พังงา - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นำคณะเข้ารับฟังปัญหาของชาวโรฮิงญาในพื้นที่จังหวัดพังงา หลังพบปัญหาเรื่องสถานที่พักพิงของชาวโรฮิงญาคับแคบ
นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พล.ต.ต.ชลิต แก้วยะรัตน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงา นายกฤษ ศรีฟ้า อดีต ส.ส.พังงา พรรคไทยรักไทย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าเยี่ยมชาวโรฮิงญาที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองพังงา ที่อาศัยอยู่จำนวน 24 คน หลังจากชาวโรฮิงญา จำนวน 261 คน ได้ประท้วง และถูกแยกควบคุมไว้ตาม สภ.ต่างๆ จำนวน 7 แห่ง
โดยเบื้องต้น ได้รับรายงานจาก พ.ต.ท.เนติ ขันบุญ สารวัตรด่านตรวจคนเข้าเมืองพังงา ถึงสภาพก่อนที่จะเกิดเหตุประท้วง และช่วงเกิดเหตุประท้วง ซึ่งทางด่านตรวจคนเข้าเมืองพังงาได้สรุปว่า ได้รับชาวโรฮิงญามาควบคุมไว้ที่ห้องกักด่านตรวจคนเข้าเมืองพังงาตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2556 ถึงปัจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 953 ราย เนื่องจากห้องกักด่านตรวจคนเข้าเมืองพังงามีจำนวนจำกัด สามารถรองรับได้ไม่เกิน 250 ราย จึงทำให้ไม่สามารถรองรับชาวโรฮิงญา ได้ทั้งหมด จึงได้ส่งตัวไปกัก ณ ห้องกัก ด่านตรวจคนเข้าเมืองต่างๆ เช่น ด่านตรวจคนเข้าเมืองประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 120 ราย กาญจนบุรี จำนวน 150 ราย ตราด 100 ราย มุกดาหาร จำนวน 100 ราย ระนอง 20 ราย เชียงราย 39 ราย ส่วนด่านตรวจคนเข้าเมืองพังงามีจำนวน 272 ราย ส่วนผู้หญิงและเด็กได้ส่งไปที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา จำนวน 152 ราย โดยมีการประสานยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจภูธรจังหวัด สาธารณสุข พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จนกรทั่งมีเหตุการณ์ประท้วงในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมีการอ้างเหตุผลว่าจะทำการละหมาดในช่วงออกบวชตามพิธีกรรมของศาสนาอิสลาม และมีการลุกฮือขึ้นประท้วงจากโรฮิงญา จำนวน 272 ราย ทำให้ทางตำรวจภูธรจังหวัดพังงา ต้องนำกำลังเสริมจากกองร้อยปราบปรามฝูงชน จำนวน 2 กองร้อย โดยได้รับการสนับสนุนจากกองร้อยที่จังหวัดกระบี่เข้าควบคุมสถานการณ์จนสามารถควบคุมได้ และแยกไปฝากยังที่ สภ.ในจังหวัดพังงา จำนวน 7 แห่ง
นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับปัญหาเรื่องที่พักพิงของชาวโรฮิงญานั้นต้องมีมาตรการพิเศษเนื่องจากเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสื่อมวลชนจากต่างประเทศนั้นบางสื่อก็ต้องการให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหาย ในขณะความเป็นจริงทางภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างรัดกุมมาโดยตลอด และผ่อนผันสิทธิประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มชาวโรฮิงญาเป็นพิเศษ ในขณะที่ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่เมื่อเห็นกล้องถ่ายภาพทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวก็แสดงท่าทีร้องไห้ลักษณะเป็นการแสดงต่อสื่อมวลชนนั้นๆ โดยสังเกตว่า ในแต่ละครั้งที่มีการหลบหนีออกจากประเทศเพื่อนบ้านจะมีกลุ่มสื่อ หรือองค์กรหลายองค์กรทราบก่อนหน้าเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้ง หรือทำการเข้าจับกุมเหมือนเป็นการแสดงละครต่อหน้าสื่อมวลชนที่เข้ามาเก็บภาพทำให้เสียหายต่อประเทศชาติได้ ซึ่งเมื่อไม่มีสื่อ หรือองค์กรใดอยู่นั้นพบว่ามีการร่าเริงเป็นปกติ