ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เปิดแล้วศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่เป็นภัยต่อการท่องเที่ยว (ศปอท.) ที่ภูเก็ต พร้อมเผย 11 รายชื่อผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังมาเฟียแท็กซี่ป้ายดำ มีทั้งนักการเมืองท้องถิ่น หัวหน้าคิวตามซุ้มต่างๆ ที่จะต้องถูกตรวจสอบเป็นพิเศษด้วยกฎหมายฟอกเงิน ขอเวลา 1 เดือนฟันมาเฟียเป็นเคสตัวอย่าง ยันไม่ทำเป็นไฟไหม้ฟาง และไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเด็ดขาด ด้านการท่าฯ รับลูกแก้แท็กซี่สนามบินภูเก็ตยกเลิกสัมปทาน เปิดกว้างให้เข้ามารับผู้โดยสารเหมือนสุวรรณภูมิ 31 สิงหาคมนี้
เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (9 ส.ค.) นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานบริหาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่เป็นภัยต่อการท่องเที่ยว (ศปอท.) ที่บริเวณชั้น 1 ท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมทั้งได้ตรวจเยี่ยมด่านตรวจจับรถแท็กซี่ป้ายดำที่ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต ดีเอสไอ ตำรวจ และจังหวัดภูเก็ต ได้จัดตั้งขึ้นเป็นวันแรกพร้อมกับการเปิดทำการอย่างไม่เป็นทางการของศูนย์ ศปอท. ที่สนามบิน และที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากการตั้งด่านดังกล่าวสามารถจับกุมรถแท็กซี่ป้ายดำ หรือรถแท็กซี่ผิดกฎหมายที่มาส่งผู้โดยสารได้กว่า 22 ราย ภายในเวลา 2 ชั่วโมง
จากนั้นได้หาหรือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลาง และจังหวัดภูเก็ต ทั้งนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ต.โชติ ชวาลวิวัฒน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดภูเก็ต ขนส่ง และจัดหางานจังหวัดภูเก็ต เกี่ยวกับการจัดระเบียบรถแท็กซี่ในสนามบินภูเก็ต
จากการหารือได้ข้อสรุปว่า ทางการท่าฯ จะปรับเปลี่ยนการให้บริการรถรับส่งผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานภูเก็ตใหม่หลังจากที่ครบสัญญาสัมปทานกับบริษัทเอกชน 2 ราย เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2556 ที่ผ่านมา มาเป็นการดำเนินการเองโดยทางการท่าฯ เหมือนกับที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อแก้ปัญหาการให้บริการของรถแท็กซี่ที่สนามบิน และตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยว
นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การดำเนินการของศูนย์ ศปอท.ในครั้งนี้จะไม่เลือกปฏิบัติเพื่อตอบสนองนโยบายการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวของรัฐบาล ซึ่งเรื่องของความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับภาพลักษณ์ และการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องนี้ได้เรียนให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบแล้ว ในการเปิดศูนย์ฯ ที่ภูเก็ต โดยการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดีเอสไอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยว รวมทั้งทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้หารือกับกระทรวงยุติธรรม คมนาคม มหาดไทย ผบ.ตร. ในการแก้ปัญหาร่วมกันที่ภูเก็ตเป็นพื้นที่แรก หลังจากนั้นจะไปเปิดศูนย์ต่อที่พัทยา จ.ชลบุรี และในเดือน ก.ย.นี้ จะมีการศาลท่องเที่ยวอีกด้วย เพื่อดูแลคดีที่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวทั้งหมด
การท่าฯ ยอมยกเลิกสัมปทานเปิดกว้างรถแท็กซี่รับผู้โดยสาร
