- แดดเช้าฉายแสง -
ทันทีที่คณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2554 ประกาศชื่อหนังสือที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทยประจำปีนั้น ชื่อ ‘จเด็จ กำจรเดช’ ก็กระจายไปในวงกว้างพร้อมๆ กับหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ชื่อยาวเหยียดว่า “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ”
2 ปีผ่านไป... คณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2556 ประกาศชื่อเขาอีกครั้งในฐานะเจ้าของผลงานกวีนิพนธ์ 1 ใน 7 เล่มที่ผ่านเข้ารอบตัดสิน (Short List) รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2556 “ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า” คือหนังสือเล่มนั้น
“เป็นกวีที่มีลักษณะแบบเรื่องสั้น” สถาพร ศรีสัจจัง หรือ ‘พนม นันนทพฤกษ์’ นายหัวแห่งวงการนักเขียนปักษ์ใต้ ผู้ควบตำแหน่งศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2548 จำกัดความหนังสือ ‘ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า’ ที่รวบรวมบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ของจเด็จ กำจรเดช ไว้แบบนั้น ก่อนจะยกตัวอย่างงานเขียนชื่อ “รวมตัวกันที่งานเลี้ยง (เรื่องเล่าขนาด 14 ตอนจบ)” เพื่อขยายความประโยคข้างต้น
- ขอบฟ้าของ ‘จเด็จ’ -
“เป็นชาว อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี” นักเขียนหนุ่มเริ่มต้นแนะนำตัวเอง ก่อนจะเล่าต่อว่า หลังจากจบชั้น ม.3 ของโรงเรียนประจำอำเภอ เขาก็ได้โควตาเรียนต่อที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช รั้วเดียวกับกวี และศิลปินเลือดปักษ์ใต้อีกหลายๆ คน และเลือกปักหลักอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช มาจนถึงปัจจุบัน
“มาเรียนที่นครฯ 3 ปี หลังจากเรียนจบก็มีเพื่อนๆ ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ บ้าง แต่เราไม่ไป เพราะรู้จักคนที่นี่ เขาเขียนป้าย เขียนการ์ตูน เราก็ไปช่วยเขา ก็กลายเป็นว่าอยู่นครฯ ยาวเลย ระหว่างนั้นก็ย้ายไปที่อื่นบ้าง ไปตรงโน้นตรงนี้สักปี สองปี แต่ยังไงก็ต้องกลับมานครฯ สุดท้ายก็กลายเป็นคนนครฯ จริงๆ”
จุดเริ่มต้นการเขียนหนังสือของเขาก็ดูเหมือนจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการหาข้อมูลเพื่อนำมาเขียนการ์ตูน
“ปกติก็เป็นคนอ่านหนังสืออยู่แล้ว พอเขียนการ์ตูนก็ไปหาหนังสือสนุกๆ มาอ่าน พวกเรื่องสั้นแปล นวนิยายแปล เรื่องสั้นหักมุมต่างๆ อ่านไปก็สนุกดี มีเป็น 10 เล่ม 20 เล่ม” และก็คงเช่นเดียวกับหนอนหนังสือคนอื่นๆ เมื่ออ่านเยอะ ก็ย่อมอยากจะเขียนเองบ้าง แต่จเด็จย้ำว่าตอนนั้นเขาไม่ได้คิดอยากจะเป็นนักเขียน เขาแค่อยากแต่งเรื่อง และเขียนมันออกมาบ้างเท่านั้นเอง
