xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : หนทางสู่ความมั่งคั่ง จดหมายจากพ่อถึงลูก ฉบับที่ 7

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึง...ตุลย์....ลูกรัก

ลูกโทรมาปรารภเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัวแต่ละเดือน และถามพ่อว่า ทำไมสามารถดูแลลูกหลานได้โดยไม่เดือดร้อน แม้พ่อจะตอบลูกไปทางโทรศัพท์แล้ว แต่ก็อยากให้ลูกได้เข้าใจในคำตอบของพ่ออย่างชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติให้เห็นผลได้ เพื่อความสำเร็จในชีวิตที่ปรารถนา

ในสังคมปัจจุบัน ทุกชีวิตล้วนผูกพันอยู่กับเงิน ตั้งแต่เกิดจนตาย เงินคือสิ่งที่จะแปรเปลี่ยนเป็นปัจจัย ๔ เพื่อการดำรงชีวิต เป็นสื่อที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์กันในสังคมตามฐานะที่เกี่ยวข้องกับเงิน เงินจึงมีฐานะเป็นนายของบุคคลที่มีความอยากได้ไม่สิ้นสุด มีฐานะเป็นทาสรับใช้ของบุคคลที่รู้จักความพอเพียงในการดำเนินชีวิต ซึ่งฐานะทั้งสองนี้ล้วนมีเราเป็นผู้กำหนด เงินจึงปรากฏแก่บุคคลใน ๓ ขั้นตอน คือ ๑. การแสวงหาและรักษาเงิน ๒. การจัดสรรเงิน ๓. การจับจ่ายใช้เงิน ซึ่งในแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดดังนี้

๑. การแสวงหาและรักษาเงิน คนที่ปรารถนาจะมีเงินเป็นสมบัติส่วนตน ก็ต้องรู้จักแสวงหา เมื่อได้เงินมาแล้ว ก็ต้องรู้จักรักษาเงินนั้นไว้เพื่อทำประโยชน์ในกาลต่อมา การแสวงหาเงินได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพของตน

อาชีพที่จะสามารถนำให้ได้เงินมามีอยู่ ๒ ประการคือ สัมมาอาชีวะ อาชีพที่สุจริต และ มิจฉาอาชีวะ อาชีพที่ทุจริต อันได้แก่การแสวงหาเงินในทางมิชอบ คือการโกงหรือหลอกลวง การประจบสอพลอ การบีบบังคับขู่เข็ญ และการต่อลาภด้วยลาภ อยากได้เงินมาง่ายๆ โดยไม่อาศัยกำลังแห่งสติปัญญาและแรงกาย ซ้ำโลภจนไม่ชอบธรรม

ต้นตระกูลของเราท่านผ่านการทำงานในอาชีพทั้งสองมาแล้ว เห็นคุณของสัมมาอาชีวะ เห็นโทษของมิจฉาอาชีวะ ท่านจึงตรากฎของตระกูลไว้ห้ามลูกหลานทำมิจฉาอาชีวะ คือ ไม่ทำอาชีพขายอาวุธ, ไม่ค้ามนุษย์, ไม่ค้าขายสัตว์เป็น, ไม่ขายสุรา, ไม่ขายยาพิษ และห้ามอย่างเด็ดขาดคือห้ามเล่นการพนัน เพราะเงินที่ได้จากการทำมิจฉาอาชีวะล้วนแต่นำมาซึ่งความทุกข์ยากเดือดร้อนให้เกิดแก่ตนเองและครอบครัว ทำวงศ์ตระกูลให้เสื่อมเสียฐานะทางสังคม

ตระกูลเราจึงสนับสนุนลูกหลานให้เรียนหนังสือตามกำลังความสามารถ เพื่อให้ประกอบสัมมาอาชีวะที่ถูกต้องตามจารีตประเพณีและกฎหมายของบ้านเมือง เมื่อสามารถประกอบสัมมาอาชีวะได้แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำตนให้มีคุณธรรม ๔ ประการ สนับสนุนให้เป็นผู้มีความสามารถในการแสวงหาและรักษาเงินไว้ได้ คือ

