โดย...ไม้ เมืองขม
“วิสัยทัศน์สงขลา” เป็นโครงการหนึ่งในหลายๆ โครงการที่เกิดขึ้นสมัยที่ บัญญัติ จันทร์เสนะ อดีต รมช.กระทรวงมหาดไทย อดีตรองปลัดกระทรวงและ ผอ.ศอ.บต. ตอนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งได้ผลักดันให้เกิดการวางแผนในการพัฒนาจังหวัดสงขลาในอนาคต โดยการร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาครัฐ และเอกชนในจังหวัดสงขลา ร่วมกันกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ขึ้น
ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้ง “มูลนิธิเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติ” ขึ้นโดยมี บัญญัติ จันทร์เสนะ เป็นประธานมูลนิธิ การผลักดันวิสัยทัศน์สงขลาจึงเป็นไปอย่างเข้มข้น และต่อเนื่อง โดยเริ่มจาก “วิสัยทัศน์สงขลา 2555” (พ.ศ.2540-2555) ก้าวสู่ “วิสัยทัศน์ 2020” (พ.ศ.2556-2563) ก่อนที่จะขยายสู่ “วิสัยทัศน์สงขลา 2570 (พ.ศ.2556-2570) คือ สงขลาโมเดลล่าสุด ที่ผ่านความคิดเห็นของหน่วยงาน และประชาชนทุกภาคส่วน โดยกระบวนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ซึ่งดำเนินการโดย 15 ภาคี ประกอบด้วย 5 องค์กรภาควิชาการ 2 องค์กรภาครัฐ 3 องค์กรภาคเอกชน และ 5 องค์กรภาคประชาชน อันได้แก่
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา หอการค้าจังหวัดสงขลา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา สมาคมมูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิสวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มูลนิธิชุมชนสงขลา และมูลนิธิเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติ
สำหรับวิสัยทัศน์สงขลานั้น มีการแบ่งพื้นที่ของจังหวัดออกเป็น 4 เขตด้วยกันคือ 1.พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ (อ.ระโนด อ.กระแสสินธ์ อ.สทิงพระ และ อ.สิงหนคร) 2.พื้นที่เศรษฐกิจ คือ อ.เมือง อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา 3.พื้นที่การพัฒนา คือ อ.นาหม่อม อ.บางกล่ำ อ.รัตภูมิ อ.ควนเนียง และ อ.คลองหอยโข่ง และ 5 พื้นที่ความมั่นคง คือ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี
โดยมี 1) วิสัยทัศน์ ได้แก่ “สงขลา เมืองแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สังคมเป็นสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน” 2) พันธกิจ ประกอบด้วย มุ่งพัฒนาความเติบโตทางเศรษฐกิจ บนพื้นฐานของการสร้างสรรค์ มุ่งการเพิ่มรายได้แก่ประชากร มูลค่าทางการค้า และการลงทุน โดยให้รายได้ประชากรอยู่ในระดับ 1 ใน 5 ของประเทศในปี 2570, พัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตบนวิถีความพอเพียง ครอบครัวอบอุ่น สังคมเอื้ออาทร สมานฉันท์ เป็นธรรม และอยู่เย็นเป็นสุข สู่การเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมต้นแบบ, อนุรักษ์และฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม บนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สมดุลและยั่งยืน โดยมุ่งต่อการหยุดทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิงภายในปี 2570 และสร้างความมั่นคง และสงบเรียบร้อยที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสันติสุขของสังคม โดยผนึกความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและทุกระดับ เพื่อยุติสถานการณ์การก่อเหตุร้ายอย่างถาวรภายในปี 2570
ประเด็นยุทธศาสตร์ มีทั้งสิ้น 17 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน เช่น พัฒนาภาคการเกษตร, ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์, ส่งเสริมพัฒนาการค้าชายแดน, ส่งเสริมกระบวนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีอาเซียน, พัฒนาองค์ความรู้ ข้อมูล, จัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, รณรงค์สร้างค่านิยม, พัฒนาชุมชนเข้มแข็ง, พัฒนาขบวนการภาครัฐ และอื่นๆ โดยมีโครงการสำคัญๆ ที่ต้องร่วมกันผลักดันไปสู่ความสำเร็จดังนี้