“ส่วนใหญ่เขียนเป็นเรื่องสั้น พยายามเขียนให้เป็นเรื่องสั้นหักมุม แต่โดยการรับรู้ของสังคมบ้านเรา เรื่องสั้นหักมุมมักจะถูกจัดอยู่ในประเภทบันเทิง พื้นที่ของเรื่องสั้นพวกนี้ก็จะน้อย พอลงมือเขียนเราก็ต้องเขียนแบบเรื่องสั้นเชิงสร้างสรรค์ ต้องมีเนื้อหาสะท้อนสังคมบ้าง พูดถึงมนุษย์ในแง่ของการอยู่ร่วมกันบ้าง แต่ก็อยู่บนพื้นฐานที่เราเป็นมาแต่เดิมแล้ว เราคิดแบบนั้น รู้สึกแบบนั้น ฟังเพลงแบบนั้น
โดยธรรมชาติมันต้องสะท้อนสังคม ไม่ว่าเราจะเขียนเรื่องสั้นหักมุมเพื่อจะเน้นความสนุกอย่างเดียว แต่โดยพื้นฐานความคิดของเรา เราสนใจการอยู่ร่วมกันของคน สนใจปัญหา ก็ต้องหยิบประเด็นใดประเด็นหนึ่งมาเขียนอยู่แล้ว มันหลีกไม่พ้น แต่ก็ไม่ได้เรียกว่าเป็น “เพื่อชีวิต” หรืออะไร
คำว่า “เพื่อชีวิต” มันถูกเรียกขึ้นมาเพื่อรวมกลุ่มให้เรียกง่าย และเห็นชัดเจนโดยที่ไม่ต้องอธิบายเจาะลึกมาก งานเขียนยุคแรกๆ ก็ถือว่าเป็นเพื่อชีวิตไปแล้วกัน แต่ตอนหลังๆ มันกลายเป็นอย่างอื่น”
- “การ์ตูน” แปลงร่างเป็น “ข้อความ” -
“เขียนนิยาย เขียนการ์ตูนด้วย เป็นการ์ตูนเล่มละบาท ส่งไปพิมพ์ที่กรุงเทพฯ เขียนประมาณ 10-20 เรื่องในช่วงเวลาไม่เกิน 5 ปี แต่ไม่ได้เขียนทั้งปี มีอยู่ปีหนึ่งที่ยึดอาชีพเขียนการ์ตูน และระหว่างที่เขียนการ์ตูนก็ทำงานอื่นไปด้วย เขียนป้านเขียนอะไร เพราะเขียนการ์ตูนอย่างเดียวมันอยู่ไม่ได้” เขาเล่า
คงคล้ายกับประโยคที่ว่า “You are what you eat” เมื่ออ่านหนังสือสะท้อนสังคมมาก นักเขียนการ์ตูนหนุ่มก็สะท้อนดอกผลออกมาเป็นการ์ตูนสะท้อนสังคมด้วย แต่น่าเสียดายที่การ์ตูนยอดนิยมในช่วงเวลานั้นมักจะผูกโยงอยู่กับเรื่องผีๆ
“การ์ตูนเล่มละบาทนี่เป็นภาพแทนของการ์ตูนผี ก็เลยต้องหาเรื่องผีมาเขียน เขียนการ์ตูนผีได้สัก 3-4 เรื่อง เขียนจนไม่รู้จะหาผีที่ไหนมาเขียนให้ เราก็อยากจะเขียนเรื่องที่สะท้อนสังคมอะไรพวกนี้ออกมา แต่การ์ตูนมันไม่เปิดโอกาสให้เราทำแบบนั้น ก็เลยเลิกเขียนการ์ตูน แล้วมาเขียนเป็นเรื่องสั้น เขียนอยู่หลายปีกว่าจะมาเจอนักเขียนจริงๆ คุณธัช ธาดา คุณกนกพงศ์ คุณสมใจ สมคิด พอเรามาเจอ เราก็เอาต้นฉบับให้เขาดู เขาก็ดูให้ว่างานมันผ่าน หรือมันต้องปรับปรุงแก้ไขยังไง ประมาณปี 2544-2545 ก็เขียนออกมาเป็นเรื่องแล้วได้ลงตีพิมพ์”
ในเมื่อวาดรูปก็ได้ เขียนหนังสือก็ได้ จึงเกิดคำถามว่าในบรรดาทักษะเหล่านี้เขาชอบอะไรมากกว่ากันแน่
