xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนท่าศาลาจึงค้าน “ท่าเรือเชฟรอนฯ” (1) ปากน้ำกลาย “มดลูกของทะเลอ่าวทองคำ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...ทรงวุฒิ พัฒแก้ว
 
โครงการท่าเรือเชฟรอนฯ คือ ท่าเรือสนับสนุนปฏิบัติการขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทยของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่จะยุบรวมท่าเรือสัตหีบ และสงขลามาอยู่ที่ท่าศาลาเพียงแห่งเดียว โดยท่าเรือดังกล่าวจะตั้งที่ปากน้ำกลาย บ้านบางสาร อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งบริษัทเชฟรอนฯ ดำเนินการกระบวนการสร้างการยอมรับของประชาชนมาตั้งแต่ปี 2549 และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ท่ามกลางเสียงคัดค้าน และไม่ยอมรับของคนในพื้นที่อย่างหนัก
 
จนเมื่อ 11 กันยายน 2555 สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่ได้รับเสียงคัดค้านให้ทบทวน และถอน EHIA ฉบับนั้น ทั้งนี้ เพราะเครือข่ายชุมชนได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งองค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งสถาบันวิชาการ นำเสนอข้อมูล และสะท้อนความเป็นจริงอย่างรอบด้าน หลังจากนั้น สผ.ก็รับไปพิจารณาทบทวนโครงการทั้งระบบ เพราะข้อมูลบิดเบือน และคลาดเคลื่อนจากความจริงอย่างมาก
 

 
ในที่สุด วันที่ 7 ธันวาคม 2555 ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเชฟรอนฯ ทั้งหมด ก็แถลงข่าว พร้อมส่งหนังสืออย่างเป็นทางการไปถึงทุกองค์กรว่า ทางบริษัทเชฟรอนฯ ประกาศยกเลิกการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับโครงการท่าเรือเชฟรอนฯ กระบวนการคัดค้านของชุมชนชะลอลง เพราะทางบริษัทไม่อยากสร้างความขัดแย้ง และรุนแรงในพื้นที่ แต่ก็ยังติดตาม และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
 
ต่อมา วันที่ 7 กรกฎาคม 2556 สผ.ก็ออกประกาศว่า มติคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ยืนยันว่า โครงการท่าเรือเชฟรอนฯ ผ่านความเห็นชอบ EHIA และจัดส่งให้คณะกรรมการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม (กอสส.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนอนุญาตให้ก่อสร้างท่าเรือในพื้นที่
 

 
กอสส.จึงตั้งคำถามบริษัทเชฟรอนฯ เกี่ยวกับการประกาศยกเลิกโครงการท่าเรือเชฟรอนฯ ไปแล้ว และให้ยื่นถอนรายงาน EHIA เพื่อหยุดกระบวนการทุกอย่างตามที่ประกาศยกเลิกไว้ เพราะการเดินหน้ารายงาน EHIA ไปตามขั้นตอน ถือว่าเชฟรอนฯ ไม่ได้ประกาศยกเลิกโครงการจริง
 
ทางเครือข่ายชุมชนทั่วทั้งพื้นที่ท่าศาลาหลายสิบเครือข่าย จึงเตรียมการพร้อมรับมือกับการพยายามเดินหน้ารอบใหม่ของโครงการท่าเรือเชฟรอนฯ อย่างเต็มที่ เพราะหากบริษัทเชฟรอนฯ ไม่ถอน EHIA ก็ถือว่า ยังต้องการการเดินหน้าท่าเรืออย่างจริงจัง ประเด็นนี้จึงถือว่า บริษัทเชฟรอนฯ หักหลังคนทั้งประเทศ โดยใช้วิธีการช่องว่างทางกฎหมาย
 

 
คนท่าศาลา และคนรอบอ่าวทองคำ ยังคงยืนยันว่า ยังไงบริษัทเชฟรอนฯ ก็สร้างท่าเรือที่ ปากน้ำกลาย ไม่ได้ เพราะปากน้ำกลายเปรียบเสมือน มดลูกของอ่าวทองคำ คลองกลายไหลมาจากเทือกเขาหลวง นำแร่ธาตุ และตะกอนพัดพาลงสู่ระบบนิเวศอ่าวทองคำ เป็นแร่ธาตุที่สำคัญในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศ เป็นอาหารของ แพลงก์ตอน พืช และสัตว์ รวมทั้งการก่อเกิดตะกอนปากแม่น้ำที่เรียกว่าดอน ความเป็นดอนของตะกอนเลนนี้เองที่นี้จึงถูกเรียกว่า ระบบนิเวศเฉพาะ หรือ อ่าวทองคำ เพราะท่าศาลาเป็นทะเลเปิด การมีตะกอนรวมตัวเป็นเนินสะสมของซากพืช ซากสัตว์ จึงเป็นแหล่งรวบรวมอาหารให้สัตว์น้ำทุกชนิด จนมีสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่เลื่องชื่อ และส่งออก เช่น กั้ง ปูม้า เป็นต้น
 
การมาสร้างท่าเรือเชฟรอนฯ ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามรัฐธรรมนูญ เพราะต้องสร้างท่าเรือยื่นไปในทะเล อีกทั้งการขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากแม่น้ำกลาย นั้นหมายถึงขุดเอาตะกอน และธาตุอาหารที่สำคัญของระบบนิเวศออกไป การขุดลอกร่องน้ำที่เป็นหาดเลนทำให้ตะกอนเลนในบริเวณใกล้เคียงต้องไหลลงไปในร่องน้ำด้วย จะส่งผลให้ระบบนิเวศ และทิศทางน้ำเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
 

 
ปากน้ำกลาย ที่เป็น มดลูกของอ่าวทองคำ จึงถูกทำลายเพียงชั่วพริบตาทันทีที่เชฟรอนฯ ก่อสร้างท่าเรือขึ้น และนั่นหมายถึงเรือประมงประมาณ 2,000 พันลำ ที่ทำมาหากินจะล่มสลายไปด้วย และคนอีก 5,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 10,000 คน จะสูญสิ้นอาชีพทางการประมงที่ทำมาหากินมานานนับร้อยปี
 
การที่บริษัทเชฟรอนฯ พยายามเดินหน้า EHIA อีกครั้ง หรือพยายามจะสร้างท่าเรือให้ได้ จึงเป็นการประกาศสงครามแห่งชีวิต เพราะเดิมพันของชุมชนคือ แหล่งทรัพยากรที่ทำมาหากิน การถูกทำลายฐานอาชีพ คือ การทำลายวิถีชีวิต และความสุขของผู้คน ดังนั้น ทุกคนจึงยอมไม่ได้ และไม่ยอมเสียสละ
 
เชฟรอนฯ เองเคยออกมายอมรับว่า แม้ทุ่มเงินนับพันล้านบาท และพยายามประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างหนักในพื้นที่ แต่ก็สร้างการยอมรับแก่ประชาชนไม่ได้
 

 
วันนี้ เครือข่ายชุมชนที่ผ่านบทเรียนการต่อสู้มานับไม่ถ้วน ยังเหนียวแน่น และผนึกกำลังมากขึ้นกว่าเดิม การถูกรุกรานรอบใหม่ ทุกคนจึงตั้งหลักพร้อมต่อสู้ และเคลื่อนไหวทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้เชฟรอนฯ สร้างท่าเรือขึ้นในพื้นที่ 
 
และหากบริษัทเชฟรอนฯ ยังคงดื้อดึง นั่นหมายถึง บริษัทเชฟรอนฯ จะพัฒนาตัวเองสู่ความเกลียดชัง และจะเป็นผู้ร้ายทางสังคมที่น่ารังเกียจ ธุรกิจต่างๆ ของบริษัทเชฟรอนฯ ที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งบ้านพัก สนามบินเฮลิปคอปเตอร์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทั้งหมดถือเป็นศัตรูของประชาชนไปด้วย 
 
ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนชะลอการเคลื่อนไหว เพราะคิดว่าบริษัทเชฟรอนฯ ประกาศยกเลิกโครงการไปแล้ว แต่ครั้งนี้พบว่า บริษัทเชฟรอนฯ ยังคงเดินหน้า EHIA ดังนั้น รอบนี้หากบริษัทเชฟรอนฯ ไม่ถอนรายงาน EHIA นั่นคือ การประกาศเดินหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรืออีกครั้ง และนั้นคือ การท้าทายที่เป็นความตั้งใจของบริษัทเชฟรอนฯ เอง
 
การเดิมพันผลกำไรทางธุรกิจของบริษัทเชฟรอนฯ กับการเดิมพันวิถีชีวิตของคนท่าศาลาคงเริ่มขึ้น และรุนแรงกว่าเดิมในไม่ช้าแน่นอน!!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น