xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมอาชีวศึกษาจัดงบให้อาชีวะในภาคใต้ หวังให้เด็กเรียนมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - อธิบดีกรมอาชีวศึกษา จัดสรรงบให้วิทยาลัยขนาดเล็กเพิ่ม เพื่อให้สามารถเปิดการเรียนการสอนต่อไปได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น หลังพบชาวใต้สนใจเรียนสายอาชีวะลดน้อยลง

นายประสงค์ อยู่ทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคตรัง และผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 กล่าวยอมรับว่า ด้วยค่านิยมของพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งในจังหวัดตรัง และในภาคใต้ ที่อยากให้ลูกหลานเรียนในสายสามัญ (ม.4-ม.6) เพื่อไปสู่การศึกษาระดับปริญญาตรี อีกทั้งยังมองว่า การเรียนในสายอาชีพ (ปวช., ปวส.) อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหา โดยเฉพาะการตีกันระหว่างสถาบัน ทั้งที่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางเท่านั้น แต่มิได้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ หรือที่จังหวัดตรัง ทำให้มีการส่งลูกหลานมาเรียนในสายอาชีพน้อยลง โดยเฉพาะในวิทยาลัยรอบนอกต่างอำเภอ ที่มีจำนวนนักศึกษาลดลงอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนั้น ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดตรัง ยังมีโรงเรียนในสายสามัญทั้งของภาครัฐ และภาคเอกชนซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับประเทศอยู่จำนวนหลายแห่ง เช่น โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย โรงเรียนวิเชียรมาตุ โรงเรียนสภาราชินี โรงเรียนบูรณะรำลึก ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งส่วนใหญ่จะมีฐานะค่อนข้างดีพยายามส่งลูกหลานไปเรียนยังโรงเรียนดังกล่าวกันเป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ขณะนี้มีเด็กในจังหวัดตรังจบชั้น ม.3 ประมาณปีละ 7 พันคน ในจำนวนนี้ได้ไปเรียนต่อในสายสามัญประมาณ 4 พันคน เหลือเพียงประมาณ 3 พันคนเท่านั้นที่มาเรียนต่อในสายอาชีพ วิทยาลัยเทคนิคตรัง ประมาณ 1 พันคน อีกประมาณ 2 พันคน จะกระจายไปเรียนในอีก 6 สถาบันการอาชีวศึกษาที่เหลือ ซึ่งจำนวนนักศึกษาในแต่ละปีค่อนข้างน้อย เช่น วิทยาลัยการอาชีพกันตัง และวิทยาลัยการอาชีพปะเหลียน ขนาดที่วิทยาลัยเทคนิคตรัง ก็ยังมีนักศึกษาไม่เต็มในบางสาขาวิชา

ดังนั้น ล่าสุดอธิบดีกรมอาชีวศึกษา จึงได้เชิญผู้อำนวยการวิทยาลัยขนาดเล็กไปประชุม และจะจัดสรรงบประมาณให้เพิ่มมากกว่าวิทยาลัยขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถเปิดการเรียนการสอนต่อไปได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เป็นการดึงเด็กในพื้นที่ให้มาเรียนในสายอาชีพ และอยู่บ้านช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองทำงาน รวมทั้งเมื่อจบแล้วยังสามารถทำมาหากินได้ในชุมชนของตนเอง

ส่วนวิทยาลัยขนาดใหญ่ เช่น วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการอาชีพ ทั้งในจังหวัดตรัง และในสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 ได้แก่ ภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ ก็จะเปลี่ยนแนวทางไปเปิดการเรียนการสอนในระดับ ปวส. และปริญญาตรีมากขึ้น โดยเฉพาะในหลักสูตรซึ่งเป็นความต้องการของท้องถิ่น เช่น การท่องเที่ยวและโรงแรม อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ส่วนในระดับ ปวช.จะปล่อยให้อยู่ในความรับผิดชอบของวิทยาลัยขนาดเล็ก เพื่อยกระดับการศึกษาในสายอาชีพให้มีคุณภาพมาตรฐานยิ่งขึ้น เป็นการรองรับตลาดแรงงานตามนโยบายระดับชาติ และเป็นแรงจูงใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองในภาคใต้หันมาส่งลูกหลานเข้าเรียนต่อในสายอาชีพกันมากขึ้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น