พังงา - ชาวบ้าน ต.ทุ่งคาดโงก อ.เมือง จ.พังงา วอนให้หน่วยงานราชการเข้าช่วยเหลือ สร้างทางเข้าออกทั้งผลผลิตการเกษตร และเส้นทางสัญจรอย่างเร่งด่วน หลังถูกน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมที่ผ่านมาจนทำให้เกิดปัญหา
เมื่อเวลา 11.30 น. วันนี้ (13 ก.ค.) นายประหยัด ว่องปลูกศิลป์ ผู้ใหญ่บ้านบางมุด หมู่ที่ 4 ต.ทุ่งคาดโงก อ.เมือง จ.พังงา พร้อมด้วยชาวบ้านอีกกว่า 10 ครัวเรือน นำสื่อมวลชนดูความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยพบว่า มีความเสียหายน้ำกัดเซาะริมตลิ่งจนทำให้ที่ประชุมหมู่บ้านได้รับความเสียหายไปครึ่งตัวอาคาร ต่อมา เป็นอาคารกลุ่มอาชีพของแม่บ้านเกษตรกรในการผลิตเครื่องแกงจำหน่าย ซึ่งขณะนี้ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถรวมกลุ่มผลิตเครื่องแกงได้ จากนั้นทางชาวบ้านร่วมเดินทางเข้าไปสำรวจความเสียหาย ซึ่งทางมีลักษณะเป็นโคลนตม ต้องใช้รถโฟร์วีล มีต้นยางพารา และเศษไม้ยางพาราเกลื่อนเต็มถนน จนทางชาวบ้านต้องใช้ช้าง จำนวน 3 เชือก นำต้นยางพารา และกิ่งไม้ต่างๆ ออกจากเส้นทางสัญจรอย่างเร่งด่วน
ต่อมา พบว่าถนนทางเข้าสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และสวนผลไม้ที่กำลังออกผลอยู่ในขณะนี้ไม่สามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ซึ่งเส้นทางสัญจรของชาวบ้านระยะทางยาวประมาณ 150 เมตร และกว้าง 6 เมตร ถูกน้ำกัดเซาะจนไม่สามารถเดินผ่านไปมาได้ จนทำให้ชาวเกษตรกรขาดรายได้ต่อวันละประมาณ 4,000-6,000 บาท จำนวนกว่า 10 ราย ส่วนอีกแห่งเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ได้ถูกน้ำพัดพาฐานรากต้นสะพานหักพังลงมา โดยชาวบ้านและเด็กนักเรียนที่อาศัยเส้นทางดังกล่าวต้องเสี่ยงในการเดินทาง มีเพียงไม้กระดานพาดไว้เป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นก่อน ในความเดือดร้อนครั้งนี้เวลาผ่านล่วงเลยมา 8 วัน ทางผู้เดือดร้อนจึงขอให้ทางหน่วยงานมาช่วยเหลือ และแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านด้วย เพราะผลผลิตทางการเกษตรต้องนำสู่ตลาดให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค
ด้าน นายสำราญ แก้วภักดี อายุ 36 ปี ผู้นำช้างมาช่วยเหลือในงานดังกล่าว เปิดเผยว่า ตนเองพร้อมกับชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ซึ่งน้ำป่าไหลหลากล่าสุดสร้างความเสียหายแก่ชาวบ้านแล้ว ตนเองร่วมกับชาวบ้านได้นำช้าง จำนวน 3 เชือกเพื่อทำเส้นทางให้ดีขึ้น จนล่าสุดรถทุกชนิดผ่านไปมาได้
ส่วน นางจงกล สมมาตร เจ้าของสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่กล่าวว่า น้ำป่าไหลหลากในปีนี้พัดรุนแรงมากทำให้ถนนสายบางมุดในถูกตัดขาด โดยมีบ้านเรือนติดอยู่ภายในจำนวน 4-5 ครัวเรือน ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่ภายในนั้นต้องว่ายน้ำข้ามมายังฝั่งถนนใหญ่ และบางครัวต้องออกมาอาศัยบ้านเพื่อนที่สนิทสนมกัน เป็นลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน สำหรับตนเองนั้นประสบปัญหาคือ การขาดรายได้ต่อวันรวมทั้งผลไม้ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ต้องสูญเสียรายได้ต่อวันวันละ 5,000-6,000 บาท
ขณะที่ นายดวน แก้วภักดี อายุ 75 ปี กล่าวว่า ตนเองรู้สึกหวาดกลัวเหมือนกันในการสัญจรข้ามสะพานที่หักโค่นลงแต่ก็ทำอย่างไรไม่ได้เพราะต้องใช้เป็นกิจวัตรประจำวัน มีหลานที่เป็นนักเรียนก็ต้องใช้เส้นทางดังกล่าว ส่วนความเสียหายนั้นพบว่า ต้นยางพารา ต้นปาล์มน้ำมันได้รับความเสียหายมาก หากมีน้ำหลากขึ้นมาอีกสะพานแห่งนี้คงจะขาด และเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอนและตั้งแต่อยู่มา 75 ปี นับว่าน้ำป่าไหลหลากรุนแรงที่สุดเท่าที่ตนเองได้อยู่มา