xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิง นายก อบจ.สงขลา “ลูกทุ่งกระชากใจแม่ยก” ดวล “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนละฟาก - ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลาทั้ง 4 คน ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ณ วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา
 

โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

วันอาทิตย์ที่ 4 ส.ค.นี้ก็จะรู้กันแล้วว่า คนสงขลาจะตัดสินใจเลือกใครนั่งเก้าอี้ “นายก อบจ.สงขลา” คนต่อไป ซึ่งเวลานี้มีผู้สมัครลงชิงตำแหน่งนี้ด้วยกันทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย นายอุทิศ ชูช่วย ทีมสงขลาพัฒนา หมายเลข 1 นายนิพนธ์ บุญญามณี ทีมพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 2 นายพิณ คงเอียง ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 3 และ นายจรัญ อรุณพันธุ์ ทีมสงขลาพอเพียง หมายเลข 4

สนามการเมืองท้องถิ่นของสงขลามีความร้อนแรงระอุเดือดมาตั้งแต่ครั้งที่นายนิพนธ์ประกาศทิ้งเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อลงแข่งขันกับนายอุทิศเจ้าของตำแหน่งเดิม หลังจากที่ นายพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา ถูกลอบยิงเสียชีวิตกลางเมือง และมีการตั้งข้อกล่าวหาว่านายอุทิศกับน้องชายนายกิตติ ชูช่วย มีส่วนพัวพันในคดีดังกล่าว

ความจริงแล้วนายนิพนธ์ นายอุทิศและนายพีระ ต่างเป็นเพื่อนรักที่เกี่ยวก้อยทำกิจกรรมการเมืองมาด้วยกันตั้งแต่ใส่กางขาสั้นอยู่ในรั้วโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา เมื่อโตขึ้นก็ยังร่วมหุ้นกันทำธุรกิจ อีกทั้งร่วมเดินบนถนนการเมืองมาด้วยกันมาอย่างยาวนาน ช่วยหนุนส่งกันและกันโดยให้นายนิพนธ์ก้าวขึ้นสู่การเมืองระดับชาติ ส่วนนายอุทิศและนายพีระเลือกที่จะเล่นการเมืองท้องถิ่น ทั้งการยึดครองเทศบาลนครสงขลาและ อบจ.สงขลา

จึงแทบไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า จาก “เพื่อนรัก” จะกลายเป็นคนที่ต้องมา “หักเหลี่ยมโหด” กันไปได้?!

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ผู้คร่ำหวอดในการเมืองท้องถิ่นของภาคใต้ ให้มุมมองศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ.สงขลาในหนนี้ว่า การที่นายนิพนธ์กับนายอุทิศต้องการมาเป็นคู่แข่งขันถือเป็น “มวยถูกคู่” ที่มีเดิมพัน มีกองเชียร์ มีผู้สนับสนุนที่มากพอๆ กัน และไม่เพียงเท่านั้นทั้งคู่ต่างก็เป็นนักการเมืองที่มีธุรกิจอุตสาหกรรมที่มี “เม็ดเงิน” ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ก่อนหน้าลงสมัครรับเลือกตั้ง นายอุทิศจัดเวทีพบปะประชาชนใน 16 อำเภอของ จ.สงขลาไปแล้ว 100 เวที โดยมีศิลปินชาวใต้ “เอกชัย ศรีวิชัย” เป็นตัวชูโรง ขณะที่นายนิพนธ์ก็จัดตระเวนจัดกิจกรรมทางการเมืองทั่วทั้ง 16 อำเภอของ จ.สงขลาเช่นกัน ด้วยการใช้บริการของวง “คาราบาว” เป็นจุดดึงคน

