xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ผนึกกำลังขนส่งจังหวัด เฝ้าระวัง-จับ-ปรับ รถโดยสารอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ จับมือขนส่งจังหวัด ร่วมจับตาเฝ้าระวัง สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย จับ-ปรับ รถตู้โดยสารบรรทุกเกิน รถผี พฤติกรรมขับขี่อันตราย เพื่อยกระดับคุณภาพบริการ และเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร พร้อมยื่นข้อเสนอขนส่งจังหวัดคุมเข้มพัฒนาคุณภาพรถรับส่งนักเรียน

เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมโรงแรมเอเชี่ยน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสงขลา และเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ ประกอบด้วย จ.สุราษฎร์ธานี จ.สตูล จ.ปัตตานี และ จ.กระบี่ จัดเวทีสภาผู้บริโภค รถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ครั้งที่ 3 ในชื่อกิจกรรม “ชวนดูหนัง นั่งล้อมวงคุย จับตาสถานการณ์ความ (ไม่) ปลอดภัยของรถสาธารณะภาคใต้ และปัญหาจากคุณภาพบริการ” พร้อมนำเสนอข้อมูลผลการสำรวจ สถานการณ์ปัญหารถโดยสารสาธารณะภาคใต้ โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนนเข้าร่วมงาน ทั้งสำนักงานขนส่งจังหวัด สำนักงาน คปภ. มูลนิธิเมาไม่ขับ และหน่วยกู้ภัยมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี (ท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง)

น.ส.สิรินนา เพชรรัตน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า จากการดำเนินการที่ผ่านมาในระยะเวลา 2 ปี เกี่ยวกับการป้องกันเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้โครงการการมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อรถโดยสารปลอดภัย โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า สถานการณ์ปัญหาเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะในภาคใต้ แยกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ปัญหาด้านคุณภาพบริการ เช่น บรรทุกเกินจำนวน จอดไม่ตรงป้าย พนักงานบริการไม่สุภาพ จำนวนรถไม่เพียงพอต่อการใช้บริการ และปัญหาด้านความปลอดภัย ทั้งจากตัวรถโดยสารเอง คือ รถที่ให้บริการเก่า ชำรุด อายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี ไม่มีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในรถ เช่น ค้อนทุบกระจก ถังดังเพลิง และพนักงานขับรถโดยสารจะมีพฤติกรรมขับรถเร็ว

ส่วนปัญหาที่น่าเป็นห่วง และต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ รถรับส่งนักเรียนที่มีการดัดแปลงจากรถกระบะเป็นรถสองแถว พฤติกรรมโดยสารที่เสี่ยงของนักเรียน ทั้งการโหนท้าย และปีนหลังคารถ ซึ่งจะก่อให้เกิดความรุนแรงหากรถเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานขนส่ง และสถานศึกษาต้องเพิ่มความตระหนัก และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

ขณะเดียวกัน ตัวแทนจากสำนักงานขนส่งจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ทางหน่วยงานเองก็มีการดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยตั้งด่านตรวจ และเปรียบเทียบปรับรถตู้โดยสารสาธารณะ เช่น หากพบว่ามีการบรรทุกเกินจะมีมาตรการ คือ กระทำความผิดครั้งแรกจะปรับ 5,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับ 10,000 บาท แต่หากมีการทำความผิดครั้งที่ 3 ก็จะเพิกถอนใบอนุญาตการเดินรถโดยทันที แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานจะพบปัญหาเกี่ยวกับจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ หากได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคในการแจ้งข้อมูลก็จะเกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากกิจกรรมในครั้งนี้ เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้จะดำเนินการติดตาม เฝ้าระวัง และผลักดันนโยบายอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะต่อไป

 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น