ตรัง - สำนักงานเกษตรเตือนให้ระวังโรครากขาวในยางพารา เพราะสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็ว และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปีก่อน
นายพัลลภ เงินทอง เกษตรจังหวัดตรัง กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน ทำให้สภาพอากาศในจังหวัดตรัง เหมาะสมที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุโรครากขาวในยางพารา เนื่องจากอากาศมีความชื้นจากการที่มีฝนตกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากต้นยางพาราเกิดโรคนี้แล้วจะทำให้ยางพารายืนต้นตาย และจะแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว จนสร้างความเสียหายให้แก่สวนยางพาราในวงกว้างอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่ จึงขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราเฝ้าระวังการแพร่ระบาด
โดยให้สังเกตจากยอดพุ่มใบต้นยางพาราว่า หากมีสีเหลือง และใบมีลักษณะงองุ้มลง ซึ่งให้สันนิษฐานว่า เป็นโรครากขาว ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับยางพาราได้ทุกระยะการเจริญเติบโต แต่พบมากในยางพาราอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในยางที่ปลูกเป็นรอบที่ 2 ซึ่งต้นยางพาราที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการใบเหลือง และร่วง หากขุดดูรากจะพบกลุ่มเส้นใยสีขาวเจริญแตกสาขาปกคลุม และเกาะติดแน่นกับผิวราก ทั้งนี้ เมื่อเส้นใยอายุมากขึ้นจะกลายเป็นเส้นกลมนูนสีเหลืองซีด ส่วนเนื้อไม้ของรากที่เป็นโรค ในระยะแรกมักแข็งกระด้างเป็นสีน้ำตาลซีด แต่เมื่อรุนแรงขึ้นจะกลายเป็นสีครีม โดยถ้าอยู่ในพื้นที่แฉะรากยางพาราจะอ่อนนิ่ม และมีดอกเห็ดขึ้นที่โคนต้น
สำหรับวิธีการป้องกันกำจัด เมื่อพบต้นยางพาราที่เป็นโรคให้ขุดทำลายเสีย และรักษาต้นข้างเคียง โดยการใช้สารเคมีไตรเดอร์มอร์ฟ (tridemorph) ไซโปรโคนาโซล (cyproconazole) หรือเฮกชะโคนาโซล (hexoconazole) ตามคำแนะนำในฉลาก ส่วนยางพาราที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป และเป็นโรคควรขุดคูล้อมบริเวณต้น (ขนาดคูกว้าง 30 ซม. ลึก 60 ซม.) เพื่อกั้นระหว่างต้นที่เป็นโรค และต้นปกติไม่ให้รากสัมผัสกัน หรือจะป้องกันในระยะยาว โดยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กก. ผสมปุ๋ยอินทรีย์ 50 กก. และรำ 4-10 กก. คนให้เข้ากัน แล้วนำไปหว่านรอบโคน 3-6 กก./ต้น ปีละ 2 ครั้ง
เกษตรจังหวัดตรัง กล่าวอีกว่า หากพบการระบาดของโรครากขาวในยางพาราในพื้นที่ใด ขอให้เกษตรกรรีบแจ้งไปที่อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง เพื่อให้คำแนะนำ และช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป