ศูนย์ปราบปรามโจรกรรมรถยนต์ สตช. แถลงผลงานเว็บไซต์ www.lostcar.go.th สายด่วน 1192 หลังได้รับแจ้งสามารถสกัดกั้นได้โดยใช้เวลา 3 นาที โดยมีผู้เสียหาย 6 ราย ร่วมการันตีผลงานหลังได้รับรถคืน
วันนี้ (4 ก.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง รอง ผบ.ตร.ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามโจรกรรมรถยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปจร.ตร.) ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ ศปจร.ตร. ตำรวจที่เกี่ยวข้อง พร้อมเชิญนายดุสิต สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตัวแทนบริษัทประกันภัย บริษัทผลิตตรถยนต์ค่ายต่างๆ มาหารือเพื่อหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการโจรกรรมทรัพย์สินภายในรถ หรือการโจรกรรมรถ โดยใช้วิธีการรบกวนสัญญาณรีโมตรถยนต์ โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชม.
พล.ต.อ.สมยศแถลงข่าวภายหลังการประชุมถึงผลการดำเนินการของ www.lostcar.go.th พร้อมเปิดตัวแฟนเพจ www.facebook.com/lostcar.1192 ที่ได้รับความร่วมมือจากสถานีวิทยุ สวพ.91 พร้อมเชิญผู้เสียหาย 6 ราย ที่ถูกโจรกรรมรถไปและได้รถคืนจากการแจ้งเบาะแสผ่านทางแฟนเพจ และหมายเลข 1192 มาให้ข้อมูล
พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ศูนย์รับแจ้งเหตุรถหาย 1192 ที่ทำงานร่วมกับ www.lostcar.go.th จุดสกัดกั้นยาเสพติดของทาง บช.ปส. และความร่วมมือจากสถานีวิทยุต่างๆ ทำให้เราสามารถติดตามรถกลับคืนมาได้หลายคัน ถือว่าโครงการนี้ได้ผล ขั้นตอนเมื่อรถหายแล้วแจ้งเรามาจะสามารถสกัดกั้นได้โดยใช้เวลา 3 นาที แล้วเราจะบันทึกไว้ในเว็บไซด์ ประชาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบรถหายได้ การเชื่อมโยงกับศูนย์สกัดกั้นยาเสพติดของ บช.ปส.ก็สามารถทำงานได้สมบูรณ์สามารถสกัดกั้นรถที่มีการแจ้งหายเข้ามา และด้วยความร่วมมือของภาคเอกชนและสื่อมวลชนทำให้ระบบมีประสิทธิภาพ อยากให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการผ่านมาเว็บไซต์และแฟนเพจ จนสามารถแจ้งเบาะแสพบรถที่มีการแจ้งหายไว้ได้จะได้รับรางวัลเป็นเงินสดคันละ 5,000 บาท เป็นแรงจูงใจให้ประชาชนช่วยเหลือกันช่วยเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เห็นได้ว่าตลอด 3 เดือนที่เราได้ทำงานเริ่มปรากฏผลงาน พี่น้องประชาชนได้รับทราบและใช้ประโยชน์จากโครงการที่เราสร้างขึ้นมา
น.ส.อริสรา สุ่มทอง อายุ 33 ปี เจ้าของรถยนต์โตโยต้า โซลูน่า สีแดง ทะเบียน ภต 2058 กทม. ซึ่งหายไปจากลานจอดรถโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน ได้แจ้งความและข้อมูลถูกบันทึกลงในแฟนเพจ “รถหาย” ซึ่งในขณะนั้นตนเองหมดหวังและไม่คิดว่าจะได้คืน แต่จากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ สวพ.91 ที่ตนเองโทร.เข้าไปแจ้งและให้ข้อมูลรถไว้ได้ติดต่อกลับมาว่ามีพลเมืองดีพบรถจอดอยู่ที่ สน.ประเวศ จึงไปตรวจสอบก็พบว่าเป็นรถของตนเอง