น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานบริหาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ท่าอากาศยานฯ ยืนยันที่จะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้รับทราบข่าวนักท่องเที่ยวที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการของรถแท็กซี่ที่สนามบินภูเก็ต ทางการท่าฯ ก็ได้พิจารณาในเรื่องนี้ภายหลังจากที่สัญญาสัมปทานกับ 2 บริษัท และแท็กซี่มิเตอร์สิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิ.ย.2556 โดยได้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาไว้ 2 ทางเลือก คือ การให้สัมปทานแก่ 2 บริษัทต่อไปอีก หรือทางการท่าฯ จะเข้ามาดำเนินการรถแท็กซี่ที่สนามบินภูเก็ตเองเหมือนกับที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจะมีความชัดเจนภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ทางการท่าฯ ได้รับการร้องเรียนจากผู้ได้รับสัมปทานเดิมทั้ง 2 ราย ว่าหากยกเลิกสัมปทานทั้ง 2 บริษัทจะได้รับความเดือดร้อนมากเนื่องจากได้ซื้อรถใหม่มาให้บริการ แต่เมื่อดูข้อมูลในเชิงลึกพบว่า ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ที่จะนำรถมาวิ่งร่วมบริษัทสัมปทานจะต้องจ่ายค่าหัวคิวให้แก่ 2 บริษัทที่ได้รับสัมปทานสูงถึงคันละ 300,000 บาท ในตอนแรกแจ้งว่าเป็นค่าดาวน์รถใหม่ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นการเรียกเก็บค่าหัวคิวชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้ทางการท่าฯ จะต้องทำให้ชัดเจน และตอบสนองนโยบายของรัฐบาล แม้ว่าทางการท่าฯ จะต้องสูญเสียรายได้จากค่าสัมปทานรถบริการรับส่งผู้โดยสารที่สนามบินภูเก็ตปีละ 36 ล้านบาทก็ตาม ส่วนจำนวนรถที่จะมาวิ่งที่สนามบินนั้นจะต้องดูที่ความเหมาะสมของจำนวนนักท่องเที่ยว ที่ขณะนี้มีอยู่แล้วประมาณ 550 คัน ซึ่งการดำเนินการรูปแบบใหม่นั้นจะต้องให้มีการลงทะเบียนโดยการให้รถในพื้นที่ได้มีสิทธิก่อน พร้อมทั้งมีการตรวจสภาพรถ และติดอุปกรณ์ในการติดตามรถด้วย ส่วนราคาค่าโดยสารนั้น จะให้ทางจังหวัดเป็นคนดำเนินการให้เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งอาจจะสูงกว่าที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตามสภาพพื้นที่ภูเก็ตที่ต้องวิ่งรถเที่ยวเดียว
“ที่ผ่านมา ในช่วงโลว์ซีซันนักท่องเที่ยวน้อย ทำให้รายรับที่ได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายกับค่าหัวคิวที่ต้องจ่ายคันละ 300,000 บาท ทำให้คนขับแท็กซี่เหล่านี้ต้องพานักท่องเที่ยวไปแวะชอปปิ้งตามร้านต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ทางการท่าฯ ยินดีที่จะซัปพอร์ตนโยบายของรัฐบาล และยินดีที่จะยกเลิกสัมปทานรถรับส่งผู้โดยสารที่สนามบินภูเก็ตเพื่อแก้ปัญหาการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต” น.ต.ศิธา กล่าวในที่สุด
เผย 11 รายชื่อมาเฟียแท็กซี่ป้ายดำ
ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสวบสวนคดีพิเศษ กล่าวในที่ประชุมว่า หลังจากที่ดีเอสไอได้ลงพื้นที่ภูเก็ตทำงานมาระยะหนึ่ง ทำให้มีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังรถแท็กซี่ป้ายดำในภูเก็ต ที่พร้อมจะเปิดเผยรายชื่อแล้ว 11 ราย ซึ่งทั้ง 11 กลุ่มนี้เป็นรายชื่อเบื้องต้นนี้จะต้องถูกตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ เพราะมีเบาะแสว่าประกอบธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย และมีลักษณะเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังรถแท็กซี่ป้ายดำ รวมทั้งในห้วงเวลาต่อไปจะมีการเปิดเผยรายชื่อนักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภูเก็ต ตั้งแต่นายก อบจ. เทศบาล และ อบต.ทุกพื้นที่ในภูเก็ต ที่เข้าข่ายเข้าไปมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยให้กลุ่มแท็กซี่ป้ายดำเหล่านี้จัดตั้งซุ้มไม้ไผ่ตามหน้าโรงแรม และชายหาด รวมทั้งบีบบังคับให้นักท่องเที่ยวให้บริการรถของตนเอง
