xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น “จะนะ” ถูกเปลี่ยนเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ ชาวบ้านตื่นตัวยื่นหนังสือขอมีส่วนร่วมกำหนดผังเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นหวั่นผังเมืองรวม จ.สงขลา จะกำหนดให้ อ.จะนะ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมรองรับท่าเรือน้ำลึก รวมตัวยื่นหนังสือให้รักษาพื้นที่สีเขียวซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิต และการประกอบอาชีพของชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมขอมีส่วนร่วมในการปรับผังเมือง

วานนี้ (17 ก.ค.) ชาวอำเภอจะนะ ในนามเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้รวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา เพื่อยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอมีส่วนร่วมในการปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พร้อมเสนอข้อกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประโยชน์การใช้สอยที่ดิน ซึ่งเกรงว่าพื้นที่ อ.จะนะ จะถูกผังเมืองกำหนดให้เป็น “พื้นที่สีม่วง” ซึ่งหมายถึงพื้นที่อุตสาหกรรม โดยมีนายณัฐพงษ์ ศิริชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา รับหนังสือชี้แจง และร่วมฟังข้อคิดเห็นของชาวบ้าน

นายกิติภพ สุทธิสว่าง ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลข่าวสารพบว่ารัฐบาลได้ชะลอการประกาศผังเมืองรวมจังหวัด ทั้งนี้ โดยรวมนั้นพื้นที่ จ.สงขลา เป็นพื้นที่สีเขียว และสีชมพู ซึ่งดีอยู่แล้ว แต่ในส่วนของ อ.จะนะ นั้นยังมีบางส่วนที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะส่วนที่ยังเป็นพื้นที่สีม่วง ซึ่งหมายถึงพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้ใน อ.จะนะ มีโรงงานอุตสาหกรรมมากถึง 175 แห่ง ยังไม่นับรวมโรงแยกก๊าซ และโรงไฟฟ้า

“เราไม่ได้คัดค้านการพัฒนา แต่เราต้องการการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานทรัพยากรและศักยภาพที่เรามี ทั้งนกเขาชวา การทำประมงชายฝั่ง ยางพารา และนาข้าวอีก 2,000 ไร่ เราเชื่อว่า ศักยภาพเหล่านี้จะหล่อเลี้ยงคนจะนะให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ และการพัฒนาแหล่งอาหารคือการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีของโลก การพัฒนาไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว และสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วนั้นก็มีไป แต่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีกว่านี้ ส่วนโรงไฟฟ้า และโรงแยกก๊าซที่มีอยู่แล้ว ก็ไม่ควรจะมีเพิ่มอีก เพราะตอนนี้คนจะนะเจอมลพิษ และปัญหาต่างๆ มาเยอะมากแล้ว” นายกิติภพ กล่าว

สำหรับการมายื่นหนังสือในครั้งนี้ เครือข่ายรักษ์จะนะได้ยื่นข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงผังเมืองรวม จ.สงขลา ดังนี้

1.ขอให้รักษาการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่สีเขียวชนบท และเกษตรกรรม พื้นที่ที่ดินประเภทอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว และที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการประมง โดยไม่ลดพื้นที่สีเขียวชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่ที่ดินประเภทอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว และที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการประมง และยังคงข้อห้ามกิจกรรมที่มีผลกระทบไว้ตามผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาที่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อ พ.ศ.2548

2.ขอให้เปลี่ยนแปลงการกำหนดพื้นที่บริเวณการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (พื้นที่สีม่วง) ให้ อ.จะนะ เป็นประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน

และขอให้เพิ่มข้อกำหนดห้ามการใช้ประโยชน์เป็นท่าเรือในพื้นที่สีเขียวชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่ที่ดินประเภทอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว และที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการประมง เพราะท่าเรือเป็นกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของพื้นที่อาหารทางทะเล พื้นที่สีเขียวบนฝั่งซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่สงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการท่องเที่ยว และจะส่งผลให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องภายหลังการมีท่าเรือ ซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศบนฝั่ง และทะเลที่เชื่อมโยงกับการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ และความมั่นคงของชุมชน

3.ขอให้มีการแจ้งข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินการปรับปรุงผังเมืองรวม จ.สงขลา ให้ทางเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และประชาชนในชุมชนได้รับทราบ และหากมีการประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานฯ เพื่อพิจารณาปรับปรุงผังเมืองฉบับนี้ ขอให้แจ้งเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้เข้าร่วมประชุม และชี้แจงเหตุผลข้อมูลในการขอรักษาส่วนที่ดี และข้อเสนอเพิ่มเติม เพื่อให้ผังเมืองรวม จ.สงขลา ได้ปรับปรุงเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชุมชน ตามเจตนารมณ์ของการวางผังเมือง

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ อ.จะนะ ด้วย คือ การพัฒนาอาชีพเลี้ยงนกเขาชวา ซึ่งปัจจุบันทำรายได้ให้ อ.จะนะ อย่างต่อเนื่องปีละกว่า 500 ล้านบาท และสร้างงานให้เกิดอาชีพต่อเนื่องจากการเลี้ยงนกอีกกว่า 10 อาชีพ ในขณะเดียวกัน อาชีพประมงชายฝั่งก็สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 300 ล้านบาทต่อปี และไม่เพียงเป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่ และคนในประเทศเท่านั้น แต่อาหารทะเลจาก อ.จะนะ ยังส่งไปขายยังต่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ ยังมีนาข้าวจำนวน 2,000 ไร่ ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง คือ “ข้าวลูกปลา” ก็เป็นข้าวที่มีคุณมีประโยชน์ และสามารถปลูกได้ดีที่สุดที่ อ.จะนะ เท่านั้น แต่ในส่วนของยางพารานั้น เริ่มได้รับผลกระทบจากการที่มีโรงไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่ ความร้อนจากโรงไฟฟ้า ทำให้น้ำยางไม่ค่อยออก ผลผลิตต่ำ

นายณัฐพงษ์ ศิริชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ผังเมืองถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยกำหนดกติกา และแก้ปัญหาเกี่ยวกับการใช้สอยพื้นที่ ทั้งนี้ ยังไม่อยากให้พี่น้องชาวจะนะตื่นตระหนกกับการแก้ไขผังเมือง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเก็บข้อมูล และหลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเชิญตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย

จากนั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้เสนอแนะให้เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นทำบันทึกข้อความเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อยื่นต่อจังหวัดสงขลา ว่าต้องการกำหนดการใช้สอยประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ของตนเองอย่างไรบ้าง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการกำหนดผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาต่อไป

 
 




กำลังโหลดความคิดเห็น