๑.๑ ความขยันหมั่นเพียร พ่อได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในจดหมายฉบับที่แล้ว แต่ในที่นี้หมายถึงความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพที่สุจริต ตั้งใจฝึกฝนให้เกิดความชำนาญและรู้จริงในอาชีพของตน ทำอาชีพของตนให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

ดังนั้น ต้องทำตนเองให้ปราศจากความเกียจคร้านในการทำงาน ละเว้นตัวบ่อนทำลายอาชีพของตน พยายามนำสิ่งที่จะอำนวยผลให้อาชีพของตนมีประสิทธิภาพมากที่สุด และรักษาคุณภาพในการประกอบอาชีพให้ได้มาตรฐานสูงสุดอยู่เสมอ

ลูกย่อมตระหนักรู้ด้วยตนเองเป็นอย่างดีว่า ความขยันหมั่นเพียรจะช่วยอำนวยความดีที่นำให้ลูกได้รับเงินเพิ่มจากปกติได้อย่างไร เงินที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงจะให้ความภูมิใจแก่ตนเองอย่างไร มีแต่ตนเองเท่านั้นที่ทราบได้ จึงมีคนกล่าวไว้ว่า “ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน” นี่คือการแสวงหาเงินอย่างแท้จริง

๑.๒ รู้จักการดูแลรักษาเงิน เมื่อหาเงินมาด้วยความขยันหมั่นเพียรแล้ว เราต้องรู้จักการดูแลรักษาเงินนั้นไว้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามกำลังความสามารถของตนเอง

การรักษาเงินก็มีอยู่ ๒ วิธี คือ ๑. การเก็บเงินในรูปแบบเงินฝากในธนาคาร หรือการซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือการซื้อสลากออมสิน ๒. การเก็บเงินด้วยการลงทุนระยะยาวในตลาดหลักทรัพย์ ในธุรกิจที่มีการดำเนินกิจการที่ดี มีผลประกอบการได้กำไร สามารถจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นได้สม่ำเสมอ ซึ่งลูกคงจะต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องนี้เพิ่มเติม

พ่ออยากให้ลูกได้หมั่นเรียนรู้ถึงการรักษาเงินให้ได้มูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ อันจะนำมาซึ่งสุขประโยชน์ในอนาคตได้อย่างลงตัว

๑.๓ รู้จักคบมิตรที่ดี ลูกต้องรู้จักเลือกคนมาเป็นมิตรที่ดี คือ เป็นเพื่อนที่มีความหวังดี ปรารถนาที่ดีต่อกัน การคบมิตรที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำชีวิตไปสู่ความเจริญงอกงามไพบูลย์ก้าวหน้า หาความเสื่อมไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงสอนถึงลักษณะมิตรที่ดีไว้ ๔ ประการคือ ๑. มีอุปการะ ๒. ร่วมทุกข์ร่วมสุข ๓. แนะนำประโยชน์ ๔. มีความรักใคร่ มิตรที่มีลักษณะเช่นนี้ ลูกก็พึงคบหาสมาคมไว้ให้มาก

ส่วนลักษณะของมิตรที่ไม่ดี มี ๔ ประการคือ ๑. เป็นคนปอกลอก คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๒. คนดีแต่พูด ๓. คนหัวประจบ ๔. คนชักชวนในทางไม่ดี มิตรที่มีลักษณะเช่นนี้ ลูกก็เลิกคบไปเลย

บรรพชนไทยท่านฉลาดแฝงอุบายเตือนลูกหลานให้รู้จักใช้ปัญญาในการหามงคลใส่ตัว ด้วยการกำหนดให้จุดเทียนในขณะที่พระเริ่มสวดบทมงคลสูตร มงคลข้อที่ ๑ ท่านว่า ไม่คบคนพาล ข้อที่ ๒ คบบัณฑิต ดังนั้น การคบมิตรจะเป็นมงคลหรืออัปมงคล ก็ย่อมอยู่ที่เราได้ใช้ปัญญาความรู้ในการเลือกเฟ้นคนที่มาเป็นมิตรได้หรือเปล่า เพราะนี่เป็นหนทางแห่งการเพิ่มพูนเงินของเรา และก็ทำเงินของเราให้สูญหายได้

