กระบี่ - เกษตรจังหวัดกระบี่ เผยชาวสวนยางควรระวังโรครากขาวในยางพารา ซึ่งพบบ่อยช่วงหน้าฝน และควรหมั่นดูแลต้นยางพาราอย่างสม่ำเสมอ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่อาสาสมัครเข้าไปช่วยดูแล และให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้านที่แจ้งเข้ามาในหน่วยงาน
วันนี้ (26 ก.ค.) นายวีระศักดิ์ เกิดแสง เกษตรจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝนสภาพอากาศในจังหวัดกระบี่เหมาะสมที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรครากขาวในยางพารา เนื่องจากอากาศมีความชื้นจากการที่มีฝนตกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากต้นยางเกิดโรคนี้แล้วจะทำให้ยางยืนต้นตาย และจะแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายให้แก่สวนยางในวงกว้าง จึงขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรชาวสวนยางเฝ้าระวังการแพร่ระบาด
โดยสังเกตจากยอดพุ่มใบต้นยางจะมีสีเหลือง และใบมีลักษณะงองุ้มลง ให้สันนิษฐานว่า ต้นยางเป็นโรครากขาว โดยโรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับยางพาราได้ทุกระยะการเจริญเติบโต แต่พบมากในยางพาราอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในยางที่ปลูกเป็นรอบที่ 2 ซึ่งต้นยางที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการใบเหลือง และร่วง หากขุดดูรากจะพบกลุ่มเส้นใยสีขาวเจริญแตกสาขาปกคลุมและเกาะติดแน่นกับผิวราก เมื่อเส้นใยอายุมากขึ้นจะกลายเป็นเส้นกลมนูนสีเหลืองซีด เนื้อไม้ของรากที่เป็นโรคในระยะแรกมักแข็งกระด้างเป็นสีน้ำตาลซีด เมื่อรุนแรงขึ้นจะกลายเป็นสีครีม ถ้าอยู่ในพื้นที่แฉะรากยางจะอ่อนนิ่ม และมีดอกเห็ดขึ้นที่โคนต้นยาง
สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดเมื่อพบต้นที่เป็นโรคให้ขุดทำลายเสีย และรักษาต้นข้างเคียงโดยการใช้สารเคมีไตรเดอร์มอร์ฟ (tridemorph) ไซโปรโคนาโซล (cyproconazole) หรือเฮกชะโคนาโซล (hexoconazole) ตามคำแนะนำในฉลาก ในต้นยางที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป ควรขุดคูล้อมบริเวณต้นเป็นโรค (ขนาดคูกว้าง 30 ซม. ลึก 60 ซม.) เพื่อกั้นระหว่างต้นที่เป็นโรค และต้นปกติไม่ให้รากสัมผัสกัน หรือจะป้องกันในระยะยาวโดยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กก. ผสมปุ๋ยอินทรีย์ 50 กก. และรำ 4-10 กก. ผสมให้เข้ากันหว่านรอบโคน 3-6 กก./ต้น ปีละ 2 ครั้ง
เกษตรจังหวัดกระบี่ กล่าวอีกว่า หากพบการระบาดของโรคดังกล่าวให้รีบแจ้งไปที่อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่เพื่อให้คำแนะนำ และช่วยเหลือต่อไป