"ประเพณีถือศีลกินผัก" หรือ ที่ชาวภูเก็ตเรียกกันว่า “เจี๊ยะฉ่าย” เป็นที่เลื่อมใส ศรัทธา ของชาวภูเก็ต ที่ยึดถือปฏิบัติกันมาช้านานแล้ว โดยทุกๆปี ของวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 10 ชาวภูเก็ตจะร่วมใจกันปฏิบัติตัวถือศีลกินผักอย่างเคร่งครัด เพื่อความเป็นสิริมงคลกับตัวเองและครอบครัว รวมทั้งเพื่อร่วมกันสืบสานประเพณีอันดีงามให้คงอยู่ตลอดไป
โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 13 ตุลาคม 2556 และจะมีพิธียกเสาโกเต้ง สัญลักษณ์การเริ่มต้นประเพณีถือศีลกิน ในเวลา 17.00 น. ของวันที่ 4 ตุลาคม 2556 นี้
ประเพณีถือศีลกินผัก ได้เริ่มขึ้นครั้งแรกที่หมู่บ้านในทู ซึ่งเป็นบ้านกะทู้ ต.กะทู้ จ.ภูเก็ต ในปัจจุบัน คนจีนเหล่านั้นได้อพยพเข้ามาทำเหมืองแร่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา (ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) มีการค้าขายแร่ดีบุกกับปอร์ตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น คนจีนเหล่านั้นได้หลั่งไหลเข้ามามากที่สุดก่อนปี พ.ศ.2368 ถือหลังจากเมืองภูเก็ต และเมืองถลาง ถูกพม่ารุกรานเมื่อปี พ.ศ.2352 พลเมืองได้กระจัดกระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ
ครั้นพระยาถลางได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองถลาง และได้ก่อตั้งเมืองภูเก็ตที่บ้านเก็ตโฮ่ ให้พระภูเก็ตมาเป็นเจ้าเมือง (ระหว่าง พ.ศ.2368 - 2400) พื้นที่รอบๆ ในทู (กะทู้) อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ดีบุก ทำให้คนจีนหลั่งไหลเข้ามาขุดแร่ดีบุกเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนที่อพยพมาจากเมืองถลางที่กระจัดกระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ และที่อพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน ซัวเถา และเอ้หมึง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน หมู่บ้านในทูสมัยนั้นยังเป็นป่าทึบ มีไข้ป่า ตลอดจนภัยอันตรายต่างๆ จากสัตว์ป่ามากมาย แต่คนจีนและผู้คนในเมืองในทูกับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีแร่ดีบุกอุดมสมบูรณ์ที่เลื่องลือไปทั่วโลก
คนจีนที่อยู่ในทูสมัยนั้น มีความเชื่อและศรัทธาในเรื่องเทพพระเจ้าประจำตระกูลหรือเทพพระเจ้าที่คุ้มครองประจำหมู่บ้าน เช่น เทพยดาฟ้าดิน เซียนต่างๆ รวมถึงบรรพบุรุษของตนเองมาก่อนแล้ว เมื่อมีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นจึงได้และองค์เทพที่นับถือบูชากราบไหว้มาคุ้มครองปกป้องรักษา
