ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สปพ.ภูเก็ต จัดเสวนา “แนวทางการมีส่วนร่วมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาภูเก็ต” แนะดึงภาคเอกชนเข้าพัฒนาการศึกษา ร่วมภาครัฐ และท้องถิ่น ด้าน อบจ.ภูเก็ต เตรียมอัดฉีดงบการศึกษาหวังต่อยอดคุณภาพเยาวชน มุ่งแข่งขันสู่ระดับอาเซียน รองรับ AEC
วันนี้ (30 ก.ย.) ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ภูเก็ต จัดประชุมเสวนาการมีส่วนร่วม เรื่อง “แนวทางการมีส่วนร่วมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต” เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาท และมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานจากการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่าง สพป.ภูเก็ต และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมี นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายบัณฑูร ทองตัน ประธานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต และนายชลำ อรรถธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต ร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนา และมีผู้บริหาร/ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้บริหารโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต เข้าร่วม
ทั้งนี้ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ยังได้เป็นประธานในพิธีมอบเงินสนับสนุนโครงการอิสลามศึกษา จำนวน 97,6000 บาท โครงการจ้างครู จำนวน 42,423,750 บาท และสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมอาคารเรียน อีกจำนวน 7,862,400 บาท ให้แก่ทาง สปพ.ภูเก็ต ด้วย
นายชลำ อรรถธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต กล่าวว่า การบริหารจัดการศึกษานั้นไม่ใช่เป็นภารกิจของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง กฎหมายการศึกษาทุกฉบับก็ยังกำหนดไว้ว่าการจัดการศึกษานั้นจะต้องเป็นไปโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับ ปี พ.ศ.2542 และที่แก้ไขมาจนถึง พ.ศ.2554 ถึงจะแก้ไขอย่างไร แต่ทุกฉบับก็ต้องมีหลักการว่า การจัดการศึกษาจะต้องเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และยังระบุชัดเจนว่า ภาคส่วนที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมมีอะไรบ้าง ซึ่งมีทั้งบุคคล และองค์กร
“เราจะต้องจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดแก่ผู้เรียน ใน 3 เรื่องด้วยกัน คือ ผู้เรียนจะต้องเก่ง ดี และมีความสุข แต่การทำงานโรงเรียนจะเดินไปไม่ได้เลย ถ้าสิ่งเหล่านี้สังคมไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ถ้าเราคิดว่าทุกคนมีหน้าที่แล้ว ตนก็เชื่อว่าสิ่งที่เราจะเริ่มดำเนินการก็คือ มาพูดคุยว่าเราจะลงมือปฏิบัติ จะช่วยกันอย่างไร โดยให้รู้สึกว่าโรงเรียนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นด้วย” นายชลำ กล่าวและว่า
ขณะที่ นายบัณฑูร ทองตัน ประธานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ถ้าเราจะพัฒนาการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต ต้องได้รับความร่วมมือจากคนภูเก็ตทุกภาคส่วน ทุกโรงเรียนในจังหวัดภูเก็ต โรงเรียนไหนที่มีความร่วมมือของผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา ศิษย์เก่า โรงเรียนนั้นก็จะสามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามาดูในภาพกว้าง จังหวัดไหนก็ตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกระโดดเข้ามาเล่นเรื่องของการศึกษา จังหวัดนั้นก็จะมีทิศทางการศึกษาที่ดีกว่าที่อื่น ภูเก็ตก็เช่นเดียวกัน อบจ.ภูเก็ต ให้การสนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษามาโดยตลอด
“วันนี้ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่นำร่องในหลายๆ เรื่อง เรื่องแรกที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาคือ เราเป็นจังหวัด 1 ใน 5 ของประเทศที่นำร่องเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ปัจจุบันนี้เราก้าวหน้ามาถึงขนาดที่ว่าคนในกระทรวงการศึกษาต้องหันมาดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น นอกจากที่ฟังมาตลอดว่า อบจ.ภูเก็ต ได้สนับสนุนงบประมาณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต สนับสนุนงบประมาณในเรื่องการจัดการศึกษามากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ แต่วันนี้เราเพิ่มพลังมากขึ้นไปอีก ตนจึงได้กล้าพูดกับสื่อว่า ถ้าหากว่าคนภูเก็ตร่วมมือกัน สิงคโปร์กับเราขนาดเกาะก็เท่ากัน สิงคโปร์ก้าวหน้าเป็นผู้นำได้ เพราะเขาปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง เขาทำทุกวิถีทางที่จะพัฒนาการศึกษา เขาเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนใหม่ด้วยระบบ “โค้ชชิ่ง” แล้วเราจะพัฒนาการศึกษาของเราให้ก้าวหน้าแบบสิงคโปร์ ทำไมเราจะทำไม่ได้ ถ้าคนภูเก็ตให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง” นายบัณฑูร กล่าว
ด้าน นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า การศึกษาภูเก็ตจะรองรับสู่อาเซียนได้นั้นตนคิดว่านอกจากการจัดการศึกษาแล้ว เรื่องหลักสูตรท้องถิ่นก็เป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากเราอยู่ด้วยการท่องเที่ยว การรักษาสิ่งแวดล้อม เราต้องสอนเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด การสร้างเครือข่ายในการมีส่วนร่วม เป็นการช่วยกระทรวงศึกษา ช่วยท้องถิ่นด้วย ขอให้ร่วมมือกัน ต่างฝ่ายต่างทำเหมือนอดีตไม่ได้แล้ว ขอให้สะท้อนปัญหามาให้ได้ แล้วก็หาข้อเสนอแนะว่า แต่ละภาคส่วนควรมีส่วนร่วมอย่างไร
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ในการประชุมครั้งต่อไปอยากให้ดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะในอดีตที่ผ่านมา ภูเก็ตขับเคลื่อนโดยเอกชนเป็นหลัก เอกชนให้การศึกษามาโดยตลอด เพราะฉะนั้น จะลืมไม่ได้ เราจะมุ่งแต่งบประมาณของรัฐเป็นไปไม่ได้ สิงคโปร์พัฒนาการศึกษาใช้ประมาณ 3 แสนล้าน อบจ.ใช้งบปีนี้ 300 ล้าน รวมกันทั้งจังหวัดทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท ถือเป็นมวยคนละรุ่น สิงคโปร์ตอนนี้เขาไม่มองว่าจะเข้าสู่อาเซียน แต่เขามองเลยอาเซียนไปแล้ว แต่ของเราแค่มองว่าอีก 2 ปีข้างหน้าเราจะเข้าอาเซียนอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นอีกขาหนึ่ง นอกเหนือจากภาครัฐ และท้องถิ่น ก็จะรวมเป็น 3 ขา คิดว่าถ้าร่วมเดินด้วยกันเราจะแก้ปัญหาได้ ซึ่งตนก็คิดว่าภาคเอกชนยินดีที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา และในการประชุมครั้งต่อไป ตนจะเชิญภาคธุรกิจท่องเที่ยวร่วมประชุมด้วย เพื่อให้รู้ว่าปัญหาของเรามีเยอะจริงๆ ซึ่งเราต้องคิดใหม่ มองแบบเดิมไม่ได้แล้ว ทำยังไงทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เราต้องพร้อม ถ้าเราจะไปสู่อาเซียนเพื่อแข่งกับประเทศอื่น