“น่าจะชอบเขียนหนังสือมากกว่า” เหมือนนักเขียนหนุ่มเองก็ไม่ค่อยแน่ใจในคำตอบ ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า เขาชอบเขียนหนังสือมากกว่าเขียนรูป แต่ไม่นับรวมการเขียนการ์ตูน เนื่องจากชอบเขียนการ์ตูนมากกว่า และเมื่อลงมือเขียนจริงๆ นั้น การ์ตูนมีรายละเอียดเยอะกว่าการเขียนหนังสือมาก
การพูดคุยออกรสมากขึ้นเมื่อชวนกันพูดถึง “แอนิเมชัน”
คล้ายๆ ตาคู่นั้นมีประกายความสุข นักเขียนหนุ่มเล่าว่า เขาชอบดูการ์ตูนแอนิเมชันมาก และมักจะสังเกตท่วงท่าการเคลื่อนไหวของตัวการ์ตูนอย่างละเอียดเสมอๆ
“เรารู้ว่าสำหรับการเขียนการ์ตูนเคลื่อนไหว สิ่งที่ยากที่สุดคือ ปาก ซึ่งต้องพูดให้เป็นคำด้วย ไม่ใช่แค่ขยับปากขึ้นลง รูปปากมันต้องเหมือนกับคำที่พูดจริงๆ ด้วย เหมือนเวลาคนพูดจริงๆ เราก็จะไปตามดูตรงนั้นแหละ”
นักเขียนหนุ่มเล่าต่อว่า เขาชอบดูการ์ตูนแอนิเมชันมาก อาจถึงถึงขั้นเรียกได้ว่าแฟนพันธุ์แท้ เขาชอบแอนิเมชันของพิกซาร์หลายเรื่อง แต่ชอบ The Incredibles มากที่สุด
“เป็นเรื่องของฮีโร่ที่หลบซ่อนตัว ซึ่งมันอยู่ในความสนใจพอดีว่ามันมีมนุษย์บางจำพวกที่ต้องหลบต้องซ่อน มันอาจจะเป็นภาพแทนของจิตใจก็ได้ มันอาจจะไม่ใช่ฮีโร่ที่มีพลังความสามารถพิเศษจริงๆ มันอาจจะเป็นสำนึกของคนที่เป็นคนดี อยากทำดี มันอยู่ข้างใน เป็นสัญลักษณ์”
และการ์ตูนก็ส่งอิทธิพลต่องานเขียนอย่างชัดเจนด้วย
“การดำเนินเรื่องของเรื่องสั้น มีลักษณะของการ์ตูน หรือหนังอยู่ บางทีอาจจะคิดเป็นกรอบ เป็นช่องเหมือนการ์ตูน มันมีวิธีคิดแบบนั้นอยู่ มั่นใจว่ามันมีความเป็นการ์ตูน เป็นหนัง อย่างน้อยก็ตัวละคร ถ้าเป็นไปได้ทุกครั้งก็จะสร้างตัวละครให้มีความเป็นการ์ตูนอยู่ คือมีความเหนือจริง ไม่ปกติ บรรยากาศอะไรต่างๆ ก็จะเหนือจริง ความไม่สมจริงพวกนั้นน่าจะปรากฏง่ายในการ์ตูน ถ้าเป็นการ์ตูนเราจะทำยังไงก็ได้ เพราะมันเป็นโลกเฉพาะ ตัวละครจะเป็นแบบไหนก็ได้ แต่พอเป็นเรื่องสั้น เราต้องอธิบายให้คนอ่านเชื่อได้ว่าตัวละครแบบนี้มันมีอยู่”
- สเตตัส “กวี” -
“แล้วมาเขียนกวีตอนไหน?” กวีหนุ่มยิ้มกว้างให้คำถามนี้
“กวีนี่สนุกมาก” เขาเปิดฉากด้วยเสียงหัวเราะ “ถ้านับสิ่งที่เขียนอยู่ปัจจุบัน คือ พวกกลอนเปล่า (กวีไร้ฉันทลักษณ์) ว่าเป็นกวี ก็น่าจะเขียนตั้งแต่ตอนที่เริ่มเขียนใหม่ๆ แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เขียนนั้นเป็นกลอนเปล่า ไม่รู้ว่ามันเรียกว่าบทกวีได้ เพราะเมื่อก่อนเวลาจะเขียนกวี เราจะเขียนเป็นฉันทลักษณ์ แต่พอเขียนฉันทลักษณ์ไม่ได้ เราก็ล้มเลิก”
ทำไมเขียนเป็นฉันทลักษณ์ไม่ได้?