1.ส่งเสริมพัฒนาอาชีพการทำสวนยางแบบครบวงจร เพื่อให้เป็น “ซิตี้ รับเบอร์” ของประเทศ และภูมิภาคอาเซียน 2.ส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และวิสาหกิจชุมชน 3.ส่งเสริมกระบวนการผลิตอาหารทะเล ปศุสัตว์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ 4.พัฒนาเครือข่ายขนส่งทั้งทางบก น้ำ และอากาศ เพื่อเชื่อมโยงจังหวัดภาคใต้กับประชาคมอาเซียน 5.สร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 6.สร้างด่านพรมแดนสะเดาแห่งที่ 2 7.พัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยว 8.แก้ไขปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองหาดใหญ่อย่างถาวร
9. ผลักดันส่งขลาให้เป็น “ฮับ” แห่งการศึกษา และเป็น “ฮับ” ของการรักษาพยาบาล 10.ให้สงขลาเป็นเมือง 4 ภาษาคือ ไทย อังกฤษ จีน และมาลายู 11.ฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน 12.สร้างเอกลักษณ์ค่านิยมให้ “สังคมเป็นสุข” 13.สร้างเครือข่ายประชาชนเฝ้าระวัง อนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ และ 14.ร่วมกับ ศอ.บต.ยุติการก่อเหตุร้าย ป้องปรามยาเสพติด อบายมุข และสินค้าหนีภาษีอื่นๆ สร้างความมั่นคงทางอาหาร และพัฒนาพลังทดแทนที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
ส่วนเป้าหมายในเชิงการบริการของวิสัยทัศน์สงขลา 2570 นั้น มีการวางเป้าหมายว่า เมื่อสิ้นปี 2570 มีการมุ่งหวังต่อการเกิดขึ้น คงอยู่ และสิ้นไปในประเด็นสำคัญ 7 ประการด้วยกัน คือ 1.สามารถยกระดับรายได้ประชาชนในอยู่ในระดับ 1-5 ของประเทศ 2.มีระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และปัญหาอุทกภัยเมืองหาดใหญ่สามารถยุติลงได้อย่างถาวร 3.ชาวสงขลาสามารถพูดได้ 4 ภาษา
4.มีแผนแม่ทบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แบบองค์รวม ระยะยาว ครอบคลุมทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เครือข่ายภาคประชาสังคม นำไปสู่ภาวะชุมชนเข้มแข็ง และเป็นสุข 5.ทะเลสาบสงขลาได้รับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจัดระเบียบเครื่องมือประมงที่สังคมยอมรับได้ 6.การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยุติลงอย่างสิ้นเชิง และ 7.ยุติสถานการณ์การก่อเหตุร้ายอย่างถาวร
นอกจากนี้ คณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์สงขลา 2570 ยังมีความเห็นให้กำหนดวันหนึ่งวันใดในรอบปี เพื่อให้เป็น “วันสงขลา” เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในจังหวัดสงขลาเห็นถึงความสำคัญ และรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ที่แสดงออกถึงความรัก สามัคคี เป็นหนึ่งเดียว เพื่อที่จะได้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์สงขลา 2570 ไปสู่ความสำเร็จ
และที่ผ่านมา มูลนิธิเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติ ยังได้ทำโครงการ “คนดีศรีสงขลา” โดยการมอบโล่เชิดชูเกียรติให้แก่บุคคลต้นแบบสาขาอาชีพต่างๆ และเยาวชนที่เป็นผู้กระทำความดีและเป็นคนดี เพื่อให้สังคมได้เห็นคุณค่า และเป็นแบบอย่างของสังคม
ทั้งนี้ มูลนิธิเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติ ต้องการเรียกร้องให้ชาวจังหวัดสงขลาทุกภาคส่วน ร่วมกันผลักดันให้ “วิสัยทัศน์สงขลา 2570” ประสบความสำเร็จสู่ความเป็นจริง มิใช่เป็นเพียงข้อความบนแผ่นกระดาษที่เป็นแค่เพียง “ความฝัน” เท่านั้น
เพราะความเป็นไปได้ของ “วิสัยทัศน์สงขลา 2570” ต้องมาจากการร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมมือของประชาชนทุกคนในการผลักดันตามคำกลอนที่ว่า “สงขลาต้องเป็นที่หนึ่ง ถ้ายังไม่ถึง เราผลักเราดัน ใครคิดก็คิด ใครฝันก็ฝัน คนสงขลาเท่านั้น ที่ทำฝันให้เป็นจริง”