ถ้าศึกชองนายก อบจ.สงขลาครานี้เป็นรายการชกมวยไทย คู่มวยระหว่างนายนิพนธ์ผู้ท้าชิง กับนายอุทิศผู้ป้องกันแชมป์ ถือเป็นมวยมีรูปร่างเท่ากันที่ภาษามวยเรียกว่า “ตัดหัวตัวเท่า” เป็นมวย “ทางเดียวกัน” และเป็นมวยที่ “รู้ทาง” กัน ดังนั้นยุทธศาสตร์การวางแผนหาเสียงจึงมีลักษณะที่ “ลอกเลียน” กันมาหลายส่วน

เพียงแต่วิธีการของนายอุทิศดูจะ “แน่น” และ “เนียน” กว่า ในขณะที่วิธีการของฯษญนิพนธ์ดูจะ “หลวม” กว่าในหลายเรื่อง โดยเฉพาะวิธีบริหารจัดการเรื่อง “หัวคะแนน” และการรักษา “ฐานเสียง” รวมทั้งการให้ยา “บำรุง” กับผู้เป็น ส.อบจ.ในแต่ละพื้นที่ และมีได้เปรียบที่อยู่ในตำแหน่งนายก อบจ.มีผลงานที่ “เข้าตา” ประชาชนมาโดยตลอด แม้ว่าจะมีการ “โจมตี” จากฝ่ายตรงข้ามในเรื่อง “หัวคิว” แต่ไม่มีผลมากนักกับกลุ่มประชาชนที่ให้การสนับสนุน

ในขณะที่นายนิพนธ์ชูนโยบาย “อบจ.สีขาว โตแล้วไม่โกง” มีการทำการบ้านด้วยการทำเวทีชาวบ้านมาโดยตลอดในระยะ 1 ปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง มีกลุ่มก้อนของ “นักการเมืองท้องถิ่น” และ “ผู้นำท้องที่” ส่วนหนึ่งให้กับสนับสนุน และถ้าไม่มั่นใจคงไม่ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อเพื่อลงมาคลุกฝุ่นกับการเมืองท้องถิ่น เพราะสอบตกเท่ากับว่าจะหายไปแบบทั้งโซ่ ทั้งลิง

ยกแรกในการโรมรันพันตูของมวยถูกคู่ครั้งนี้คือ สงคราม “ป้ายหาเสียง” ที่อุทิศเปิดนโยบาย “สร้าง” แบบ “ประชานิยม” ตั้งแต่กระเช้าลอยฟ้า รถยกฟรี รถละหมาด ศูนย์กำจัดขยะรวม และอื่นๆ อีกหลายสิบโครงการ ด้านนิพนธ์ใช้คำว่า “หยุดโกงกิน หยุดใช้อำนาจเถื่อน” ซึ่งมีรูปกระสุนปืน 3 นัดปรากฏอยู่บนป้ายหาเสียงด้วย พร้อมทั้งการใช้ชื่อ “พรรคประชาธิปัตย์” กับ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรี และ “นายชวน หลีกภัย” ประธานที่ปรึกษาพรรค เป็นโลโก้ของขบวนรถแห่งที่ใช้ในการหาเสียง

เป็นที่น่าสังเกตในช่วงโครงสุดท้ายนี้ยังปรากฏภาพค่อนข้างชัดด้วยว่า เป็นการเดิมพันของผู้สนับสนุนคนสำคัญอย่าง นายชวน หลีกภัย นักการเมืองขวัญใจคนใต้ลูกสะตอตลอดกาลที่ “กะเตง” เอานายนิพนธ์เข้าสะเอวเพื่อพาไปโค่นเจ้าของเก้าอี้เดิม กับนายเอกชัย ศรีวิชัย นักร้องขวัญใจชาวใต้เช่นกันที่ทุ่มสุดตัวในการ “แบก” และ “จูง” นายอุทิศไปเป็น นายก อบจ.สงขลาสมัยที่ 2 ให้ได้

คงต้องดูกันต่อไปว่า ระหว่าง “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” กับ “ลูกทุ่งกระชากใจแม่ยก” ใครจะมีคะแนนเสียงสนับสนุนมากกว่ากัน?!

ด้านนายจรูญ หยูทอง นักวิชาการจากรั้วมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ที่คร่ำเคร่งร่วมทำวิจัยด้านวัฒนธรรมใต้และศึกษาวัฒนธรรมการเมืองคนใต้มานาน ให้ทรรศนะในศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ.สงขลาครานี้ว่า คนใต้มีอัตลักษณ์เฉพาะที่ มีความแตกต่างจากคนภาคอื่นในบางด้าน โดยเฉพาะคตินิยมดั้งเดิมที่เคร่งครัดในเรื่องจารีตทางเพศ คตินิยมความเป็นคนนักเลง คตินิยมความเป็นคนชอบสนุกสนานบันเทิง คตินิยมความเชื่อในไสยศาสตร์ และคตินิยมความเชื่อในทางศาสนา โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางการเมืองมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

ทั้งนี้ วัฒนธรรมทางการเมือง คือระเบียบแบบแผนพฤติกรรมทางการเมืองของกลุ่มชน ทั้งที่แสดงออกและไม่แสดงออกผ่านระบบต่างๆ ทางการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทั้งระบบ มีการสั่งสมผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม โดยสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันการเมืองการปกครอง สถาบันสื่อสารมวลชน แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

1. วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ คือแบบระบบเผ่า ส่งผ่านทางทายาทผู้สืบทอดในฐานะหัวหน้าเผ่า ผู้นำประกอบพิธีกรรม 2. วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า คือยอมรับในอำนาจของคนบางกลุ่ม บางตระกูลว่าเกิดมาเพื่อเป็นนักการเมือง นักปกครอง การเมืองเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น และ 3. วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม หรือแบบประชาธิปไตย คือคนในสังคมมีความคิดความเชื่อว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และพยายามจะเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการและทุกขั้นตอนของการเมืองทั้งระบบ

จากการศึกษาพบว่า ไม่มีประเทศหรือกลุ่มชนไหนในโลกมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบหนึ่งแบบใดโดยเฉพาะ เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่เป็นสังคมพหุลักษณ์ หรือพหุวัฒนธรรม จึงมักมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบผสมผสาน ได้แก่ 1) วัฒนธรรมทางการแบบคับแคบ+ไพร่ฟ้า 2) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ+การมีส่วนร่วม และ 3) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า+มีส่วนร่วม

สำหรับประเทศไทย และโดยเฉพาะภาคใต้ก็คงมีวัฒนธรรมทางการเมืองทั้ง 3 แบบคละเคล้ากันไป ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะ หรือคุณภาพของประชากรในแต่ละชุมชน อย่างบางกลุ่มที่ถูกครอบงำด้วยการเมือง “แบบหัวหน้าเผ่า” หรือ “สาวก” วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบจึงมีความเข้มข้น

บางชุมชนสมาชิกได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ ก็จะมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ “ไพร่ฟ้า” นั่นคือ ประชาชนมีความตระหนักในความสำคัญของการเมือง แต่ก็ยังไม่กล้าเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นหนึ่งเท่านั้น  ไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะทำได้

ส่วนในชุมชนที่มีคนชั้นกลางหนาแน่น และพยายามเรียกร้องการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ก็จะมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม หรือวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย

การเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลาที่กำลังจะมีขึ้น จะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า “คนสงขลา” มีวัฒนธรรมแบบใดมากที่สุด ระหว่าง “คับแคบ-หมอผี หัวหน้าเผ่า หรือระบบเผ่า” หรือแบบ “ไพร่ฟ้า-ยอมรับในบุคคลพิเศษผู้เกิดมาเพื่อเป็นนักการเมือง” หรือแบบ “มีส่วนร่วม-ประชาธิปไตย ที่เรียกร้องการมีส่วนร่วมและตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักการเหตุผล ข้อมูล ผลประโยชน์ที่จะได้รับ โดยเฉพาะผลประโยชน์ของส่วนรวม”

อย่าลืมว่า “เลือกนายก อบจ.สงขลาไม่เข้าท่า  จะขายหน้ากันทั้งเมือง”??!!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น