xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม “นศ.ดรีมเซาท์” เห็นด้วยให้มาเลย์เป็นตัวกลางพูดคุยสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - ศอ.บต.เปิดรับฟังความเห็นจากเยาวชนชายแดนใต้ เผยกลุ่ม “นศ.ดรีมเซาท์” เห็นด้วยให้มาเลเซียเป็นคนกลางพูดคุยสันติภาพ เพราะมีวัฒนธรรม และอัตลักษณ์คล้ายคลึงกับแผ่นดินปลายด้ามขวาน

วันนี้ (25 ส.ค.) ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิ์พันธ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ว่าที่ ร.ต.สมโภชน์ สุวรรณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นภายใต้การประชุมปฏิบัติการเรื่อง “กระบวนการสร้างสันติภาพในมุมมองทัศนะของเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการทดลองเสนอรูปแบบกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้”

จัดขึ้นโดย ศอ.บต. ร่วมกับกลุ่มดรีมเซาท์ (Dream South) หรือกลุ่มนักศึกษาจาก 5 มหาวิยาลัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย มหาวิยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และกลุ่มเยาวชนจังหวัดยะลา โดยมี นายเมธัส อนุวัตรอุดม คณะวิทยากรจากสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ร่วมแลกเปลี่ยนให้ความรู้ในเรื่อง “กระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้” และ รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำวิชาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เรื่อง “กระบวนการสร้างสันติภาพในต่างประเทศ” ดำเนินการแลกเปลี่ยนโดย ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล และเจ้าหน้าที่จากสำนักประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ศอ.บต.

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ปัจจุบันอยากให้เยาวชนมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ในอนาคตเยาวชนเหล่านี้ต้องมีส่วนในการแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ พลังของเยาวชนจึงเป็นส่วนสำคัญ สันติภาพเป็นของเราทุกคนไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในวันนี้นโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คือ เร่งส่งเสริมสภาพแวดล้อมของการพูดคุย โดยการไม่จับอาวุธ ความสงบ และสันติจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากการพูดคุย

“ผมอยากให้เราใช้ ศอ.บต.เป็นโอกาสในการที่จะส่งเสริมแนวความคิดของคนทุกกลุ่ม เพราะทุกคนคือเจ้าของพื้นที่” เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว

ทั้งนี้ ในประเด็นข้อคิดเห็นของการพูดคุยของนักศึกษากลุ่มดรีมเซาท์ คือ อยากให้มีการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทุกระดับ และทุกศาสนิก โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เพื่อนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่เวทีสาธารณะต่อไป และเห็นด้วยที่จะให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการประสานงานพูดคุยเพื่อสันติภาพ เพราะมีวัฒนธรรม และอัตลักษณ์คล้ายคลึงกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

จากนั้น นายดันย้าล อับดุลเลาะ นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เป็นตัวแทนกลุ่มนักศึกษาขึ้นอ่านสรุปผลการประชุม พร้อมเสนอ 5 ประเด็นสะท้อนความเห็น และมุมมองของการเจรจาในด้านต่างๆ ต่อเลขาธิการ ศอ.บต. พล.อ.นิพัทธิ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งทั้งหมดเป็นคณะตัวแทนเจรจาฝ่ายรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2556 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีรายละเอียดดังนี้คือ

1.รับได้ที่จะให้มาเลเซียมีบทบาทเป็นคนกลาง เนื่องจากมาเลเซียไม่มีปัญหาความขัดแย้งกับประเทศไทยที่รุนแรง มาเลเซียเคยมีบทบาทเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพมาแล้ว เช่น เป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ กับกลุ่มต่อสู้ทางภาคใต้ของประเทศ ส่วนในเวทีระดับโลกมาเลเซียเป็นประเทศที่อยู่ในระดับกลางๆ ไม่ตึงเกินไป

2.ในประเด็นความเป็นตัวแทนคนในพื้นที่นั้น ยังไม่สามารถยอมรับได้ว่า BRN จะเป็นตัวแทนคนในพื้นที่ได้ เพราะนักศึกษาเห็นว่ายังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้อยู่ และไม่รู้ว่าเป็นตัวแทนใคร จึงต้องมีการรับฟังความเห็นในเรื่องนี้ก่อน โดยเฉพาะจากประชาชนมลายูในพื้นที่

3.ประเด็นบทบาทขององค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) ประชาคมอาเซียน หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) นั้น ยังมีความหมายที่ไม่ตกผลึก เพราะมีการแปลความหมายของคำว่า “Saksi” ที่ BRN ใช้ใน 2 ความหมายคือ ผู้สังเกตการณ์ และสักขีพยาน จึงยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นนี้

4.ประเด็นการปล่อยนักทางการเมือง ยอมรับในบางส่วนคือ สำหรับผู้ที่ทำผิดจริงๆ ก็ต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีความผิดจริง อันเนื่องจากความไม่เป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรม สามารถปลดปล่อยได้ และได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสม

5.ส่วนประเด็นที่ให้เรียกว่าผู้ปลดแอก ไม่ใช่ผู้แบ่งแยกนั้น เรารู้ว่าธงที่แท้จริงของขบวนการ BRN คืออะไร แต่ไม่พูดออกมาตรงๆ และความว่าปลดแอกนั้นเป็นคำที่มีนัยในทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้มีข้อเสนอที่ชัดเจนในเรื่องการปกครอง ดังนั้น ต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า คำว่าองค์การปลดแอก และแบ่งแยกดินแดนนั้นแต่ละคำมีความหมายอย่างไร
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น