ขอเวลา 1 เดือนเชือดมาเฟียด้วยกฎหมายฟอกเงิน
“ดีเอสไอขอเวลดำเนินการตรวจสอบกับแท็กซี่ป้ายดำ และผู้อยู่เบื้องหลังทั้ง 11 รายชื่อ ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่นั้นเพียงพอที่จะดำเนินการว่ากลุ่มคนเหล่านั้นอยู่เบื้องหลังของกลุ่มแท็กซี่อิทธิพล อย่างบางรายมีการค้ำประกันรถแท็กซี่ป้ายดำถึง 200 กว่าคัน เป็นต้น โดยการดำเนินการนั้นจะใช้กฎหมายการฟอกเงินเข้ามาตรวจสอบ โดย ปปง.เข้ามาทำการยึด อายัด บัญชีเงินฝากไปทำการตรวจสอบ โดยให้ทางผู้มีอิทธิพลเป็นคนชี้แจงที่ไปที่มาของเงินดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ดีเอสไอขอเวลา 1 เดือน จะดำเนินการตรวจสอบรายชื่อ 11 ราย เป็นเคสตัวอย่างให้เห็น และในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐหากเข้าไปเกี่ยวข้องจะส่งเรื่องให้ อปท.ดำเนินการทันทีเช่นกัน”
นายธาริต กล่าวต่อว่า การเปิดรายชื่อผู้ที่เข้าข่ายมีเป็นผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังแท็กซี่ป้ายดำนั้น เป็นการส่งสัญญาณให้กลุ่มคนเหล่านั้นได้รับทราบ และหยุดพฤติกรรมดังกล่าว เพราะดีเอสไอมีข้อมูล และหลักฐานที่ได้จากการประสานของ 4 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงท่องเทีี่ยวฯ ดีเอสไอ. จ.ภูเก็ต และตำรจ ว่าทั้ง 11 รายชื่อดังกล่าวเป็นกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังรถแท็กซี่ป้ายดำ ซึ่งการดำเนินการของ ศปอท.นั้นจะดำเนินการภายใต้นโยบายไม่ให้ผู้ประกอบการรถแท็กซี่รายย่อยระดับรากหญ้าได้รับความเดือดร้อน สามารถจะทำมาหากินได้ภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด ส่วนจะมีการต่อต้านจากกลุ่มแท็กซี่ป้ายดำหรือไม่นั้น ทางดีเอสไอได้รับมอบนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ไม่ทำให้คนระดับรากหญ้าต้องเดือดร้อนเพราะคนเหล่านั้นไม่มีทางเลือกต้องอยู่ภายใต้อาณัติของผู้มีอิทธิพล และเชื่อว่าจะมีม็อบมาต่อต้าน ซึ่งม็อบเหล่านั้นก็มาจากผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ภาครัฐเห็นใจต้องการให้ทุกคนหยุดจากแก๊งก๊วนเหล่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐจะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และขอยืนยันว่าการทำงานของดีเอสไอในครั้งนี้ไม่เป็นไฟไหม้ฟาง และไม่มีการเรียกเก็บส่วยอย่างแน่นอน
นายธาริต กล่าวต่อว่า สำหรับศูนย์ ศปอท.นั้น หลังจากที่เปิดทำงานเป็นวันแรกในวันนี้แล้ว จะเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงาน 4 หน่วยงานหลัก ตลอด 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะเชิญนายกรัฐมนตรี มาเปิดอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยหลักการทำงานนั้นเมื่อได้รับแจ้งข้อร้องเรียนจะต้องแก้ปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนทันที กำหนดการทำงานเป็นนาที เป็นชั่วโมง มีการเก็บสถิติทุกอย่างเพื่อนำไปวิเคราะห์เป็นระบบ โดยในส่วนของแท็กซี่มิเตอร์ที่สนามบินภูเก็ตนั้นทางท่าอากาศยานฯ จะประกาศยกเลิกการให้สัมปทานในวันที่ 31 ส.ค.นี้ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว หลังจากนั้น จะมีการกำหนดราคาที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
โดยประชาชนที่ต้องการจะแจ้งเบาะแส ร้องเรียน ก็สามารถที่จะดำเนินการได้ทั้งการมาร้องเรียนด้วยตนเอง หรือผ่านทางคอลเซ็นเตอร์ หรือทางอินเทอร์เนตที่ www.dis.co.th แจ้งอาชญากรรมด้านการท่องเที่ยวได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งการแจ้งเบาะแสดังกล่าวทางศูนย์ฯ จะเก็บเป็นความลับทางราชการ