ต่อมาได้มีคณะงิ้ว หรือ เปะหยี่หี่ ที่ได้เดินทางมาจากประเทศจีนมาเปิดแสดงที่บ้านในทู คณะงิ้วนี้สามารถแสดงอยู่ได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากเศรษฐกิจของชาวในทู และกรรมกรจีน รวมถึงร้านค้ามีรายได้ดีมาก หลังจากที่คณะงิ้วให้เปิดแสดงอยู่ที่บ้านในทูระยะหนึ่ง ได้เกิดมีการเจ็บป่วยเป็นไข้ และจากการเจ็บป่วยในครั้งนั้นทำให้คณะงิ้วนึกขึ้นได้ว่าพวกตนไม่ได้ประกอบพิธี “เจี๊ยะฉ่าย” (กินผัก) ซึ่งเคยปฏิบัติมาทุกปีที่เมืองจีน จึงได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายขึ้น ที่โรงงิ้วแห่งนั้น เพื่อขอขมาลาโทษด้วยสาเหตุต่างๆ ต่อมาโรคภัยไข้เจ็บก็หายไปหมดสิ้น เรื่องนี้สร้างความประหลาดใจให้กับชาวในทูเป็นอันมาก จึงได้สอบถามจากคณะงิ้วและได้คำตอบว่าพวกเขาได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายแบบย่อๆ เนื่องจากไม่มีผู้รู้และผู้ชำนาญในเรื่องการประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายเพียงสักการบูชากราบไหว้ขอขมาโทษ ระลึกถึงองค์กิ้วอ๋องต่ายเต่ หรือ พระราชาธิราชทั้งเก้าพระองค์นั้นเอง คณะงิ้วยังได้แนะนำชาวจีนในทูต่อไปว่า การเชิญเทพพระเจ้ามาสักการบูชาเพื่อปกป้องตนเอง ครอบครัว และท้องถิ่น เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขตามที่ได้ปฏิบัติกันมาแล้ว เป็นสิ่งที่ดีแต่จะให้ดียิ่งขึ้นก็ควรจะเจี๊ยะฉ่ายถือศีลไปด้วย
การเจี๊ยะฉ่ายไม่จำเป็นต้องปฏิบัติให้ครบทั้ง 9 วัน จะเจี๊ยะฉ่ายกี่วันก็ได้ตามแต่ศรัทธา ชาวในทูและคนจีนส่วนใหญ่มีความเชื่อและเลื่อมใสได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะงิ้ว โดยได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายในปีต่อมา ประเพณีเจี๊ยะฉ่ายของเมืองภูเก็ตจึงเกิดขึ้นครั้งแรกที่ในทู ต่อมาจึงได้แพร่หลายออกไปตามสถานที่ต่างๆ
ก่อนคณะงิ้วจะย้ายไปทำการแสดงที่อื่น ได้มอบรูปพระกิ้มซิ้น (เทวรูป) เล่าเฮี๋ย (เตียนฮู้หง่วนโส่ย) ส่ามไถ้จือ และได้ให้คำแนะนำแก่ชาวจีนเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมโดยย่อๆ ต่อมามีท่านผู้รู้จากมณฑลถังใส (เจียงซี้ของประเทศจีนในปัจจุบัน) ได้เดินทางมาประกอบอาชีพที่ในทู ได้เห็นการประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายของชาวจีนที่ไม่ถูกต้องตามแบบฉบับของฉ้ายตึ้ง (ศาลเจ้าในมณฑลกังไส) จึงได้แจ้งให้ชาวจีนในทูทราบว่าตนยินดีรับอาสาเดินทางกลับไปมณฑลกังไสของประเทศจีน เพื่อไปเชี้ยเหี้ยวโห้ย (อัญเชิญธูปไฟ) และองค์ประกอบสำหรับพิธี แต่ไม่สามารถเดินทางไปได้เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ ชาวจีนในทูจึงได้ร่วมมือร่วมใจกันรวบรวมทุนทรัพย์ให้กับผู้รู้ท่านนี้ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปมณฑลกังไส
อีก 2-3 ปีต่อมา ในระหว่างที่ชาวจีนในทูประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายแบบย่อๆ จนถึงวันขึ้น 7 ค่ำ (วันเก้าโง้ยโฉ่ยฉีด) ตามปฏิทินจีน เวลากลางคืน เรือใบจากประเทศจีนได้เดินทางมาถึงหัวท่าบ่างเหลียว (บางเหนียวในปัจจุบัน) ท่านผู้รู้ได้เดินทางกลับมากับเรือใบลำนี้ด้วยและได้ส่งคนมาแจ้งข่าวให้ชาวจีนในทูทราบว่า บัดนี้ตนได้เดินทางกลับจากประเทศจีนมาถึงหัวท่าบางเหลียวพร้อมเชี้ยเหี้ยวเอี้ยน (ผงธูป) มาด้วยแล้ว ขอให้คณะกรรมการกับผู้ที่ร่วมประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายไปต้อนรับที่หัวบ่างเหลียวในวันเก้าโง้ยโฉ่ยโป๊ยคือวันรุ่งขึ้น
