สุราษฎร์ธานี - ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 6 สุราษฎร์ฯ เผยเม็ดเงินไหลเข้าลงทุนครึ่งปีแรกสูงกว่า 3 หมื่นล้านบาท รับอนุมัติ 43 โครงการ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นประเภทอุตสาหกรรมเกษตร และผลผลิต ส่วนกลุ่มทุนเป็นของคนไทยเป็นหลัก และต่างชาติแจมบางส่วน
วันนี้ (10 ก.ค.) นายสุวิชช์ ฉั่ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 6 สุราษฎร์ธานี หรือบีโอไอ เปิดเผยถึงสภาวะการลงทุนในครึ่งปีแรกของปี 2556 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.ว่า ในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จำนวนทั้งสิ้น 43 โครงการ เงินลงทุน 33,047 ล้านบาท การจ้างงาน 3,058 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมานั้น มีโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.47 เงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 251.72 และการจ้างงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.72
ทั้งนี้ โครงการที่ได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนส่วนใหญ่ยังคงเป็นการลงทุนในประเภทอุตสาหกรรมการเกษตร และผลผลิตการเกษตร โดยเป็นการลงทุนที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง และเป็นกิจการที่ได้รับความนิยมสูงสุด รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมประเภทบริการ และสาธารณูปโภค
ส่วนกิจการอุตสาหกรรมการเกษตร และผลผลิตการเกษตร มีจำนวน 27 โครงการ เงินลงทุน 8,687 ล้านบาท การจ้างงาน 1,763 คน กิจการบริการและสาธารณูปโภค มีจำนวน 9 โครงการ เงินลงทุน 22,993 ล้านบาท การจ้างงาน 482 คน กิจการเหมืองแร่เซรามิกและโลหะขั้นมูลฐาน มีจำนวน 3 โครงการ เงินลงทุน 217 ล้านบาท การจ้างงาน 173 คน อุตสาหกรรมเบา มีจำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 760 ล้านบาท การจ้างงาน 614 คน และกิจการเคมี กระดาษและพลาสติก มีจำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 390 ล้านบาท การจ้างงาน 26 คน
สำหรับจังหวัดที่ได้รับอนุมัติโครงการมากที่สุด คือ จ.สุราษฎร์ธานี โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 13 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 4,323 ล้านบาท การจ้างงาน 520 คน ได้แก่ กิจการผลิตน้ำมันปาล์ม 4 โครงการ กิจการผลิตขวดพลาสติก 2 โครงการ กิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 2 โครงการ และมีกิจการอย่างละ 1 กิจการ ได้แก่ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม กิจการผลิตยางแท่ง กิจการผลิตน้ำยางข้นยางสกิมเครฟ หรือสกิมบล็อก กิจการแต่งแร่ยิปซัมและกิจการขนส่งสินค้า รองลงมาได้แก่ จ.กระบี่ ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 12 โครงการ เงินลงทุน 3,734 ล้านบาท การจ้างงาน 1,247 คน ได้แก่กิจการผลิตน้ำมันปาล์ม จำนวน 9 โครงการและมีกิจการอย่างละ 1 กิจการ ได้แก่ กิจการผลิตถุงมือแพทย์ กิจการแต่แร่โดไลไมท์ที่มีแมกนีเซียมออกไซด์ และกิจการเนื้อสุกรชำแหละ
ขณะที่ จ.นครศรีธรรมราช ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 10 โครงการ เงินลงทุน 22,268 ล้านบาท การจ้างงาน 849 คน ได้แก่ กิจการผลิตน้ำมันปาล์ม 4 โครงการ กิจการขยายพันธุ์สุกร 2 โครงการ และมีกิจการอย่างละ 1 กิจการ ได้แก่ กิจการผลิตน้ำยางข้น กิจการแต่งแร่เฟลด์สปาร์ กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ จ.ชุมพร ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 5 โครงการ เงินลงทุน 594 ล้านบาท การจ้างงาน 74 คน ได้แก่ กิจการผลิตน้ำมันปาล์ม 2 โครงการ กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 2 โครงการ และกิจการผลิตก๊าซชีวภาพ อีก 1 โครงการ จ.ภูเก็ต ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 3 โครงการ เงินลงทุน 2,128 ล้านบาท การจ้างงาน 368 คน ได้แก่ กิจการผลิตที่นอนจากยางพารา กิจการผลิตถุงมือแพทย์และกิจการโรงแรม ส่วน จ.พังงา และ จ.ระนอง ยังไม่มีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556
พร้อมกันนี้ นายสุวิชช์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดเป็นของคนไทยทั้งสิ้น 38 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 88.37 คน และโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยนักลงทุนคนไทยร่วมหุ้นกับต่างชาติ มีจำนวน 5 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 11.63 โดยเป็นนักลงทุนชาวมาเลเซีย และไต้หวัน ส่วนเงินลงทุนส่งเสริมของโครงการที่ได้รับอนุมัติต่ำกว่า 20 ล้านบาท มี 1 โครงการ เงินลงทุนส่งเสริมตั้งแต่ 20-200 ล้านบาท มี 21 โครงการ เงินลงทุนส่งเสริมตั้งแต่ 200-500 ล้านบาท มี 10 โครงการ เงินลงทุนส่งเสริมตั้งแต่ 500-1,000 ล้านบาท มี 7โครงการ และเงินลงทุนส่งเสริม 1,000 ล้านบาทขึ้นไป มี 4 โครงการ
อย่างไรก็ตาม โครงการที่มีขนาดการลงทุนสูงสุดในครึ่งปีแรกของปี 2556 คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด เป็นกิจการผลิตไฟฟ้า 970,000 กิโลวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทย 219 คน รองลงมา คือ โครงการของบริษัท ป่าตองฟิชเชอร์ แมนฮาร์เบอร์ จำกัด เป็นกิจการโรมแรมขนาด 325 ห้อง เงินลงทุน 1,836.6 ล้านบาท จ้างแรงงานคนไทย 84 คน ตั้งอยู่ที่ อ.กระทู้ จ.ภูเก็ต และกิจการของนายวีรภัทร์ โชคแสงทอง เป็นกิจการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ 110,160 ตัน น้ำมันเมล็ดปาล์ม 16,040 ตัน เงินลงทุน 1,100 ล้านบาท จ้างแรงงานคนไทย 128 คน ตั้งอยู่ที่ จ.กระบี่ และกิจการของนายพงศ์นเรศ วนสุวรรณ เป็นกิจการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ 110,160 ตัน น้ำมันเมล็ดปาล์ม 16,040 ตัน เงินลงทุน 1,100 ล้านบาท จ้างแรงงานคนไทย 128 คน ตั้งอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช
นอกจากนี้ แนวโน้มการลงทุนภาคใต้ตอนบนปี 2556 ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 6 เชื่อว่า จะมีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนสูงกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมไปแล้วอยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติ ส่วนใหญ่อยู่ประเภทอุตสาหกรรมการเกษตรและผลผลิตการเกษตร รองลงมาเป็นประเภทบริการและสาธารณูปโภค อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในภาคใต้ตอนบนในปี 2556 ได้แก่ ภาวะ เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ปัญหาด้านแรงงาน สถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่