xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนครศรีฯ ร่วมรับฟังความคิดเห็นหนุน “โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - ชาวหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ยอมรับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลม หลังนักลงทุนเริ่มเข้าลงทุนในพื้นที่ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นการก่อสร้างกังหันลม ขณะที่กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินยืนยันพร้อมรับโรงไฟฟ้า แต่ไม่ต้องการพลังงานถ่านหิน ซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงที่สร้างมลพิษ

วันนี้ (12 พ.ย.) ที่ลานหน้าที่ทำการเทศบาลตำบลเกาะเพชร ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช หลังจากนักลงทุนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานลมหลายบริษัทได้เริ่มเข้ามาลงทุนในพื้นที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมของกระแสลมเพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศไทย โดยล่าสุด บริษัทเอกชนซึ่งได้ร่วมกลุ่มเป็นพันธมิตรการลงทุน 4 บริษัท นำโดยบริษัท คะเณยะ จำกัด บริษัท เพาเวอร์อีเลคตริคคอลวัน จำกัด พร้อมบริษัทลูกอีก 2 บริษัท คือ บริษัท วินด์เทอร์ไบน์อิเลคตริคคอล จำกัด และบริษัท ภัคตร์แพนนิ่ง ดีเวลลอปเม้นท์ คอนซัลแทนท์ จำกัด

โดยกลุ่มบริษัทดังกล่าว ได้ร่วมกันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อำเภอหัวไทร โดยลงลึกไปจนถึงระดับหมู่บ้าน เพื่อรับฟังความคิดเห็น และตอบข้อซักถามข้อสงสัย ข้อข้องใจในประเด็นต่างๆ เพื่อนำไปสู่การดำเนินการเตรียมการก่อสร้างฟาร์มกังหันลมที่มีกำลังผลิตอย่างน้อยตัวละ 1.5 เมกะวัตถ์ ตามนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก 25 เปอร์เซ็นต์ หรือแผน AEDP 2012-2021

ขณะที่บริษัทเอกชนได้ว่าจ้างห้องปฏิบัติการวิจัยพลังงานลม-แสงอาทิตย์ ศูนย์วิจัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ ทำการสำรวจทางวิชาการมาเป็นเวลา 3 ปี ปรากฏว่า เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม และมีความเป็นไปได้จึงเตรียมพร้อมที่จะลงทุน โดยขั้นตอนนั้นจะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามกฎหมายซึ่งเป็นไปอย่างราบรื่น และประชาชนให้การยอมรับ ขณะเดียวกัน พื้นที่เดียวกันนี้เป็นพื้นที่เตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เช่นเดียวกัน แต่ปรากฏว่า ได้รับแรงต้านจากประชาชนสูงมาก

นายสมิง พัฒนานนท์ ในฐานะแกนนำกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินรายหนึ่งระบุว่า ข้อเท็จจริงนั้นชาวอำเภอหัวไทร ไม่ได้ปฏิเสธโรงไฟฟ้าถ่านหินตามที่เข้าใจกัน แต่การปฏิเสธนั้นคือ เชื้อเพลิงถ่านหินซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงที่สร้างมลพิษ และไม่มั่นใจในข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่อ้างว่ามีเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ในส่วนของการพัฒนาพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานลมซึ่งถือเป็นพลังงานธรรมชาตินั้นเชื่อว่าประชาชนในพื้นที่สามารถยอมรับได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น