๑.๔ อยู่อย่างพอเพียง นี่เป็นข้อสำคัญที่สุดในการรักษาเงินที่เราหามาได้ พ่ออยากให้ลูกทำบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวันตามจริงในครอบครัว เพราะจะทำให้ลูกได้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เป็นต้นเหตุของปัญหาการเงิน ทั้งยังช่วยให้ลูกรู้จักปรับวิธีใช้จ่ายเงินและควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เมื่อค่าใช้จ่ายน้อยลง ลูกก็จะมีเงินเหลือออมมากขึ้น สามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น ที่สำคัญคือจะสนับสนุนให้ลูกรู้จักดูแลรักษาเงินที่หามาได้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยความไม่ประมาท

การใช้จ่ายเงินทองอย่าง “รอบคอบ” และ “ระมัดระวัง” เท่ากับว่าลูกกำลังเดินไปสู่ “ความมั่งคั่ง” ในอนาคต การจะทำชีวิตให้ถึงความมั่งคั่งเช่นนี้ได้ จำเป็นที่ลูกจะต้องรู้จักการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงด้วยหลัก “สันโดษ” คือรู้จักปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความพอดีในชีวิตประจำวัน ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินไป ไม่เขียมเกินไป ไม่ฟุ้งซ่านจนเกิดเดือดร้อน รู้จักทำให้ชีวิตมีความอิ่ม ไม่พร่อง ทำชีวิตให้มีสุขสันติอยู่เสมอ

ท่านบอกลักษณะสันโดษไว้ ๓ ประการคือ ๑. ยินดีพอใจในสิ่งที่มีที่ได้มา ด้วยเรี่ยวแรงของตนในทางชอบธรรม ไม่ดิ้นรนอยากได้จนทำให้เกิดความเดือดร้อน ๒. ยินดีพอใจกำลังของตน ใช้กำลังที่มีอยู่ เช่นความรู้ ความสามารถให้เกิดผลเต็มที่ ไม่ย่อหย่อนบกพร่อง ๓. ยินดีพอใจแต่ไม่เกินเลย คือรู้จักพอเป็น อิ่มเป็น และแบ่งปันส่วนที่เกินเลยไปเอื้อเฟื้อผู้อื่นตามสมควร เมื่อลูกสามารถนำครอบครัวให้อยู่อย่างสันโดษ การกู้หนี้ยืมสินก็จะไม่เกิดขึ้น แล้วที่สุดลูกก็จะรู้ว่า ”รู้จักพอ ก่อสุขทุกสถาน" ได้อย่างไร

๒. การจัดสรรเงิน เงินที่ลูกหามาได้ จำเป็นต้องมีการบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินชีวิต ในหลักการจัดสรรเงิน พ่ออยากให้ลูกปฏิบัติตามพุทธโอวาทที่ทรงสอนสิงคาลกมานพที่ว่า

“เมื่อบุคคลออมโภคสมบัติอยู่เหมือนแมลงผึ้งผนวกรัง โภคสมบัติย่อมถึงความสั่งสมดุจจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้น ฉะนั้น คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถ ครั้นสะสมโภคสมบัติได้อย่างนี้แล้ว พึงแบ่งโภคสมบัติออกเป็นสี่ส่วน เขาย่อมสมานมิตรไว้ได้ พึงใช้สอยโภคสมบัติด้วยส่วนหนึ่ง พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน พึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ด้วย หมายว่าจักมีไว้ในยามอันตราย”

ลูกจะพบว่า ทรงสอนให้ใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิตส่วนหนึ่ง ใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนงานอาชีพให้เกิดความชำนาญจนสามารถหาเงินได้เพิ่มเติมสองส่วน และเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินมีเหตุจำเป็นส่วนหนึ่ง เมื่อสามารถแยกเงินได้อย่างชัดเจนเช่นนี้ เงินของลูกก็จะถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ลูกจำเป็นต้องบริหารเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดอยู่เสมอ

