xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ เมืองคอนเตรียมรับมืออุทกภัย “ดินโคลนถล่ม” เร่งสำรวจพื้นที่เสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - ผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช สำรวจพื้นที่เร่งเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เสี่ยง และดินโคลนถล่ม ลุ่มน้ำคลองกลาย และลุ่มน้ำท่าดี พร้อมอพยพหากปริมาณฝนแตะจุดเสี่ยง

วันนี้ (19 พ.ย.) นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นายเจษฎา วัฒนานุรักษ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ตรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และดินโคลนถล่ม ที่ ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ พร้อมรับฟังปัญหาจากตัวแทนภาคส่วนต่างๆ

โดย นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า ในแต่ละปีจะมีปริมาณน้ำฝนตกลงมาเฉลี่ยประมาณ 2,200 มิลลิเมตร แต่จนถึงขณะนี้มีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเพียง 800-1,000 มิลลิเมตร ดังนั้น ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ หากมีฝนตกลงมามากถึง 1,200 มิลลิเมตร จะเกิดอุทกภัยขึ้นได้ ขณะเดียวกัน ได้จัดงบประมาณจำนวน 100,000 บาท เพื่อสร้างศูนย์เฝ้าระวังภัยพิบัติตำบลกรุงชิงภาคประชาชนให้แล้วเสร็จ และจัดเครื่องวิทยุสื่อสารภาคประชาชน (เครื่องแดง) ชนิดแม่ข่าย (BASE) ติดตั้งที่ศูนย์ อปพร.ตำบลกรุงชิง ตามที่ได้รับการร้องขอ เพื่อใช้งานกับวิทยุสื่อสารเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติฉุกเฉิน

ด้านพื้นที่เสี่ยงในโซนลุ่มน้ำคลองท่าดี นายกิตติพันธ์ เพชรชู นายอำเภอลานสกา และนายชเนตธิ์ สอนลิลา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 (คลองท่าดี) สำนักชลประทานที่ 15 ได้เดินทางไปยังบ้านคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา เพื่อตรวจสภาพพื้นที่ และรวบรวมข้อมูลแหล่งต้นน้ำคลองท่าดี ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วง เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งเป็นลำน้ำธรรมชาติสายหลักที่น้ำไหลผ่านเข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราชก่อนออกสู่ทะเลอ่าวไทยที่ปากอ่าวปากนคร

นายกิตติพันธ์ ระบุว่า จากสถิติข้อมูลของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีปริมาณน้ำฝนตก เฉลี่ยปีละประมาณ 2,200 มิลลิเมตร ซึ่งปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา 1,000 มิลลิเมตร ยังเหลืออีก 1,200 มิลลิเมตร หากมีฝนตกลงมามากในช่วง 2 เดือนนี้จะเกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นได้ โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองนครศรีธรรมราช จึงจำเป็นต้องเตรียมการป้องกันอุทกภัย เช่น การขุดลอก รื้นถอนสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อให้การระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น และการแจ้งเตือนประชาชนก่อนเกิดอุทกภัยเมื่อฝนตกในพื้นที่ต้นน้ำมากว่า 100 มิลลิเมตร

ซึ่งระยะทางการไหลของน้ำตั้งแต่ต้นน้ำเทือกเขาหลวง ที่หนานท่าหา จุดกำเนิดคลองท่าดี บ้านคีรีวง หมู่ 9 ต.กำโลน จนถึงจุดตรวจวัดข้อมูลระดับน้ำสะพานนาปะ ต.ไชยมนตรี อ.เมือง ระยะทาง 26 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาประมาณ 15-16 ชั่วโมง น้ำก็จะถึงตัวเมืองนครศรีธรรมราช หากการระบายน้ำไม่ดีก็จะไหลบ่าเข้าท่วมตัวเมืองนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียงได้

ขณะที่ นายชเนตธิ์ สอนลิลา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 (คลองท่าดี) สำนักชลประทานที่ 15 กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนทางฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 (คลองท่าดี) สำนักชลประทานที่ 15 รวมทั้งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช จะมีการเฝ้าระวังปริมาณน้ำในคลองท่าดี 2 จุดหลัก คือ ที่สถานีตรวจวัดข้อมูลระดับน้ำคลองท่าดี ที่วัดวังไทร หากระดับน้ำสูงถึง 33.90 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) และที่จุดตรวจวัดข้อมูลระดับน้ำสะพานนาปะ ระดับน้ำสูงถึง 10.80 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ถือว่าอยู่ในระดับวิกฤต น้ำเริ่มล้นตลิ่งจำเป็นต้องแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง และขนย้ายสิ่งของไปไว้ในที่ปลอดภัย

ส่วนปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช มีประมาณ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถระบายออกผ่านคลองท่าซักได้ 102 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคลองหัวตรุด-ปากนคร 166 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำตกค้างอีกประมาณเกือบ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ต่างๆ ได้ จึงจำเป็นต้องหาทางระบายน้ำออกให้ได้มากที่สุดเพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วม



   

กำลังโหลดความคิดเห็น