xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ระบุความผันผวนเศรษฐกิจโลกเป็น “บทเรียน” กระตุ้นทบทวนเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผู้ว่าการ ธปท. ระบุความผันผวนของระบบการเงินโลกกระทบภาวะเศรษฐกิจไทย แต่ถ้ามองในด้านดีถือเป็นการช่วยกระตุ้นให้ได้ทบทวนพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง พร้อมนำแนวทางการแก้ไขมาปรับใช้สร้างภูมิต้านทาน และพัฒนาศักยภาพ

วันนี้ (11 พ.ย.) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ จัดงานงานสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2556 เรื่อง “ทิศทางนโยบายการเงินในความผันผวนเศรษฐกิจโลก” โดยมีสถาบันการเงิน หน่วยงานราชการ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางนโยบายการเงินในความผันผวนเศรษฐกิจโลก” โดยระบุว่า บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ความผันวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกในปัจจุบัน จะบรรลุถึงเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจท่ามกลางความท้าทายนี้ จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่

1.การมองรอบ คือ การเข้าใจที่มาของความผันผวนจากภายนอก เพื่อเตรียมรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ตลาดการเงินโลกได้ทวีความผันผวนมากขึ้น โดยบรรดาผู้ลงทุนในตลาดมักจะโยงสาเหตุไปถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ได้แสดงทีท่าว่าอาจจะลดลงขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ในปริมาณมาก หรือ QE ลง อีกสาเหตุสำคัญของความผันผวนในภาคการเงินปีนี้ เกิดจากการที่นักลงทุนเริ่มขาดความมั่นใจในความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เคยเติบโตได้ดี

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ติดตามสถานการณ์ความผันผวนของตลาดการเงิน และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อเศรษฐกิจ และเตรียมเครื่องมือทางนโยบายที่เหมาะสมกับสภาวการณ์ต่างๆ มาโดยตลอด ทั้งได้เสนอแนวทางเกราะป้องกันความผันผวนที่ดีที่สุดอยู่ 2 ประการ ได้แก่ ความน่าเชื่อถือของนโยบาย และความเข้มแข็งของพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสร้างความเชื่อมั่นของนโยบาย และเข้มแข็งให้แก่ภาคเศรษฐกิจ เพื่อให้ความมั่นใจต่อภาคเอกชน และนักลงทุน

2.มองลึก คือ การเข้าใจ ทั้งจุดแข็ง และจุดเปราะบางของเศรษฐกิจ เพื่อการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจ สำหรับในปีนี้แรงส่งของเศรษฐกิจไทยได้ชะลอลงมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้เมื่อต้นปี โดยการบริโภคภาคเอกชนแผ่วลง เนื่องจากภาคครัวเรือนต้องแบกรับภาระหนี้ที่สูงขึ้นหลังจากที่มีการเร่งกู้ยืมเพื่อการบริโภคไปในปีที่แล้ว

ในขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ยังไม่พื้นตัวชัดเจนนัก ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจนี้ก็ทำให้การลงทุนภาคเอกชนได้รับผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้ แรงสนับสนุนจากภาคการคลังในปีนี้ก็น้อยกว่าที่คาด แต่ถ้ามองไปข้างหน้าก็เริ่มเห็นสัญญาณการทรงตัวของเศรษฐกิจไทยบ้าง จากการส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และน่าจะช่วยสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับการใช้เครื่องมือนโยบายแก้ไขปัญหาที่ผิดจุด อาจนำมาซึ่งปัญหาต่อเสถียรภาพทางการเงินได้ และเป็นสิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงินให้ความสำคัญมาตลอด โดยพิจารณาจากปัจจัย และผลกระทบหลายด้านประกอบกัน ซึ่งมี 3 ประเด็นสำคัญ คือ

- นโยบายการเงินมีความผ่อนปรนเพียงพอต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจหรือไม่
- นโยบายการเงินจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างไร
- การตัดสินนโยบายจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และนักลงทุนอย่างไร

อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินไม่สามารถแก้ไขข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง หรือยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น ด้วยการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้องอาศัยการปฏิรูปเชิงโครงสร้างบนพื้นฐานความร่วมแรงร่วมใจอย่างจริงจัง และต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน

3.มองไกล คือ การยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย เพื่อการเติบโตอย่างแท้จริงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยจัดอยู่ในระดับรายได้ปานกลาง ซึ่งมีข้อจำกัดอยู่ ได้แก่ ปัญหาในตลาดแรงงาน การริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรม และยกระดับเทคโนโลยี สำหรับการก้าวผ่านข้อจำกัด และยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นไปได้ หากทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกัน

ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็จะดูแลกลไกการทำงานของระบบการเงินให้มีเสถียรภาพ และเอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการมีภาวะการเงินที่เอื้ออำนวยเป็นรากฐาน นอกจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างเหมาะสม ภาคธุรกิจ และประชาชนคือหัวจักรสำคัญที่สุดที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจ

และควรยึดแนวทาง 3 ข้อ เป็นหลักในการประกอบธุรกิจ และดำเนินชีวิต คือ เร่งพัฒนา แสวงหาโอกาส และปรับเปลี่ยนทัศนคติ หากทุกภาคทุกส่วนมีความตั้งใจจริงที่จะช่วยกันยกศักยภาพของเศรษฐกิจก็จะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และมีภูมิต้านทานที่ดีต่อแรงกระแทกระยะสั้นจากภายนอก

ดร.ประสาร กล่าวสรุปว่า ความเชื่อมโยงของระบบการเงินโลกทำให้ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ความผันผวนดังกล่าวก็เป็นเครื่องกระตุ้นให้เราหันกลับมาทบทวนพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง เพื่อเร่งสร้างภูมิต้านทานของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผ่านการยกขีดจำกัด และพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น