“มันต้องหาคำสัมผัส หารูปแบบ หาอะไรที่มันบังคับอยู่ พอมันบังคับเราก็รู้สึกว่ามันไม่อิสระ ไม่สนุก ไม่มีความพยายามพอที่จะเขียนให้จบ หาคำสัมผัสไม่เก่ง รู้สึกว่ามันมีข้อจำกัดเยอะ มันไม่ได้ดั่งใจบ้าง คำมันไม่ออกมาตรงความรู้สึก ก็เลยหยุด”
สำหรับ “ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า” จเด็จเล่าพลางจิบกาแฟว่า เป็นการรวบรวมงานที่เขียนขึ้นหลังจากได้ตำแหน่งนักเขียนซีไรต์ ประจำปี 2554 และความน่ารักน่าชัง คือ มันเริ่มต้นมาจากสเตตัสในเฟซบุ๊ก!! ก่อนจะคัดกรองและเขียนเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง
“พอเขียนแล้วเหมือนกับว่าเราจับจังหวะการเขียนของเราได้ คำของเราต้องออกมาในลักษณะแบบนี้ เว้นวรรคการเขียนตรงไหน ใช้คำแบบไหน เราเริ่มจับอารมณ์ได้ เราเริ่มสนุก พอเราคิดอะไรเราก็เขียนเป็นคำแบบนี้ๆ ออกมา ก็เลยเขียนประจำอยู่เป็นปี
สเตตัสเฟซบุ๊กนี่ถือว่าเป็นร่างแรก เวลาจะรวมเล่มก็หยิบมาขัดเกลาอีกที เวลาเขียนสเตตัสมันสนุกด้วย เพราะมันมีเวลาจำกัด เราต้องเขียนให้จบ จะเขียนค้างแล้วไปทำอย่างอื่นไม่ได้ ต้องโพสต์เลย มันเร็ว ฉับพลัน มีคำสั้นๆ กระชับออกมาอย่างรวดเร็ว เวลาเขียนเราจะมีภาพอยู่ในหัวก่อน แล้วหลุดออกมาเป็นคำ โดยการบรรยายภาพในหัวของเราให้สั้นที่สุด ชัดที่สุด ตรงที่สุด”
- ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า -
‘ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า’ หนังสือของเขาปกสีฟ้าสบายตา มีปีกเครื่องบินข้างหนึ่งพาดอยู่ตรงหน้าปก ชวนให้นึกไปถึงการเดินทาง
“หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องอะไร?”
“เล่าเรื่องทุกๆ อย่างที่ผ่านมาในสายตา เป็นประกายความคิด ความรัก ความคิดถึง ความเศร้า ความสุข บางทีก็ประชดประชัน แดกดัน บางทีก็คิดถึง อารมณ์อะไรสักอย่าง เหงาหรือเปล่าก็ไม่รู้... เขียนในช่วงที่เดินทางหลังจากได้รางวัลซีไรต์ เพราะช่วงนั้นต้องตระเวนไปโน่นไปนี่บ่อย เหมือนตื่นมาตอนเช้าแล้วอยากจะสื่อสารกับใครบ้าง ด้วยเวลาที่มีน้อย เขียนอะไรไม่ได้เยอะ ก็เลยต้องเขียนสั้นๆ พูดถึงเรื่องที่หลายคนมองข้าม มองไม่เห็น เรื่องเล็กๆ มุมเล็กๆ ใช้คำง่ายๆ แต่ต้องตีความต้องขบคิด การใช้สัญลักษณ์ก็เหมือนกับการเพ้อฝัน เหมือนการวาดภาพแนวเซอร์เรียลลิสต์ อ่านแล้วต้องคิดว่ามันไม่จริง แต่มันบอกภาวะความรู้สึกของเราตอนนั้น”
เหมือนว่า ‘ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า’ จะเป็นภาคต่อของหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อยาวประทับตราซีไรต์ของเขา ชายหนุ่มบอกว่าหนังสือ 2 เล่มนี้มีกลุ่มคำที่ลักษณะคล้ายกัน เพียงแต่รูปแบบการนำเสนอต่างกันเท่านั้น ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้าเป็นบทกวี ในขณะที่แดดเช้าฯ เป็นเรื่องสั้น แต่วิธีคิดบางอย่างเหมือนกัน บางอย่างคล้ายกัน บางอย่างต่อยอดมาจากแดดเช้าฯ แม้แต่ชื่อเรื่องก็จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ‘แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ - ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า’ ก็อยู่ในกลุ่มคำเดียวกัน ซึ่งมันแตกต่างจากนิยายที่ชื่อ ‘ประเทศมือสอง’ อย่างชัดเจน “มันอาจจะเป็นภาพสะท้อนอีกด้านหนึ่งของแดดเช้าฯ” เขาบอก
- นัก (อยาก) เขียน -
“สำหรับคนที่ชอบเขียน แต่ไม่กล้าเขียน ไม่มั่นใจในฝีมือการเขียน จเด็จจะแนะนำคนเหล่านี้ว่าอย่างไรดี?” คำถามยอดฮิตที่นักเขียนมักจะถูกเอ่ยถามเดินทางมาถึง
เขาหายใจเข้าลึกๆ เปิดประโยคด้วยคำว่า แนะนำยากมาก
“คนที่อยากเขียนก็ควรเขียน ไม่ต้องตกใจว่าเราเขียนไม่ได้ ถ้าเขียนแล้วไม่มีอะไรจะเขียน แปลว่าเราไม่มีอะไรจะบอก... ถ้าข้างในเราเต็ม วันหนึ่งมันจะออกมาเอง ถ้าอยากจะเป็นนักเขียน ก็จงเขียน”