไทย
และบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง เดินทางมาส่ง และร่วมดูอาร์จากเอกองค์อัลลอฮฺ ให้เกิดความปลอดภัยแก่นักศึกษาไทยที่จะเดินทางกลับไปเรียนต่อ ณ ประเทศอียิปต์ โดยเครื่องบินเช่าเหมาลำ สายการบินไทย บินตรงจากสนามบินหาดใหญ่ ถึงกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ จำนวน 373 คน โดยก่อนหน้านี้ ศอ.บต.ได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อำนวยความสะดวกส่งนักเรียนไทยกลับไปเรียนต่อที่อียิปต์แล้ว 2 เที่ยวบิน เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม จำนวน 208 คน และวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จำนวน 375 คน รวมจำนวนนักศึกษาที่ได้เดินทางกลับไปเรียนต่อที่ประเทศอียิปต์แล้วทั้งสิ้น จำนวน 956 คน
ดร.มะรอนิง สาแลมิง รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า วันนี้รู้สึกยินดีที่เห็นภาพของนักศึกษามีความมุมานะ และมีจุดมุ่งหมายเพื่อไปศึกษาต่อในประเทศอียิปต์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อำนวยความสะดวกแก่นักศึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งได้เดินทางกลับไปสอบ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมเดินทางไปส่งก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งคณะเดินทางได้เข้าพบปะเยี่ยมเยียนแกรนด์อิหม่าม คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ผู้อำนวยการสถาบันภาษา เอกอัครราชทูตกรุงไคโร ตลอดจนได้เยี่ยมเยียนหอพักนักศึกษาด้วย
รองเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวอีกว่า สำหรับบทบาทหน้าที่ของ ศอ.บต.มุ่งเน้นส่งเสริมการจัดการศึกษาทุกระบบ และคิดว่าการศึกษาเท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาในทุกมิติได้ ซึ่งการศึกษาถือเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาคน และการดำรงชีวิต ประกอบกับเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีต้นทุนในด้านการติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางภาษา ศาสนา จึงนับได้ว่าเป็นกำไรของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก สิ่งหนึ่งที่ตระหนัก และมั่นใจ คือ ความพร้อม และความตั้งใจในการพัฒนาการศึกษา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครอง และญาติพี่น้องที่สัมผัสอยู่กับนักศึกษา ตลอดจนรับทราบสภาพปัญหาโดยตรง ฉะนั้นการศึกษาของบุตรหลาน นอกจากจะต้องเป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนแล้ว จะต้องเป็นการศึกษาที่ก้าวทันกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย ผมจึงขออวยพรให้นักศึกษาประสบความสำเร็จในการศึกษา ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ครอบครัวให้ได้มากที่สุด
ด้าน น.ส.ฮูดา หะยีหามะ นักศึกษาจากคณะอิสลามศึกษา ปีที่ 3 มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร กล่าวขอบคุณรัฐบาล และ ศอ.บต.ที่ให้ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกค่าเดินทางทั้งไปและกลับ ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เพราะนักศึกษาก็มีจำนวนมาก การกลับบ้านในครั้งนี้ไม่ได้มองว่าเป็นการเสียโอกาสทางการเรียน แต่เป็นการมารับกำลังใจจากที่บ้านเพื่อเป็นแรงผลักดันให้มีความมุ่งมั่นกลับไปศึกษาต่อ เพราะเหลืออีกแค่ปีเดียวก็จะนำใบปริญญากลับมาฝากครอบครัวให้ได้ภูมิใจ และจะนำวิชาความรู้ ประสบการณ์ในต่างประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ โดยตั้งใจว่าจะกลับมาเป็นครูสอนด้านศาสนาอิสลาม