“เหมือนตื่นจากฝันร้าย ตอนที่รถหายใครๆ ก็บอกว่าไม่ได้คืน เราก็โทร.แจ้งไป 1192 และ สวพ.91 และส่งรูปภาพเข้าไป หลังจากนั้นเพียง 3 วันก็ได้รถคืนมา ดีใจมากๆ แม้รถจะเก่าแต่เราก็ผ่อนมันมาจากน้ำพักน้ำแรงที่ทำงานได้ ก็อยากจะขอบคุณทุกคนที่แจ้งเบาะแสและช่วยเหลือจนสามารถติดตามรถได้” น.ส.อริสรากล่าว
ด้าน น.ส.ชมพูนุท ทรัพย์สิน อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เจ้าของรถโตโยต้า ยาริส สีขาว ทะเบียน ญพ 3368 กทม. กล่าวว่า ตนเองถูกจี้ชิงรถไปเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา วันเกิดเหตุตนเองได้จอดรถที่ลานกลางแจ้งห้างสรรพสินค้าโลตัส สาขาหลักสี่ ช่วงเวลาประมาณ 13.20 น.ก็เดินมาเปิดประตูเพื่อขึ้นรถ เมื่อขึ้นไปนั่งที่เบาะคนขับปรากฏว่าคนร้ายได้มานั่งที่เบาะด้านหลังฝั่งคนขับแล้วใช้มีดจี้บอกให้ขับรถออกไป ตนเองก็ทำตามและเมื่อขับรถออกมาก็ขอลง คนร้ายก็ยอมให้ลงแล้วก็เอารถไป
น.ส.ชมพูนุทกล่าวอีกว่า ตนเองก็ได้ไปแจ้งความและแจ้งไปยังสถานีวิทยุต่างๆ เว็บไซต์ www.lostcar.go.th และแชร์รูปในเฟซบุ๊กให้เพื่อนๆ ช่วยกันแชร์ เพียง 3 วันก็ได้รับการติดต่อจาก 1192 ว่ามีพลเมืองดีพบรถแล้วจอดอยู่หลัง รพ.ภูมิพล ก็ไปตรวจสอบปรากฏว่าเป็นรถของตัวเองจริงๆ ก็รู้สึกดีใจที่ได้รถคืนมาและขอบคุณผู้ที่แจ้งเบาะแสอย่างมาก
“ถึงตอนนี้ตนเองยังไม่กล้าขับรถไปไหนมาไหนคนเดียว เพราะยังผวากับเหตุการณ์ที่ถูกจี้ชิงทรัพย์ ไปไหนมาไหนตอนนี้มีความระแวดระวังมากขึ้น มองซ้ายมองขวา มองหน้ามองหลัง กลายเป็นคนหวาดผวาไป ก็อยากฝากเตือนโดยเฉพาะผู้หญิงที่ไปไหนมาไหนคนเดียว ให้ตั้งสติหากต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ คนร้ายต้องการอะไรก็ยอมให้ไปเพื่อรักษาชีวิต อย่าไปขัดขืนหรือต่อรอง พยายามออกห่างคนร้ายให้เร็วที่สุด” น.ส.ชมพูนุทกล่าว
ทางด้านนายปภังกร เก่นไกรฤกษ์ อายุ 44 ปี ซึ่งเป็นผู้แจ้งเบาะแสผ่านสายด่วน 1192 กล่าวว่า ปกติจะเล่นเฟซบุ๊กเป็นประจำทุกวัน และเป็นแฟนเพจ “รถหาย” อยู่แล้ว วันที่พบรถได้ไปส่งของย่านลาดกระบังเห็นรถที่ถูกแจ้งหายจอดทิ้งไว้ จึงแจ้งไปยังสายด่วน 1192 และให้เจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบและก็พบว่าเป็นคันเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.สมยศ พร้อมด้วยอาจารย์ดุสิตได้ร่วมกันสาธิตวิธีการรบกวนสัญญาณรีโมตรถยนต์ โดยใช้สัญญาณรีโมตด้วยกันกวนสัญญาณทำให้รถไม่สามารถล็อกได้ โดยใช้รถยนต์หลายยี่ห้อในการสาธิต ปรากฏว่าเมื่อมีการกวนสัญญาณรีโมตทำให้เมื่อกดล็อกรถ รถก็ไม่สามารถล็อกได้ แต่ก็มีบางจังหวะที่รถสามารถล็อกได้เหมือนเดิม
พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า เมื่อมีการกวนสัญญาณรีโมตรถ บางครั้งทำให้รถไม่ล็อกทั้งที่มีการกดล็อก แต่บางครั้งก็ล็อกได้ ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะที่สัญญาณวิทยุจะรบกวนกัน เพื่อความปลอดภัย ประชาชนผู้ใช้รถเมื่อล็อกรถแล้วให้ใช้มือดึงดูอีกครั้งเพื่อความแน่ใจว่ารถได้ล็อกเรียบร้อยแล้ว
ด้านนายดุสิตกล่าวว่า ลักษณะวิธีการโจรกรรมโดยวิธีการรบกวนสัญญาณรีโมตที่ใช้ในการล็อกประตูรถยนต์ คนร้ายจะอาศัยรถที่ใช้สัญญาณความถี่ของรีโมตรถยนต์ใกล้เคียงกัน ในระยะห่างประมาณ 30 เมตร โดยเมื่อกดรีโมตรถยนต์คันที่ 1 ค้างทิ้งไว้ เมื่อกดรีโมทรถยนต์คันที่ 2 เพื่อกดเปิด/ปิดรถ รีโมตของรถยนต์คันที่ 2 จะไม่ทำงาน ซึ่งเทคนิคดังกล่าว ทำให้คนร้ายนำไปประยุกต์ใช้กับรถของคนทั่วไป ที่เมื่อคนขับลงจากรถแล้วกดรีโมตเพื่อล็อกรถ จากนั้นเดินจากไปโดยไม่ได้ทำการตรวจสอบอีกครั้งว่า ประตูรถของตนนั้นล็อคแล้วหรือไม่ คนร้ายจึงอาศัยช่วงจังหวะที่เจ้าของรถไม่อยู่เข้าไปโจรกรรมทรัพย์สินภายในรถ และบางครั้งก็อาจโจรกรรมรถไปทั้งคัน ผู้ใช้รถควรจะตรวจสอบรถทุกครั้งว่าหลังจากกดรีโมตแล้ว รถของท่านล็อกเรียบร้อยแล้วหรือยัง และควรระวังอันตรายจากรีโมตรถยนต์ไม่ล็อกด้วย สำหรับสถานที่ได้รับการร้องเรียนว่าเกิดเหตุดังกล่าวบ่อยที่สุดยังคงเป็นลานจอดรถในห้างสรรพสินค้า
อาจารย์ดุสิตกล่าวว่า จากการหารือกับบริษัทรถเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ยังไม่มีข้อยุติว่าใครจะเป็นเข้าภาพในการไปดูแลเรื่องระบบป้องกันภัยแบบนี้ มันไม่ถูกต้องที่จะให้ประชาชนต้องตรวจอสอบทุกครั้งที่กดรีโมตล็อก เพราะถ้าครั้งใดที่ประชาชนลืมตรวจสอบแล้วถูกโจรกรรมก็ไม่ยุติธรรมกัต่อบประชาชน บางบริษัทก็บอกว่าจะดำเนินการหามาตรการป้องกันในการผลิตรถรุ่นต่อๆ ไป นั่นหมายถึงว่าต้องซื้อรถใหม่แล้วรถที่ขายออกไปแล้วเป็นล้านๆ คันก็ไม่มีใครรับผิดชอบอย่างนั้นหรือ
นายดุสิตกล่าวด้วยว่า คนร้ายจะใช้แทคโนโลยีที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อไม่นานมานี้ก็มีคนร้ายโชว์เปิดประตูรถยี่ห้องมินิออสติน แต่ไม่เอารถเอาทรัพย์สินไป เหมือนบอกให้รู้ว่าทำได้ และต่อไปก็จะใช้ระบบกวนสัญญาณโดยใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือโน้ตบุ๊ก หรือรูปแบบใหม่ๆ ที่คนร้ายจะพัฒนาไป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำอย่างจริงจัง มีเจ้าภาพจริงๆ ที่ทำงานด้านนี้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันทรัพย์สินให้ประชาชน