xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์ห่วงจำนำข้าวเสี่ยง ขาดทุนแสนล.-ฉุดแบงก์รัฐเดี้ยงตาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวิลด์แบงก์ทบทวนเศรษฐกิจไทยปีหน้าโตได้ 5% ส่งออกฟื้น-รัฐอัดฉีดผ่านโครงการน้ำท่วม เตือนรับจำนำข้าวขาดทุนอย่างต่ำๆ กว่าแสนล้าน ลากแบงก์เฉพาะกิจรับภาระไปด้วย แนะโยกเงินพัฒนาอย่างยั่งยืน

นางกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก เปิดเผยว่า จากการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจไทยช่วงสุดท้ายของปีนี้ ธนาคารโลกยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไว้ที่ระดับ 5% จากปีนี้ที่คาดการณไว้ 4.7% โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ รวมถึงเศรษฐกิจจีนยังขยายตัวได้ในระดับสูง แม้จะไม่สูงเท่าช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 2.6% จากปีนี้คาดการณ์ไว้ 2.3% และเศรษฐกิจจีนเติบโต 8.4% จากปีนี้ที่ 7.9% ซึ่งจะส่งผลดีภาคการส่งออกของไทยเติบโตได้ที่ 5.5% จากปีนี้ที่ 3.6%

    ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไปเป็นกรณีวิกฤตเศรษฐกิจของฝั่งยุโรป และโครงการต่างๆ ของภาครัฐว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ โดยในปีหน้า คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 6 หมื่นล้านบาท จากทั้งหมด 350,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีการเบิกจ่ายไปได้เพียง 2,000 ล้านบาท รวมถึงผลกระทบจากนโยบายอื่นๆ ของรัฐ เช่น โครงการรับจำนำข้าว การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท

 “สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการดำเนินนโยบายต่อไปก็คือ จะเติบโตต่อไปอย่างไรให้ยั่งยืน มั่นคง ไทยปรับตัวขึ้นมาจากประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำมาเป็นระดับกลางแล้ว แต่หากไม่มีการเพิ่มทักษะ ยกระดับการศึกษา ก็จะหลุดพ้นจุดตรงนี้ไปไม่ได้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และในระยะต่อไปเราจะต้องอยู่ให้ได้ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตในอัตราที่ต่ำลงด้วย ดังนั้น เติบโตในเชิงปริมาณที่ลดลงก็จะต้องหันมาพัฒนาทางด้านคุณภาพให้สามารถแข่งขันต่อไปได้”

ยันหนี้สาธารณะยังไม่น่าห่วง
    ด้านหนี้สาธารณะในปี 2556 คาดว่าจะขยับขึ้นอยู่ในระดับใกล้เคียงร้อยละ 50 ของจีดีพี จากปลายปี 2555 ที่ร้อยละ 45 ของจีดีพี ซึ่งการกู้ส่วนใหญ่ของรัฐบาลน่าจะเป็นการกู้เพื่อใช้ในโครงการเงินนอกงบประมาณในโครงการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงโครงการอื่นๆ แต่ระดับหนี้สาธารณะดังกล่าวยังถือว่าไม่ได้สูงมากเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น โครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยกว่าร้อยละ 90 เป็นหนี้ภายในประเทศ และเป็นหนี้ระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาผลจากการดำเนินนโยบายบางโครงการของรัฐบาลที่อาจจะส่งกระทบต่อสถานะการคลังในอนาคต

ชี้รับจำนำข้าวทำเจ๊งเบาะๆ กว่าแสน ล.
    สำหรับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนั้น ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวปี 2554-2555 คาดว่า รัฐบาลจะต้องใช้เงินประมาณ 376,000 ล้านบาท และคาดว่าฤดูกาลปี 2555-2556 จะมีจำนวนรับประกันมากขึ้น โดยคาดว่าจะใช้เม็ดเงินประมาณ 450,000 ล้านบาท ซึ่งหากคำนวณจากราคาข้าวในตลาดโลกที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาข้าวที่รัฐบาลรับจำนำแล้ว คาดว่าจะมีผลขาดุทันอยู่ระหว่าง 115,000-150,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1-1.3 ของจีดีพีต่อหนึ่งฤดูกาลเก็บเกี่ยว แต่สิ่งที่ต้องติดตามก็คือ จนถึงปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้มีการขายข้าวออกไปเลย

    “ยังไม่เคยมีประเทศไหนที่ขายข้าวให้ใครได้ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เพราะไม่อย่างนั้นเขาก็ไปซื้อที่อื่น ดังนั้น ผลขาดทุนต้องมีแน่ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการตัดสินของรัฐบาลว่าจะยอมที่ราคาไหน จุดไหน และที่สำคัญคือ รัฐบาลควรจะโยกเงินที่จะเอามาขาดทุนอยู่ทุกปีมาพัฒนาศักยภาพให้เกษตรกรมีผลิตผลที่ดีขึ้น มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่างจากวิธีนี้ที่ทำให้ราคาข้าวบิดไปจากระบบ”    

ห่วงแบงก์เฉพาะกิจเดี้ยงสนองรัฐ
    นางกิริฎา กล่าวอีกว่า อีกผลที่ตามมาของนโยบายต่างๆ ของรัฐก็คือ การใช้ธนาคารเฉพาะกิจต่างๆ ในการเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐ ซึ่งทำให้ธนาคารนั้นๆ ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือมีภาระเพิ่มขึ้นในระยะยาว เช่น กรณีให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรรับจำนำข้าว เป็นต้น ดังนั้น จึงควรมีการทบทวนบทบาทของธนาคารเฉพาะกิจให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง เนื่องจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบธนาคารเช่นกัน
    
กำลังโหลดความคิดเห็น