เหี้ยวโห้ย หรือ เหี้ยวเอี้ยนที่นำมาจากมณฑลกังไส ได้จุดปักไว้ในเหี้ยวหล๋อ(กระถางธูป) โดยจุดธูปให้ติดตลอดระยะทางมิให้ดับ นอกจากนี้ยังได้นำแก้ง(บทสวดมนต์,คัมภีร์,ตำราต่างๆ พร้อมทั้งป้ายชื่อเต้าโบ้เก้ง ป้ายติดหน้าอ๊ามฉ้ายตึ้ง)
ปัจจุบันประเพณีเจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ของชาวภูเก็ตได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาทุกปีนับเวลาได้ หลายร้อยปีแล้วซึ่งถือว่าเป็นประเพณีอันดีงามของชาวภูเก็ต
สำหรับพิธีกรรมต่างๆในประเพณีถือศีลกินผัก ที่ศาลเจ้าต่างๆ ประกอบพิธี ประกอบด้วย
พิธีบูชาพระในวันแรกของพิธีจะมีการบูชาพระด้วยเครื่องเช่นต่างๆ ทั้งอ๊าม (ศาลเจ้า) และตามบ้านของผู้กินผัก เมื่อกินผักได้ครบ 3 วัน ถือว่าผู้นั้นสะอาด บริสุทธิ์ หรือที่เรียกว่า เช้ง
พิธีโขกุ้น (พิธีเลี้ยงอาหารทหารที่รักษาบริเวณปริมณฑล)เป็นพิธีการเลี้ยงทหาร ซึ่งจะทำพิธีในวันที่ 3 วันที่ 6 และวันที่ 9 ของงานประเพณีหลังเที่ยงหรือประมาณ 15.00 น. พอเริ่มพิธีจะต้องมีการเตรียมอาหารและเหล้าสำหรับเซ่นสังเวยเลี้ยงทหาร และมีหญ้าหรือพวกถั่ว เพื่อเป็นอาหารของม้า
พิธีซงเก้ง เป็นการสวดมนต์ โดยจะเริ่มทำการสวดมนต์ตั้งแต่เมื่อพระกิ๊วฮ๋องไต่เต้ เข้าประทับในอ๊ามหรือศาลเจ้า ทำพิธีสวดวันละ 2 ครั้ง เป็นลักษณะการสวดมนต์เช้าและสวดมนต์เย็น โดยเฉพาะกลางคืนหลังจากสวดมนต์ซึ่งใช้บทสวด คือ ปักเต้าเก็ง ก็จะมีการถากซ้อคือการอ่านรายชื่อของผู้ที่เข้าร่วมกินผัก ซึ่งอ่านต่อหน้าแท่นบูชาองค์กิ้วฮ๋องไต่เต่เป็นลักษณะการกล่าวรายงานผู้ถือศีลกินผัก
พิธีป้ายชิดแช้ (พิธีบูชาดาว) จะทำในคืนวัน 5 ค่ำ เพื่อขอให้ช่วยคุ้มครอง ในพิธีนี้จะมีการนำฮู (กระดาษยันต์) แจก
พิธีอิ้วเก้ง เป็นการออกประพาสเพื่อโปรดสัตว์หรือทำนองออกเยี่ยมราษฎรของพระมหากษัตริย์โดยมีขบวนธง และป้ายชื่อแห่นำหน้า จากนั้นก็เป็นเกี้ยวหามธูปพระเรียกว่า ไท่เบี๋ย หรือเสลี่ยงเล็ก โดยหามธูปพระบูชาต่างๆ ออกนั่งเกี้ยวไปซึ่งจัดตามชั้นและยศของเทพ จากนั้นเป็นขบวนของนิ่วสิ่ว (ฉัตรจีน) ตามด้วยพระเกี้ยวใหญ่หรือตั่วเหลี้ยน (เสลี่ยงใหญ่) ซึ่งมักจะใช้คน 8 คนหาม ซึ่งเป็นที่ประทับองค์กิ้วฮ๋องไต่เต่ ในขณะที่ขบวนแห่ผ่านไป ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้านและจุดประทัดต้อนรับขบวนเมื่อผ่านมาถึง
พิธีโก้ยโห้ย (พิธีลุยไฟ) กองไฟถือเป็นสิ่งศักดิ์ในแง่ความศักดิ์สิทธิ์เป็นการแสดงถึงอิทธิฤทธิ์ที่บังคับไฟไม่ให้ร้อนหรืออาจถือว่าเป็นไฟทิพย์ ใช้ชำระความสกปรกของร่างกายให้บริสุทธิ์ โดยลุยทั้งคนทรงเจ้าที่กำลังประทับทรงหรือประชาชนโดยทั่วไป
