xs
xsm
sm
md
lg

อบต.วังวน จ.ตรัง ลงตรวจสอบปลาในกระชังตายเกลื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - อบต.วังวน และประมงอำเภอกันตัง ลงตรวจสอบพื้นที่บ้านแหลม เพื่อช่วยเหลือกรณีที่พบปลาในกระชังตายเกลื่อน ทำให้เกิดความเสียหายรายละ 2-3 หมื่นบาท หรือรวม 1.2 ล้านบาท

วันนี้ (16 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรัง ว่า นางประภาพรรณ กันตังพันธุ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง ได้เดินทางลงไปยังบริเวณพื้นที่บ้านแหลม หมู่ที่ 3 ต.วังวน เพื่อตรวจสอบความเสียหาย หลังจากที่มีปลากะพง และปลาเก๋าที่เลี้ยงไว้ในกระชังได้ลอยตายเกลื่อน โดยทาง อบต.ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อขอให้ทางสำนักงานประมงอำเภอกันตัง จัดหาพันธุ์ปลามาช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนอย่างหนัก

นายสุรเดช เหล่หมุด หนึ่งในชาวบ้านแหลมที่ประสบภัยในครั้งนี้ กล่าวว่า ตนได้เลี้ยงปลาเก๋า จำนวน 6,000 ตัว แต่ขณะนี้ได้ตายไปแล้ว 3,000 ตัว ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งก็ทยอยตายอย่างต่อเนื่องทุกวัน และคาดว่าจะเหลือปลารอดชีวิตประมาณ 1,500 ตัวเท่านั้น ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ไปประมาณวันละ 2,000 บาท ซึ่งตนเองก็ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และกำลังรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ

ขณะที่ นายน้อย เป้าทอง ชาวบ้านแหลมอีกรายกล่าวว่า ตนได้เลี้ยงปลากะพงขาว จำนวน 2,000 ตัว แต่ขณะนี้ยังมีเหลือแค่เพียง 200 ตัวเท่านั้น ซึ่งปลาที่ตายลงไปจะมีขนาดหนักประมาณตัวละ 1.2-2.0 กิโลกรัม ซึ่งกำลังได้ขนาดเพื่อจับส่งขาย และได้ราคาดีถึงตัวละประมาณ 200 บาท จึงทำให้ชาวบ้านแต่ละรายต้องขาดทุนย่อยยับจนไม่กล้าที่จะลงทุนอีก เพราะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดมาจากการน็อกน้ำ หรือโรคที่มาจากน้ำ

นายบุญครื้น พรเดชอนันต์ ประมงอำเภอกันตัง กล่าวว่า เนื่องจากบริเวณลุ่มน้ำปะเหลียน เป็นจุดรับน้ำจากอำเภอย่านตาขาว และอำเภอปะเหลียน เมื่อปริมาณน้ำจืดมีมากกว่าน้ำเค็ม จึงทำให้ปลาในกระชังเกิดอาการน็อกน้ำตาย ทำให้เกิดความเสียหายรายละ 2-3 หมื่นบาท หรือรวมประมาณ 1.2 ล้านบาท เบื้องต้นได้ให้ทางผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ทำรายงานถึงทางอำเภอ เพื่อประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว

ส่วนแนวทางป้องกันเหตุการณ์ปลาตายที่เคยเกิดขึ้นซ้ำซากมานั้น ทางสำนักงานประมงอำเภอกันตัง จะเรียกแกนนำของชาวประมงพื้นบ้านมาหารือร่วมกัน เพื่อจัดทำรอบปฏิทินในการเลี้ยงว่า ช่วงไหนความเค็มของน้ำอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงสูง เพื่อหลีกเลี่ยง และลดความเสี่ยงในการเลี้ยงปลาในกระชัง หรืออาจจะหาวิธีการเลี้ยงปลาให้ใช้ระยะเวลาที่สั้นลง ซึ่งจะต้องรอผลสรุปต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น