xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.ติดเขี้ยวเล็บผู้นำท้องถิ่นชายแดนใต้ ตั้งชุดคุ้มครองตำบลดูแลตนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศอ.บต.ผลักดันแนวทางชุมชนเข้มแข็งติดเขี้ยวเล็บให้ผู้นำท้องถิ่นชายแดนใต้ ตั้งชุดคุ้มครองตำบล พร้อมเพิ่มเงินเดือนแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ตำบล รวมทั้งสนับสนุนรถจักรยานยนต์ และรถยนต์กันกระสุนตำบลละ 1 คัน เพื่อรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน

วันนี้ (9 พ.ย.) นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ในฐานะประธานคณะทำงาน การแก้ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ทางคณะทำงานฯ ได้ประชุมเพื่อผลักดันแนวทางชุมชนเข้มแข็ง “เหตุเกิดที่หมู่บ้าน ชัยชนะต้องมาจากหมู่บ้าน” โดยที่ประชุมเสนอให้มีตำบลนำร่องอำเภอละ 2 ตำบล ซึ่งเป็นตำบลที่มีชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) เต็มอัตรากำลัง ใน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพื่อเป็นแบบอย่างของการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรับผิดชอบในการรักษาความสงบ รวมทั้งสร้างความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน

“การเลือกพื้นที่ซึ่งผู้นำท้องที่ต้องมีใจในการรุก รบ และเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ติดกับเขตเมือง เพื่อเชื่อมการป้องกันระหว่างเขตเทศบาล ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่เป็นเส้นทางเคลื่อนไหวของแนวร่วมที่เข้ามาก่อการร้ายในพื้นที่เขตเมือง และเขตเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้กำลังของชุด ชคต. สามารถประสานเสริมกับเจ้าหน้าที่ชุดต่างๆ ที่ทำหน้าที่รักษาความสงบในเขตเทศบาล และเขตเศรษฐกิจ สนับสนุนงบประมาณให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพิ่มจากเงินเดือนที่มีอยู่เดิมคนละ 15,000 บาท ส่วน ผรส.สารวัตรกำนัน แพทย์ตำบลคนละ 5,000 บาท และเงินสนับสนุน ชรบ. จากคนละ 200 บาทต่อเดือน เป็น 1,000 บาท และให้มีการสนับสนุนรถยนต์กันกระสุนตำบลละ 1 คัน และจักรยานยนต์สำหรับใช้การการลาดตระเวน”

นายไชยยงค์ กล่าวว่า จะได้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้แก่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้รับทราบ เพื่อนำไปสู่ความเห็นชอบของรัฐบาล ต้องการให้อำนาจ และหน้าที่ในการรักษาความสงบ และความปลอดภัยในหมู่บ้านเป็นหน้าที่ของผู้นำท้องที่ชุดคุ้มครองตำบลติดอาวุธเพื่อไปต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบ ต้องการให้ผู้นำท้องที่สร้างความเข้มแข็งในหมู่บ้าน โดยการดึงภาคส่วนของประชาชนเข้ามาเป็นกองกำลังของท้องถิ่น เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของหมู่บ้าน มีกำลังทหาร ตำรวจ ทำหน้าที่รักษาความสงบ และเป็นกำลังหลักในพื้นที่ในการรับมือกับการก่อเหตุร้ายของแนวร่วมขบวนการก่อการร้ายเช่นเดิม

นายไชยยงค์ กล่าวอีกว่า คนที่รู้ปัญหาในท้องที่ได้ดี คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ ผรส.ในพื้นที่ แต่ไม่มีการใช้ผู้นำท้องที่ในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และไม่มีการให้ค่าตอบแทนให้คุ้มค่าต่อการเสียสละ และความเสี่ยงของผู้นำท้องที่ จึงทำให้ผู้นำท้องที่ไม่มีบทบาทในการแก้ปัญหาความไม่สงบ การสร้างตำบลนำร่อง ซึ่งสามารถประเมินผลได้ว่า เมื่อให้หน้าที่ให้อำนาจให้ค่าตอบแทนที่เพียงพอจะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่นำร่องดีขึ้นหรือไม่ หากยังไม่ดีขึ้น หรือยังเหมือนเดิมก็สามารถพิจารณายกเลิก แต่หากสถานการณ์ดีขึ้น หมู่บ้านมีความเข้มแข็งสามารถช่วยตัวเองได้ และไม่เกิดเหตุร้ายก็จะขยายตำบลนำร่องเพิ่มขึ้นจนครบทุกพื้นที่
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น