นราธิวาส - เวทีเสวนา “โครงการเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกนักการเมือง จ.ชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1” นักการเมืองแถลงจุดยืน สานต่อข้อเสนอ BRN การกระจายอำนาจ 4 ข้อหลัก ชี้กระบวนการสันติภาพรัฐต้องแสดงความจริงใจเป็นรูปธรรม
วันนี้ (9 ก.ย.) ที่ห้องประชุมโรงแรมตันหยง อ.เมือง จ.นราธิวาส นายโคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเวทีเสวนาในโครงการเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกนักการเมือง จ.ชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1 เพื่อเป็นการนำเสนอการแก้ปัญหาและความมั่นคงในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้ ร่วมถึงการหาทางออกร่วมกันเพื่อลดความรุนแรง เพื่อความสันติสุขในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้
ในการนี้ได้มีตัวแทนร่วมเสวนา ประกอบด้วย นักการเมืองพรรคเพื่อไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคแทนคุณแผ่นดิน พรรคภูมิใจไทย พรรคดำรงไทย นักการเมืองไม่สังกัดพรรค สมาชิกสภาจังหวัด นายกเทศมนตรี และฝ่ายเจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี จาก ม.มหิดล โดยในที่ประชุมได้ผลสรุป 5 ข้อหลัก เพื่อเสนอไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาแก้ปัญหาในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้ให้เป็นรูปธรรม
จากนั้น กลุ่มนักการเมืองอันประกอบด้วยหลายพรรคการเมือง ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยนางตัสนีม เจะตู ส.อบจ. เขต อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ได้กล่าวว่า ในการแถลงข่าวในครั้งนี้เพื่อแสดงจุดยืนของทุกฝ่ายที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ โดยเฉพาะกรณีที่ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ได้รับเอกสารข้อเรียกร้อง 5 ข้อ 30 หน้า จากกลุ่ม BRN
ซึ่งอยู่ในหลักการที่ไม่ผิด และขัดต่อกฎหมายไทย และ 1 ใน 5 ข้อเสนอของกลุ่ม BRN คือ การกระจายอำนาจในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้ ซึ่งทุกฝ่ายเห็บชอบ เพราะนับเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากในเดือนตุลาคม 2556 นี้ ทาง BRN ได้ตอบรับที่จะเจรจาจากับตัวแทนรัฐบาลไทยอีกครั้ง ซึ่งจะมีกลุ่ม BRN BRPP และกลุ่ม POLO เข้าร่วมเจรจาในครั้งต่อไป
สำหรับข้อสรุป 4 ข้อ นักการเมือง จ.ชายแดนภาคใต้ ทางออกเพื่อการแก้ปัญหาความมั่นคง จ.ชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 1.การเปิดพื้นที่พูดคุยทางการเมือง ฝ่ายการเมือง และฝ่ายขบวนการฯ ทั้งในและนอกพื้นที่มากขึ้น 2.การกระจายอำนาจ ทางเลือกกลางไฟใต้ เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็ง ศอ.บต. ปฎิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด จ.ชายแดนภาคใต้ ต้องมาจากการเลือกตั้งจากคนในพื้นที่
ให้คงไว้เทศบาล อบต. ส่วน อบจ.ให้ถ่ายโอนอำนาจแก่ผู้ว่าฯ ที่ได้รับเลือกตั้ง คงยกเว้นในเรื่องความมั่นคง การต่างประเทศ การคลัง และศาล 3.ข้อเรียกร้อง BRN ให้รัฐบาลพิจารณาปล่อยนักโทษคดีความมั่นคง ขอให้รัฐดำเนินการอย่างเร่งด่วนมากขึ้น เพื่อสร้าง และเห็นความสำคัญในกระบวนการสร้างสันติภาพ และ 4.ขอให้ผู้เกี่ยวข้องกับกับกระบวนการสร้างสันติภาพ เปิดเผยข้อมูลที่พูดคุยทุกอย่าง ภายใต้หลักการข้อเสนอต่างๆ ยังเป็นการชั่วคราว และปรับเปลี่ยนได้ อันไม่ถือเป็นข้อตกลง ตราบใดที่ไม่ตกลงกันทั้งหมด ก่อนที่จะลงนามหรือกล่าวสัตยาบัน ก่อนนำไปใช้ และปฎิบัติต่อไป
ทางด้านนายนัจมุดดีน อูมา อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคมาตุภูมิ และ ส.ส.กลุ่มวะดะห์ กล่าวกับผู้สื่ข่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ปัญหาความรุนแรงยิ่งฝังลึก และบานปลายจนถึงปัจจุบันสืบเนื่องในห้วงที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ที่เห็นต่างกับรัฐ ไม่มีพื้นที่แสดง และนำเสนอข้อคิดเห็น เมื่อเสนอความเห็นถูกมองเป็นกลุ่มต่อต้านและศัตรู จึงให้เกิดข้อขัดแย้งและกลายเป็นพื้นที่ขัดแย้งเรื่อยมา จนทำให้เกิดปัญหาความไม่สงบ มีผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคภาคใต้ ดังนั้น จึงอยากขอร้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายกองกำลังความมั่นคง ฝ่ายบริหารและรัฐบาล ควรเปิดพื้นที่ ให้ผู้คน หรือกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐได้มีช่องทางเสนอให้มากขึ้น เพราะนี่คงเป็นทางออก และการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้อีกด้านหนึ่ง รัฐจำเป็นจะต้องทำให้เกิดรูปธรรม เพื่อสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง