xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา” ต้าน EHIA หลังพบ สผ.ผ่านความเห็นชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช - เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา ต้าน EHIA ท่าเรือสนับสนุนขุดเจาะปิโตรเลียมต่อเนื่อง หลังตรวจสอบพบ สผ.ผ่านความเห็นชอบ และขณะที่ บ.เชฟรอน ออกแถลงการณ์ยืนยันยุติการก่อสร้างโครงการอย่างเด็ดขาด

วันนี้ (19 ส.ค.) นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการประกาศยุติโครงการท่าเรือสนับสนุนการขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทยของ บ.เชฟรอน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่พบว่ามีการดำเนินการ EHIA อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ทาง สผ.ได้ผ่านความเห็นชอบ และเมื่อ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการส่งเรื่องเข้าสู่ กอสส.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

จึงมีการตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงเดินหน้า EHIA และมีการยื่นเงื่อนไขให้วันที่ 20 ส.ค.เป็นวันสุดท้าย และหากทาง กอสส.ให้ความเห็นชอบ และส่งผ่านไปยังกรมเจ้าท่า จะสามารถขออนุญาตก่อสร้างได้ทันที ซึ่งหากไม่มีการชี้แจงใดๆ ไปทาง กอสส.ทางเครือข่ายจะเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้าน บ.เชฟรอน อีกครั้ง โดยจะเพิ่มน้ำหนักการเคลื่อนไหวหนักหน่วงมากขึ้น

ขณะที่ บ.เชฟรอน ได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ในแถลงการณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่าบริษัท และผู้ร่วมทุนได้ยุติการดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานในอ่าวไทย (ชอร์เบส) ในเขตพื้นที่บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นที่แน่นอน ถึงแม้ว่ารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EHIA) ของโครงการชอร์เบส จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ สำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ไปแล้วก็ตาม

“ส่วนกรณีที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ยื่นรายงาน EHIA ดังกล่าวต่อให้แก่องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม (กอสส.) เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2556 นั้น เป็นกระบวนการ และขั้นตอนการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น”

ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทเชฟรอน ได้ยุติการดำเนินโครงการชอร์เบสไปแล้วก็ตาม แต่บริษัทก็ยังคงสานต่อกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชต่อไป โดยเน้นการพัฒนาการศึกษา อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพลังงาน เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต โดยส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องต่อไป

ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องรายหนึ่งชี้แจงเพิ่มเติมว่า หลักคิดของกระบวนการ EHIA มีเป้าหมายอยู่ที่ว่า ทางบริษัทจะต้องดำเนินให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย และมีผลสำเร็จเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าต้องการสร้าง และผลสำเร็จอันนี้จะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า บริษัทได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย และใช้งบประมาณของบริษัทเอง และจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นในประเทศต่างที่บริษัทจะเข้าไปลงทุนได้ว่าเราได้ทำตามกฎหมายครบถ้วนสมบูรณ์เป็นรายงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนท่าเทียบเรือนั้นเป็นที่แน่นอนคือ ยุติโครงการไปเลย ไม่มีการย้อนกลับมาก่อสร้างใหม่แน่นอนไม่ต้องวิตกกังวล

“ในทำนองเดียวกัน อยากให้ไปติดตามกระบวนการ EHIA ของหลายบริษัทเอกชนโดยเฉพาะในการลงทุนในโครงการมาบตาพุดมีมากกว่า 40 โครงการที่ยุติไปแล้ว แต่กระบวนการของ EHIA ทั้งกว่า 40 โครงการ ยังคงเดินต่อไปตามกฎหมายเพื่อเป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นว่าเป็นองค์กรธรรมาภิบาลคือ การปฏิบัติตามกฎหมาย แม้ว่าโครงการไม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน” ผู้เกี่ยวข้องรายนี้กล่าว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น