พิธีโก้ยห่าน (พิธีสะเดาะเคราะห์) ทำหลังพิธีลุยไฟ ให้ผู้ที่ต้องการสะเดาะเคราะห์ตัดกระดาษเป็นรูปตัวเอง พร้อมเหรียญ 25 สตางค์และต้นกุ๊ยฉ่าย 1 ต้น นำมาที่อ๊ามแล้วให้ม้าทรง (ผู้ประทับทรง) ประทับตราด้านหลังของเสื้อที่ใส่ เรียกว่า ต๊ะอิ่น
พิธีส่งพระ ทำในวันสุดท้ายของการถือศีลกินผัก ตอนกลางคืนจะมีการส่งองค์หยกฮ๋องซงเต่ (พระอิศวร) และองค์กิ๊วฮ๋องไต่เต่ (ผู้ใหญ่ทั้งเก้า/จักรพรรดิ์) ซึ่งมักส่งกันที่หน้าเสาโกเต้งก่อนห้าทุ่ม มีการส่งองค์กิ๊วฮ๋องไต่เต่กลับสวรรค์ ณ บริเวณชายทะเลสะพานหิน เมื่อขบวนส่งพระออกพ้นประตู ไฟทุกดวงในอ๊ามต้องดับสนิทและปิดประตูใหญ่
ข้อควรปฏิบัติ 10 ประการ สำหรับผู้ถือศีลกินผัก
ชำระร่างกายให้สะอาดตลอดช่วงงานประเพณี,ทำความสะอาดเครื่องครัวและแยกเครื่องใช้คนละส่วนกับผู้ที่ไม่ได้ถือศีลกินผัก,ควรสวมชุดขาวตลอดช่วงงานประเพณี,ประพฤติตนดีทั้งกายและถูกใจ,ห้ามบริโภคเนื้อสัตว์,ห้ามมีเพศสัมพันธ์ในช่วงงานประเพณี,ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา,ผู้ที่อยู่ระหว่างไว้ทุกข์ไม่ควรร่วมงานประเพณี,หญิงมีครรภ์ไม่ควรดูพิธีกรรมใดๆ ในช่วงงานประเพณี และหญิงมีประจำเดือนไม่ควรร่วมพิธีกรรมใดๆ
พิธีแห่พระรอบเมืองของศาลเจ้าต่างๆ หรือ พิธีอิ้วเก้ง
เริ่มในวันที่ 06 ตุลาคม 2556 ศาลเจ้าฮุนจงอ๊าม จ้อสู่ก้งนาคา วันที่ 07 ตุลาคม 2556 ศาลเจ้าสะปำ วันที่ 08 ตุลาคม 2556 ศาลเจ้าสามกอง และ ศาลเจ้าเชิงทะเล (บ้านม่าหนิกและบ้านเชิงทะเล)วันที่ 09 ตุลาคม 2556 ท ศาลเจ้าบ้านท่าเรือ และศาลเจ้าเจ่งอ๋อง (ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต) ศาลเจ้าเต้กุ๊นไต่เต่ (บ้านป่าสัก-ตลาดบ้านดอน) ศาลเจ้าฮุนจงอ๊าม จ้อสู่ก้งนาคา (แห่พระรอบหมู่บ้าน)
วันที่ 10 ตุลาคม 2556 ศาลเจ้าบางเหนียว ศาลเจ้าเชิงทะเล (ในเขตอำเภอถลาง) ศาลเจ้ากิ๊มซืออ๋องเก้ง (พิธีแห่พระบ้านไม้ขาว) วันที่ 11 ตุลาคม 2556 ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย ศาลเจ้ากิ๊มซืออ๋องเก้ง (หมู่บ้านเคียน หมู่บ้านสาคู หมู่บ้านในยาง สนามบินและหมู่บ้านเมืองใหม่) วันที่ 12 ตุลาคม 2556 ศาลเจ้ากะทู้ และศาลเจ้ายกเค่เก้ง ซอยพะเนียง ศาลเจ้าบ้านท่าเรือ (ในเขต อ.ถลาง) และวันที่ 13 ตุลาคม 2556 ศาลเจ้าซุ่ยบุ่นต๋อง หล่อโรง
ในช่วงเทศกาลถือศีลกินผักภูเก็ต ตลอด 9 วันนี้ บริเวณศาลเจ้าต่างๆ และตัวเมืองภูเก็ต ที่ขบวนแห่พระรอบเมืองผ่าน จะมีการประดับประดาตกแต่งด้วยธงทิวสัญลักษณ์ประเพณีถือศีลกินผักอย่างสวยงาม มีร้านจำหน่ายอาหารเจหน้าศาลเจ้า และตามร้านอาหารทั่วไปที่จะปรับเปลี่ยนมาขายอาหารเจเต็มทั้งเมือง ขณะที่ประชาชนชาวภูเก็ตเองก็พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อผ้าสีขาว ทำให้บรรยากาศในภูเก็ตอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของการถือศีลกินผัก นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ สามารถเดินทางร่วมประเพณีอันดีงามนี้ได้ตลอด 9 วัน