xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธการเด็ดหัว “ผู้นำท้องที่” กับจิตวิญญาณ “นักปกครอง” ที่ปลายด้ามขวาน / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
ในขณะที่อุณหภูมิการเมืองที่ถนนราชดำเนินกำลังอยู่ในการ “ยกระดับ” เพื่อไปสู่จุด “แตกหัก” และอาจจะไปสู่ความ “รุนแรง” อุณหภูมิความร้อนแรงจากเหตุก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ได้ “เย็นลง” ตามฤดูกาลที่ย่างเข้าสู่หน้าฝนของภาคใต้แต่อย่างใด
 
ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่เป็นการยกระดับ แต่ก็ยังคงระดับเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ระเบิดแสวงเครื่องยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างต่อเนื่อง และซื่อสัตย์ เพราะสิ้นกัมปนาททุกครั้งจะต้องการมีบาดเจ็บ หรือล้มตายเกิดขึ้นในทันทีทันใด
 
เพียงแต่เป้าหมายของระเบิดแสวงเครื่องในระยะ 2-3 เดือนมานี้คือ “เจ้าหน้าที่” เช่น กำลังทหาร ตำรวจ ทหารพราน อาสาสมัครฝ่ายพลเรือน และ ชรบ. ซึ่งบาดเจ็บล้มตายเป็น “ใบไม้ร่วง” จนกลายเป็นว่า งานประจำของแม่ทัพนายกอง และผู้นำฝ่ายพลเรือนคือ การส่งศพเจ้าหน้าที่ผู้เสียชีวิต การเยี่ยมผู้บาดเจ็บ และจ่ายเงินเยียวยา ซึ่งภาพที่ปรากฏตามสื่อคือการตอกย้ำถึง “ความรุนแรง” และ “ความสูญเสีย” ของฝ่ายรัฐ
 
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ได้แตกต่างจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชน เพราะการสูญเสียเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือหน่วยงานอื่นๆ สิ่งที่เหมือนๆ กันคือ พ่อแม่สูญเสียลูก เมียกลายเป็นหญิงหม้าย และลูกๆ ต้องการเป็นเด็กกำพร้า กลายเป็นโศกนาฏกรรมของครอบครัว และอาจจะนำมาซึ่งปัญหาของสังคมส่วนรวม
 
อีกประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา “ผู้นำท้องที่” ซึ่งมีตำแหน่งเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือ ผรส. ถูกกลุ่มคนร้ายยิงล้มตายเป็นใบไม้ร่วงนับได้กว่า 10 ศพ และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง เหตุเกิดในพื้นที่ทั้ง จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส
 
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ผู้นำท้องที่ที่ตกเป็นเป้าหมายการไล่ล่าประกบยิงที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติ เกิดจากสาเหตุอะไร?!
 
เป็นเรื่องความขัดแย้งที่มาจากเรื่องการเมืองท้องถิ่น หรือมาจากเรื่องของความมั่นคง เพราะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่งจะผ่านพ้นการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.ผ่านไปไม่ถึงเดือน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็ล้มตายอย่างผิดปกติ เป็นเรื่องของการถูก “เช็กบิล” ทางการเมืองหรือไม่? อย่างไร?
 
แต่ถ้าการเสียชีวิตของผู้นำท้องที่ โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ได้มาจากเรื่องการเช็กบิล จากสาเหตุการขัดแย้งทางการเมือง การเลือกตั้ง อบต.ที่ผ่านมา แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงคือ เป็นการกระทำของกลุ่ม “ผู้เห็นต่าง” หรือกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ ซึ่งมาจากวัตถุประสงค์หลักคือ การข่มขู่ให้ผู้นำท้องที่ให้อยู่เฉยๆ โดยไม่ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนงานของฝ่ายปกครอง และของฝ่ายความมั่นคง
 
เนื่องจาก “ผู้นำท้องที่” คือ กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งรู้จักคนรู้จักปัญหา และรู้วิธีการในการ “คลี่คลาย” ปัญหาในพื้นที่ได้ดีที่สุด ประกอบกับนโยบายของ ศอ.บต.คือ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่หมู่บ้าน ตำบล โดยการให้อำนาจหน้าที่ และค่าตอบแทนให้แก่ผู้นำท้องที่ ด้วยการสร้าง “ชุดคุ้มครองตำบล” หรือ “ชคต.” ให้เข้มแข็ง เพื่อรองรับการถอนกำลังของเจ้าหน้าที่ทหารในอีก 2 ปีข้างหน้า
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในขณะนี้ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง และต้องมีการป้องกัน ถ้าการตายของผู้นำท้องที่เป็นเรื่องความขัดแย้งการเมือง ถือเป็นเรื่องอาชญากรรมทั่วไป ที่เป็นหน้าที่ของตำรวจในการสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดี หาตัวคนร้ายมาลงโทษ
 
