ตรัง - บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัย เผยอุบัติเหตุทางถนนภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.ตรัง มีตัวเลขที่น่าห่วง เพราะแค่ 8 เดือนที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตไปแล้ว 100 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 1,600 ราย ทั้งยังมีอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ รองจากจังหวัดภูเก็ต
วันนี้ (18 พ.ย.) นายสหัสวรรษ หนูแม่น ผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัย จำกัด สาขาตรัง เปิดเผยว่า บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ได้จัดกิจกรรม “กินข้าวเล่าเรื่อง” ขึ้น เพื่อชี้แจงถึงบทบาทหน้าที่ของบริษัทกลางฯ และภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จังหวัดตรัง และกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง
สืบเนื่องจากองค์การอนามัยโลก ได้รายงานว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และสูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน สำหรับในจังหวัดตรัง มีอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ รองจากจังหวัดภูเก็ต โดยกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2556 มีอุบัติเหตุ 1,369 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,604 ราย และผู้เสียชีวิต 100 ราย
โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด จำนวน 19 ราย เนื่องจากในช่วงดังกล่าวมีฝนตกตลอดทั้งเดือน ทำให้สภาพถนนลื่น และผู้ใช้รถใช้ถนนมีความประมาท สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด คือ การขับรถเร็ว และประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 50% รองลงมาคือ รถปิกอัพ 31% และรถเก๋ง 13%
สำหรับช่วงอายุที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด คือ 11-20 ปี มากถึง 33% รองลงมาคือ อายุ 21-30 ปี 19% และอายุ 41-50 ปี 17% ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่า อุบัติเหตุจะมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ตามช่วงอายุที่สูงขึ้นของผู้ขับขี่ ส่วนช่วงที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดคือ เวลา 16.01-20.00 น. ขณะที่สถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดมากที่สุดคือ ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ 24,579 ราย และไม่สวมหมวกนิรภัย 8,269 ราย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียน 19 ล้านคัน แต่มีรถที่ทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.เพียง 13 ล้านคันเท่านั้น ดังนั้น บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จึงพยายามออกไปรณรงค์ ควบคู่กับการให้บริการรับคำร้อง การจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ภาคบังคับ การดำเนินการแทนกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย และการจ่ายค่ารักษาพยาบาลคืนให้โรงพยาบาลในสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศ