ศรีสะเกษ - “พงศ์เทพ” รองนายกฯ และ รมว.ศึกษาธิการ อ้างการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเป็นนโยบายตามโครงการปกติดำเนินการแล้วกว่า 20 ปีแล้ว ชี้สามารถพัฒนา และยกระดับการศึกษาของประเทศไทย และเยาวชนไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม
วันนี้ (11 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงเรียนบ้านเหล็ก สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีรับมอบ และเปิดป้ายอาคารแหล่งเรียนรู้ปฐมวัย โรงเรียนบ้านเหล็ก โดยข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนชาว อ.ปรางค์กู่ ได้ร่วมกันบริจาคเงินก่อสร้าง ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 6 ห้องเรียน และจัดซื้อที่ดินตลอดจนมีการปรับภูมิทัศน์รอบบริเวณโรงเรียน คิดเป็นมูลค่าจำนวนทั้งสิ้น 2,435,000 บาท โดยมี นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ให้การต้อนรับ
ในโอกาสนี้ นายพงศ์เทพ พร้อมด้วย นางสุนีย์ อินฉัตร อดีต ส.ว.ศรีสะเกษ นางมาลินี อินฉัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้มอบเงินสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารแหล่งเรียนรู้ปฐมวัยโรงเรียนบ้านเหล็ก จำนวน 200,000 บาท ด้วย
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า การรวมโรงเรียน หรือการยุบโรงเรียนขนาดเล็กนั้น เป็นนโยบายที่มีการดำเนินการมานานกว่า 20 ปีแล้ว ไม่ใช่เป็นนโยบายใหม่แต่อย่างใด ดังนั้น ตนจึงได้สั่งการไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกจังหวัดให้ตรวจสอบคุณภาพของโรงเรียนในสังกัด ที่มีนักเรียนไม่ถึง 60 คน และหลังจากที่ได้ทำการตรวจสอบแล้ว พบว่า มีโรงเรียนเป็นจำนวนมากที่มีจำนวนนักเรียนไม่ถึง 20 คน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า การที่โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์จะถูกยุบโรงเรียนแต่อย่างใด หากศักยภาพในด้านการศึกษายังมีประสิทธิภาพที่ดี มีการเรียนการสอนที่มีมาตรฐาน และเด็กสามารถเรียนรู้จากการศึกษาภายในโรงเรียนได้อย่างเต็มที่ โรงเรียนก็ถือว่าประสบผลสำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้การส่งเสริม และสามารถทำการเรียนการสอนต่อได้
แต่หากโรงเรียนในชนบทที่มีจำนวนนักเรียนน้อย และประสบปัญหาในเรื่องการเรียนการสอน อาจจะมีการยุบโรงเรียนเพื่อนำไปเรียนร่วมกับโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่กว่า แต่ก็ไม่ไกลจากที่อยู่อาศัยของนักเรียนมากนัก ซึ่งทางรัฐบาลจะได้มีการจัดเตรียมรถรับ-ส่งนักเรียนไว้ เพื่อให้บริการฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าเป็นการผ่อนเบาภาระของผู้ปกครอง และเป็นการสร้างฐานความรู้ที่ดีขึ้นสำหรับเด็กอีกทางหนึ่งด้วย
นายพงศ์เทพ กล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือ การศึกษาที่มีคุณภาพที่จะสร้างเด็กในระดับประถมศึกษา ให้สามารถเรียนต่อในระดับมัธยมพื้นฐานได้อย่างมั่นคง หรือสามารถเรียนต่อในสายอาชีพ หรือสายอาชีวะได้อย่างภาคภูมิใจ ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้มีการดำเนินการแล้วกว่า 20 ปี ไม่ใช่เพิ่งเริ่มกระทำแต่อย่างใด
“หากนับสถิติตั้งแต่ปี 2551-2555 จะเห็นได้ว่า ในแต่ละปีมีการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไม่ต่ำกว่าปีละประมาณ 100 โรงเรียน ซึ่งนโยบายนี้ถือเป็นโครงการปกติและจะสามารถพัฒนาและยกระดับการศึกษาของประเทศไทย และเยาวชนไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย” นายพงศ์เทพกล่าว