๓. การจับจ่ายใช้เงิน นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าเรารู้จักจับจ่ายใช้เงินได้ถูกต้อง เงินก็จะอำนวยศุภผลได้อย่างบริบูรณ์ พ่อได้นำหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอนาถบิณฑิกเศรษฐีมาใช้แล้วรู้สึกว่าได้ผลดี จึงอยากให้ลูกได้นำไปใช้เป็นหลักในการจับจ่ายเงินดู

หลักการก็มีดังนี้ ๑. ใช้เงินเลี้ยงดูครอบครัว บิดามารดา ตลอดถึงผู้ที่อยู่ในความปกครอง ให้ได้รับความสุขตามอัตภาพ ๒. ใช้เงินเลี้ยงดูมิตรสหายที่ดี และผู้ร่วมกิจการงานอาชีพ ให้ได้รับความสุขพอสมควร ๓. ใช้เงินปกป้องรักษาสวัสดิภาพของตนเองและครอบครัวจากภยันตรายทั้งปวง ๔. ใช้เงินเพื่อบำรุงญาติ ต้อนรับแขก ทำบุญอุทิศกุศลให้ปิยชนผู้ล่วงลับไปแล้ว เสียภาษีให้รัฐเพื่อบำรุงสาธารณูปโภค และทำบุญอุทิศให้เทวดาผู้ปกปักรักษาตนเองและครอบครัว ๕. ใช้เงินทำบุญสงเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ ผู้ที่เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์

เมื่อลูกสามารถจับจ่ายใช้สอยเงินได้ตามนี้ ลูกก็จะเห็นผลของเงินที่ติดตามมา จงจำไว้ว่า เงินที่ถูกใช้ไปอย่างมีเหตุผล ย่อมนำมาซึ่งความสุขในทันทีที่ใช้ไป และทุกครั้งที่คิดถึงก็จะทำให้สุขใจภูมิใจที่ได้ใช้เงินนั้นไป

สิ่งหนึ่งที่พ่อขอห้ามเด็ดขาดในเรื่องการใช้เงินคือ ห้ามนำเงินไปเล่นการพนัน เพราะนี่คือหนทางที่จะนำความหายนะมาสู่ตนเองและครอบครัว มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย การพนันทำให้คนตกนรกตั้งแต่มีลมหายใจ

ลูกจงจำไว้ว่า เมื่อได้ใช้เงินให้เกิดประโยชน์ตามหลักการนี้แล้ว ถึงเงินจะหมดไป ลูกก็สบายใจได้ว่า ได้ใช้เงินนั้นให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ได้ใช้เงินในทางที่ผิดและไม่เกิดประโยชน์ การกระทำอันเกิดจากเงินนี้ ย่อมมีแต่คุณ ไม่มีโทษแก่ตนเองและสังคมอย่างแน่นอน

วันนี้ในสังคมมีตัวอย่างของคนที่เป็นนายของเงินและเป็นทาสของเงินให้ดูอยู่มากมาย ดังนั้น พ่อจึงอยากให้ลูกเลือกเป็นนายของเงิน ทำให้เงินที่หามาได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม อำนวยผลให้เกิดสุขประโยชน์แก่ตนเองและครอบครัวให้มากที่สุด ลูกก็จะมีพลังในการดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ได้กำหนดไว้อย่างมั่นคง

นี่ล่ะสิ่งที่พ่อมักพูดกับลูกเสมอว่า ชีวิตของเรา เราย่อมเป็นผู้ลิขิตในความสามารถของเราเสมอ ผลที่จะประสบนั้นจะเป็นเช่นไร ก็จงเผชิญกับมันด้วยความภูมิใจว่า นี่คือลิขิตของเราเอง

ด้วยรัก
พ่อโต


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 151 กรกฎาคม 2556 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)


กำลังโหลดความคิดเห็น