แต่ถ้าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายที่เห็นต่างจากรัฐ แสดงให้เห็นว่ากลุ่มก่อการร้ายต้องการสร้าง “สงครามยืดเยื้อ” ไม่ต้องการให้ผู้นำท้องที่มามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความไม่สงบ และหวาดกลัวนโยบายการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้นำท้องถิ่น เพื่อให้ดูแลรักษาความสงบในท้องที่ของตนเอง แสดงว่า “แนวทาง” ของ ศอ.บต. และฝ่ายความมั่นคงเป็นนโยบายที่ถูกต้อง
 
ถ้าเป็นอย่างนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะต้องมีแผนในการให้ความคุ้มครอง หรือดูแลผู้นำท้องที่ โดยเฉพาะในท้องที่ที่ผู้นำท้องที่มีความเข้มแข็งในการป้องกันรักษาความสงบ เพราะหาก “ปราการ” นี้ถูกทำลายลง กลุ่มก่อการร้ายก็จะมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวมากขึ้น
 
ในขณะเดียวกัน ฝ่ายปกครองต้องมีมาตรการในการปกป้อง คุ้มครองชีวิตของผู้นำท้องที่ให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาๆ สังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างวิพากษ์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายปกครองว่า ไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ฝ่ายปกครองจำนวนมากไม่กล้าออกพื้นที่เพื่อดูแลประชาชน มีการทอดทิ้งประชาชน ไม่มีการสร้างมวลชน สุดท้ายมวลชนส่วนหนึ่งถูกขบวนการผู้เห็นต่างชักจูง ข่มขู่ให้กลายเป็น “แนวร่วม” ของขบวนการ จนทำให้การแก้ปัญหาความไม่สงบยากเย็นยิ่งขึ้น
 
สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้นำท้องที่คือ ณ วันนี้ผู้นำท้องที่จำนวนไม่น้อยที่ไม่พร้อมที่จะทำการ “รุก-รบ” กับหน่วยงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง หรือเป็นฝ่ายความมั่นคง เพราะผู้นำท้องที่เหล่านั้นเข้าไปผูกพันกับผลประโยชน์ที่มิชอบ เช่น ผลประโยชน์จากการเมืองท้องถิ่น ผลประโยชน์จากธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน และอื่นๆ รวมทั้งผลประโยชน์จากการรับเหมา จนละเลยหน้าที่ของ ผู้นำท้องถิ่น และไม่พร้อมที่จะรุก-รบ กับความไม่ถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่พื้นที่เพื่อนำความสงบมายังท้องถิ่นของตนเอง
 
จากข้อมูลการข่าวของ “หน่วยข่าวความมั่นคง” พบว่า ผู้นำท้องที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการ “แบ่งขั้ว” มีการ “จับกลุ่ม” กันถึง 25 กลุ่มด้วยกัน ซึ่งการแบ่งขั้ว แบ่งกลุ่มที่เกิดขึ้นคือ ปัญหาความขัดแย้งที่ตามมา และอาจจะหมายถึงที่มาของการ “เสียชีวิต” จากการแบ่งขั้วที่เกิดจากผลประโยชน์ที่ “ทับซ้อน” กันอยู่
 
การใช้ผู้นำท้องที่เป็นตัว “ขับเคลื่อน” เพื่อร่วมกับฝ่ายความมั่นคงในการสร้างความสงบสุขให้กลับคืนสู่แผนดินปลายด้ามขวาน เป็นเรื่องที่ดี เป็นนโยบายที่ถูกต้อง แต่นั่นต้องหมายถึงว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแยก “สะสาง” ผู้นำท้องที่ ซึ่งเป็น “ตัวถ่วง” เป็น “ตัวปัญหา” ให้หมดสิ้นไปด้วย
 
วันนี้ กรมการปกครองท้องถิ่น นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความตื่นตัว มีความเข้มแข็ง และมีความพร้อมหรือยังในการที่จะออกมาร่วม “รุก-รบ” กับหน่วยงานความมั่นคง วันนี้นักปกครองที่ปลายด้ามขวานมีจิตวิญญาณของนักปกครองที่แท้จริง แค่ไหน เพียงใด??!!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น