xs
xsm
sm
md
lg

มาแล้ว! “งานประเพณีแข่งโพน-ลากพระ” ร่วมอนุรักษ์สืบสานประเพณีเมืองลุง (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
 


ก่อนที่วันออกพรรษา ประมาณ 1 เดือน วัดวาอารามต่างๆ มักจะทำโพน เพื่อใช้ในกิจกรรมของวัด และที่สำคัญเพื่อนำมาใช้ให้จังหวะการลากพระ (บุษบก) ในวันออกพรรษา โดยพระภิกษุ สามเณร เด็กวัด ตลอดจนชาวบ้านที่อยู่ละแวกวัด จะร่วมแรงร่วมใจทำโพน

“โพน” เป็นภาษาท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุง รูปร่างคล้ายกลองทัด มี 3 ขา ตัวโพนทำโดยการขุด หรือเจาะจากต้นตาลโตนด หรือไม่ก็ไม้ขนุน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 35-100 เซนติเมตร หน้าโพนหุ้มด้วยหนังวัว หรือหนังควาย ทั้ง 2 ด้าน ส่วนไม้ตีโพน มี 2 อัน มักจะใช้ไม้เนื้อแข็ง เนื่องจากว่ามีความทนทาน เช่น ใช้ไม้หลุมพอ

เทคนิคในการทำโพนของแต่ละวัดจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้ทำ การทำโพน จึงมีความสำคัญทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกไม้มาเจาะเป็นตัวโพน การเลือกหนังวัว หรือหนังควายมาหุ้มโพน การหุ้มโพน แต่งโพนเพื่อให้มีเสียงตามความต้องการ

เมื่อแต่ละวัดหุ้มโพนเสร็จใหม่ๆ ก็จะตีเพื่อทดลองเสียงว่าดังไกลแค่ไหน มีเสียงทุ้ม แหลมขนาดไหน จึงเกิดมีการประลองกันแต่ละวัดว่า โพนของวัดไหนดังกว่ากัน อันเป็นที่มาของการแข่งโพน ซึ่งการแข่งโพนจะนิยมแข่งขันในช่วงหัวค่ำ ก่อนออกพรรษา บรรดาศิษย์วัด และชาวบ้านที่อาศัยใกล้วัดจะนำโพนใส่รถเข็น เข็นไปยังจุดนัดหมาย เช่น ตามสีแยกต่างๆ ที่ไป-มาสะดวก ส่วนการตัดสินจะฟังเสียงโพน เมื่อโพนวัดใดดังกว่า จะเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ผู้แข่งขัน หากเสียงโพนของวัดใดดังน้อยกว่า ถือว่าแพ้

ต่อมา เมื่อปี 2523 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุง ได้จัดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นทางการ โดยจัดแข่งขันที่บริเวณสี่แยกเอเชีย บ้านท่ามิหรำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เริ่มมีกติกาในการตัดสิน มีการประกบคู่โดยการจับฉลาก แข่งขันครั้งละ 2 ใบ แพ้คัดออก จนเหลือคู่ชิงชนะเลิศ ส่วนการตัดสิน จะมีคณะกรรมการบนเวทีเพื่อให้ความสะดวก และชี้ขาด สำหรับกรรมการให้คะแนน มี 3 คน จะแยกย้ายไปอยู่คนละจุด โดยห่างจากจุดแข่งขัน 500-1,000 เมตร คอยฟังเสียงโพนที่มีการแข่งขันแต่ละคู่ และส่งคะแนนมายังสนามแข่งขันโดยใช้วิทยุสื่อสาร หลังจากนั้นมีการจัดแข่งขันทุกปี

ต่อมา ในปี 2530 การจัดงานแข่งโพน ได้ผนวกงานลากพระเข้าไปด้วย (งานลากพระจัดในวันออกพรรษา เดิมจัดตามชุมชนต่างๆ 4-5 วัด จะมารวมจุดหนึ่ง) การผนวกงานแข่งขันตีโพน กับงานลากพระเข้าด้วยกัน ใช้ชื่อเรียกว่า “งานประเพณีแข่งโพน-ลากพระ” ขยายเวลาการจัดงานจากเพียงวันเดียว มาเป็น 4 วัน และเลื่อนสถานที่จัดงานจากสี่แยกเอเชีย มาจัดที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง

โดยในปีนี้ นายสุเมธ บุญยก นายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง กล่าวว่า เทศบาลเมืองพัทลุง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ กำหนดจัดงานประเพณีแข่งโพน-ลากพระ ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2556 ระหว่างวันที่ 14-23 ตุลาคม ศกนี้ ณ บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองพัทลุง และบริเวณชายหาดแสนสุขลำปำ ซึ่งในปีนี้จัดให้มีการแข่งโพนรุ่นเยาวชน และรุ่นประชาชน ใน 5 ขนาด คือ โพนเยาวชน โพนขนาดเล็ก โพนขนาดกลาง โพนขนาดใหญ่ และโพนขนาดใหญ่พิเศษ

นอกจากนี้ กิจกรรมภายในงานยังมีการจำหน่ายสินค้าโอทอป สินค้าจากชุมชนทุกวัน และในวันที่ 16 ตุลาคม จะมีพิธีเปิดงานที่ยิ่งใหญ่ พร้อมการประกวดธิดาโพน ส่วนช่วงระหว่างวันที่ 10-13 ตุลาคม จะมีการแข่งขันตีโพนในรอบคัดเลือก ทั้ง 5 ประเภท ณ บริเวณชายหาดแสนสุขลำปำ และจะทำการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม 2556 ณ เวทีกลาง หน้าสำนักงานเทศบาลเมืองพัทลุง

สำหรับในวันที่ 20 ตุลาคม ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันออกพรรษา ในภาคเช้ามีพิธีตักบาตรเทโว ที่สำนักวิปัสสนาวังสันติบรรพต หรือวัดเขาวังเนียง จากนั้นเรือพระจากวัดต่างๆ จะไปร่วมชุมนุมที่หาดแสนสุขลำปำ ซึ่งมีทั้งเรือพระแบบโบราณที่ใช้ท่อนไม้ หรือเรียกว่าลานม้า และเรือพระที่ใช้รถยนต์เป็นฐานลาก โดยทางเทศบาลจะมีการประกวดเรือพระทั้ง 2 ประเภท นอกจากนั้นมีการแข่งซัดต้ม การแข่งเรือพาย เลือกซื้อสินค้าตลาดน้ำในคลองลำปำ

จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยวเที่ยวงานประเพณีแข่งโพน-ลากพระ จังหวัดพัทลุง ประจำปี 2556 เพื่อร่วมกันสืบสานประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองการศึกษา เทศบาลเมืองพัทลุง โทรศัพท์ 0-7461-6209

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น