นครศรีธรรมราช - กฟผ.ดอดทำ IEE และ EIA เตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหัวไทร แนวต้านกว่า 300 คนลุกฮือ อัดยับ กฟผ.ไร้ความจริงใจ ทั้งๆ ที่เคยทำหนังสือแจ้งอย่างชัดเจนว่าไม่มีโครงการในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในพื้นที่ อ.หัวไทร ท้ายสุดเวทีล้มไม่เป็นท่า
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังคงเดินหน้าเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในพื้นที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช แม้ว่าจะมีกระแสการคัดค้านอย่างหนักในพื้นที่ก็ตาม โดยเมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (11 ก.ย.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิต นำโดย ดร.อนุชาติ ปาละกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน นายเดชา ศุภศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ และเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตอีกจำนวนหนึ่ง โดยมีบริษัททีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ เมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นบริเวณพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดจังหวัดนครศรีธรรมราช
โดยได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่เหมาะสมในการก่อสร้างโครงการ 2 จุด คือ พื้นที่หมู่ที่ 6 ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จำนวน 2,300 ไร่ และพื้นที่ระหว่างหมู่ที่ 6 ต.หน้าสตน และหมู่ที่ 7 ต.เขาพังไกร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่
สำหรับบรรยากาศในการรับฟังกลุ่มย่อย ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มประชาชนจำนวนมากกว่า 300 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่รณรงค์การใช้พลังงานทางเลือก และปฏิเสธการใช้พลังงานถ่านหิน พร้อมด้วยแผ่นป้ายแสดงการต่อต้านโรงไฟฟ้าชนิดนี้จำนวนมาก ร่วมกันแสดงออกถึงการคัดค้านในเวทีการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งมีการซักถามนักวิชาการจากบริษัทที่ปรึกษาอย่างหนัก จนดูเหมือนว่าการตอบคำถามจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก และเวทีดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
นายครองศักดิ์ แก้วสกุล ประธานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง ระบุกลางเวทีว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตพยายามที่จะบิดเบือนการใช้พลังงานถ่านหินว่าเป็นพลังงานสะอาด ในฐานะที่ตนซึ่งเป็นครูมาก่อน และยังเป็นผู้บริหารสถานศึกษา เรียนวิทยาศาสตร์มาก็มาก แต่ไม่เคยพบว่ามีตำราเล่มไหนบอกว่าถ่านหินสะอาดเลย
เช่นเดียวกับ นายประเสริฐ คงสงค์ ประธานอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอำเภอหัวไทร แสดงความเห็นว่า กระบวนการ 7 ขั้นตอนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ประกาศจะดำเนินการในพื้นที่นั้น เป็นการหลอกลวงชาวบ้านทั้งหมด มาวันนี้ก้าวเข้าสู่ขั้นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อทำไออีอี (Initial Environmental Examination - IEE : การประเมินผลกระทบเบื้องต้น) และอีไอเอ (Environmental Impact Assessment - EIA : การรายงานผลกระทบจากโครงการ หรือกิจกรรมประเภทต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อม) ไปแล้ว ดังนั้น ขั้นตอนการให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ทำอย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง สารที่ได้จากการเผาถ่านหินเป็นล้านๆ กิโลกรัมนั้น สารปรอทจะทำอย่างไร กำมะถันจะทำอย่างไร ไม่เคยพูด
“อีกทั้งก่อนหน้านี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือแจ้งมาอย่างชัดเจนว่า ไม่มีโครงการในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในพื้นที่ อ.หัวไทร ดังนั้น การที่จะเตรียมเข้ามาสร้างในพื้นที่จึงถือว่าเป็นการหลอกลวงชาวบ้านไร้ซึ่งความจริงใจ”
ขณะที่นักวิชาการจากบริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียริ่งฯ พยายามชี้แจงว่า เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้พิจารณาพื้นที่ใน อ.หัวไทร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตถ์ จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ การทำรายงานของบริษัทเป็นการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเท่านั้น (IEE) และจะนำไปสู่พื้นที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA, EHIA) ในขั้นต่อไป
ส่วนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวนั้น ในที่สุดไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ และยืนยันที่จะปฏิเสธการเข้ามาของโครงการโรงไฟฟ้าอย่างเต็มกำลัง