xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจกำลังคู่ชิง ‘อบจ.สงขลา’ กับบทเรียนมากค่าคำว่า ‘เพื่อน’ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุทิศ ชูช่วย กับ นิพนธ์ บุญญามณี วันรับสมัครเลือกตั้งชิง นายก อบจ.สงขลา
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
สนามการเมืองท้องถิ่นสงขลามีความร้อนแรงตั้งแต่ครั้งที่ นิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ จ.สงขลา ประกาศตัวลงแข่งขันกับ อุทิศ ชูช่วย เจ้าของตำแหน่ง นายก อบจ. หลังจากที่ พีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา ถูกยิงเสียชีวิตกลางเมือง และผลจากคดีที่เกิดขึ้นตำรวจตั้งข้อกล่าวหาว่า กิตติ ชูช่วย และ อุทิศ ชูช่วย  มีส่วนพัวพันในคดีดังกล่าว โดยขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี และสองพี่น้องชูช่วยปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
 
สาเหตุที่คนใน จ.สงขลาให้ความสนใจกับการเลือกตั้ง นายก อบจ.สงขลา ที่จะมีขึ้นในครั้งนี้ เนื่องจากอุทิศและนิพนธ์ต่างเป็นเพื่อนรักที่เกี่ยวก้อยเดินบนถนนการเมืองมาด้วยกันอย่างยาวนาน เป็นเพื่อนกันตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธด้วยกัน หลังจากนั้นร่วมทำกิจกรรม ทำธุรกิจและเล่นการเมืองด้วยกันมาอย่างยาวนาน
 
อุทิศช่วยผลักดันให้นิพนธ์กว้าวไปสู่เส้นทาง ส.ส. และนิพนธ์ก็ช่วยผลักดันให้อุทิศได้เป็น นายกเทศมนตรีนครสงขลา และเป็นนายก อบจ.สงขลาสืบแทน นวพล บุญญามณี เนื่องจากอุบัติเหตุทางการเมือง ดังนั้นคนใน จ.สงขลาจึงไม่เคยคาดคิดว่า “เพื่อนรัก” คู่นี้จะกลายเป็น “คู่แข่ง” ที่ต้องลงสนามต่อสู้กัน เพื่อกว้าไปสู่ตำแห่งนายก อบจ.สงขลา
 
กกต.หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดสงขลา ประกาศให้วันที่ 4 ส.ค.2556 เป็นวันเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา และได้ประกาศรับสมัครผู้ลงสมัครในตำแหน่งนายก อบจ. เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีผู้สมัคร 4 คน อุทิศได้หมายเลข 1 นิพนธ์ได้หมายเลข 2 ส่วนหมายเลข 3 เป็นของ พิณ คงเอียง และหมายเลข 4 เป็นของ จรัญ อรุณพันธุ์
 
โดยอุทิศลงสมัครในชื่อทีมเดิมคือ “สงขลาพัฒนา ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาตั้งแต่สมัครเป็นนายกเทศมนตรีนครสงขลา ส่วนนิพนธ์ที่ยื่นใบลาออกจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัครในนาม “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองในหัวใจของคนภาคใต้มาอย่างยาวนาน
 
ดังนั้น ศึกการแย่งตำแหน่ง นายก อบจ.สงขลาครั้งนี้จึงเป็น “มวยถูกคู่” ที่มีเดิมพัน มีกองเชียร์ มีผู้สนับสนุนที่มากพอๆ กัน และสุดท้ายทั้งคู่เป็นนักการเมืองที่มีธุรกิจอุตสาหกรรมที่มี “เม็ดเงิน” ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
 
ก่อนหน้าที่มีการลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ในครั้งนี้ อุทิศจัดเวทีพบปะประชาชนใน 16 อำเภอของ จ.สงขลา 100 เวที โดยมีศิลปินชาวใต้ “เอกชัย ศรีวิชัย” เป็นตัวชูโรงในการหาเสียงและให้การสนับสนุน ในส่วนของนิพนธ์ก็จัดกิจกรรมทางการเมืองทั่ว 16 อำเภอเช่นกัน ด้วยการใช้บริการของวง “คาราบาว” ดังนั้นทั้งสองฝ่ายต่างมีข้อมูลที่เชื่อมั่นว่า ตนเองมีคะแนนเสียงจากประชาชนให้การสนับสนุนพอที่จะส่งไปสู้ตำแหน่งนายก อบจ.สงขลาได้อย่างแน่นอน
 
ถ้าการแข่งขันครั้งนี้เป็นการ “ชกมวยไทย” คู่มวยระหว่างนิพนธ์ผู้ท้าชิง กับอุทิศผู้ป้องกันแชมป์ ถือเป็นมวยที่มีรูปร่างเท่ากันที่ภาษามวยเรียกว่า “ตัดหัวตัวเท่า” เป็นมวยทางเดียวกัน และเป็นมวยที่ “รู้ทาง” กัน ยุทธศาสตร์ของการวางแผนหาเสียงมีลักษณะที่ “ลอกเลียน” กันมาหลายส่วน
 
เพียงแต่วิธีการของอุทิศดูจะ “แน่น” และ “เนียน” กว่า ในขณะที่วิธีการของนิพนธ์ดูจะ “หลวม” กว่าในหลายเรื่อง โดยเฉพาะวิธีบริหารจัดการเรื่อง “หัวคะแนน” และการรักษา “ฐานเสียง” รวมทั้งการให้ยา “บำรุง” กับผู้เป็น ส.อบจ.ในแต่ละพื้นที่
 
เนื่องจากอุทิศจะได้เปรียบที่อยู่ในตำแหน่งนายก อบจ. มีผลงานที่ “เข้าตา” ประชาชนมาโดยตลอด แม้ว่าจะมีการ “โจมตี” จากฝ่ายตรงข้ามในเรื่อง “หัวคิว” แต่ไม่มีผลมากนักกับกลุ่มประชาชนที่ให้การสนับสนุน
 
ในขณะที่นิพนธ์ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ชูนโยบาย “อบจ.สีขาว โตแล้วไม่โกง” มีการทำ “การบ้าน” ด้วยการทำเวทีชาวบ้านมาโดยตลอดในระยะ 1 ปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง มีกลุ่มก้อนของ “นักการเมืองท้องถิ่น” และ “ผู้นำท้องที่” ส่วนหนึ่งให้กับสนับสนุน และถ้าไม่ “มั่นใจ” คงไม่ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อเพื่อลงมาคลุกฝุ่นกับการเมืองท้องถิ่นอย่างแน่นอน เพราะถ้าเกิดพลาดและ “สอบตก” ในครั้งนี้ เท่ากับว่านิพนธ์จะหายไปแบบ “ทั้งโซ่ ทั้งลิง” เหลือเพียงตำแหน่ง อดีต ส.ส.เท่านั้น
 
ยกแรกของโรมรันพันตูของมวยถูกคู่ครั้งนี้คือ สงคราม “ป้ายหาเสียง” ที่หมายเลข 1 คืออุทิศเปิดนโยบาย “สร้าง” แบบ “ประชานิยม” ให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่กระเช้าลอยฟ้า รถยกฟรี รถละหมาด ศูนย์กำจัดขยะรวม และอื่นๆ อีกหลายสิบโครงการ
 
ขณะที่นิพนธ์แห่งพรรคแม่ธรณีบีบมวยผมเปิดสงครามป้ายด้วยการใช้คำว่า “หยุดโกงกิน หยุดใช้อำนาจเถื่อน” ซึ่งมีรูปกระสุนปืน 3 นัดปรากฏอยู่ในป้ายหาเสียงด้วย พร้อมทั้งการใช้ชื่อ “พรรคประชาธิปัตย์” กับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรี และ “ชวน หลีกภัย” ประธานที่ปรึกษาพรรค เป็นโลโก้ของขบวนรถแห่งที่ใช้ในการหาเสียง
 
สนามเลือกตั้ง นายก อบจ.สงขลาครั้งนี้จึงเป็นสนามที่ “ดุเดือด” และเป็นการ “ประลองกำลัง” ครั้งสำคัญของผู้สมัครและกองเชียร์ เพราะต่างคนต่างประกาศตัว “แพ้ไม่ได้” และที่สำคัญนอกจากคู่ชิงอย่างอุทิศและนิพนธ์จะต้อง โรมรันฟันตู แลกหมัด แลกเข่า แลกศอก แลกเตะกันอย่างดุเดือดแล้ว
 
ยังเป็นการเดิมพันของผู้สนับสนุนคนสำคัญอย่าง ชวน หลีกภัย ที่ต้อง “กะเตง” เอานิพนธ์เข้าสะเอว เพื่อพาไปสู่ตำแหน่งนายก อบจ.กับ เอกชัย ศรีวิชัย นักร้องขวัญใจชาวใต้ที่ทุ่มสุดตัวในการ “แบก” และ “จูง” อุทิศไปเป็น นายก อบจ.สมัยที่ 2 ให้ได้
 
คงต้องดูกันต่อไปว่า ระหว่าง “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” กับ “ลูกทุ่งกระชากใจแม่ยก” ใครจะมีคะแนนเสียงสนับสนุนมากกว่ากัน
 
พีระ ตันติเศรณี กับภาพวันถูกลอบสังหาร
 
สุดท้ายแล้วกรรมการผู้ควบคุมกติกาการเลือกตั้งคือ กกต.จะต้องทำงานหนักกับมวยถูกคู่ครั้งนี้ เพราะเชื่อว่าจะมีการใช้กลยุทธทุกรูปแบบในการหาเสียง ทั้งการ “ชี้นำ” “อิทธิพล” และ “กระสุน” ของกลุ่มผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่าย
 
โดยเฉพาะ “ตำรวจ” ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมสถานการณ์อย่าให้เกิด “ความรุนแรง” และการเล่น “นอกกติกา” จะต้องมีความพร้อมในการติดตามสถานการณ์ และการป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะมีการบาดเจ็บหรือล้มตายเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งครั้งนี้
 
ที่สำคัญที่สุดนั้น หวังว่ากรณีของ “พีระ ตันติเศรณี” อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา ที่ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมและอุกอาจ อันเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง คงจะไม่เกิดขึ้นเป็นคำรบสองของ จ.สงขลา 



กำลังโหลดความคิดเห็น