xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย “อีเมลฉบับแรกของไทย” เกิดขึ้นที่คณะวิทย์ ม.อ.หาดใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ย้อนรอย “อีเมลฉบับแรกของไทย” เกิดขึ้นที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่ เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย ส่งผู้เชี่ยวชาญมาติดตั้งระบบ และสร้าง URL ชื่อ Sritrang.psu.th ขึ้น เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารระหว่าง ม.อ. และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วโลก

สืบเนื่องจากในปี 2556 นี้ เป็นปีที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มีอายุครบ 45 ปี วันนี้ (22 มิ.ย.) ทางคณะฯ จึงจัดงานฉลองครบรอบ 45 ปีขึ้น โดยเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมามีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “4.5 ทศวรรษ Computer และ IT ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” โดย ผศ.วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต (URL) Sritrang.psu.th เป็นแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมทั้งเป็นหนึ่งในคณะที่ก่อให้เกิดอีเมลฉบับแรกขึ้นในประเทศไทยด้วย
ผศ.วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.
 
ผศ.วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน เปิดเผยว่า การส่งอีเมลฉบับแรกนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2531 หรือ 25 ปีที่แล้ว โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเล็งความความสำคัญของการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในภูมิภาค ทั้งนี้ เมื่อสมัย 25 ปีที่แล้วนั้น การติดต่อสื่อสารระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งภายในประเทศไทย และระหว่างมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วโลก ค่อนข้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก

และจากแนวคิดที่ว่า ม.อ. เป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ มาก จึงต้องการพัฒนาระบบสื่อสารเพื่อดึงดูดให้บุคลากรทางการศึกษาอยู่ในพื้นที่อย่างมีความสุข รวมทั้งป้องกันภาวะสมองไหลด้วย รัฐบาลออสเตรเลียจึงส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และโปรแกรมเมอร์มือฉมัง คือ อาจารย์โรเบิร์ต เอลซ์ และ ศ.จูริส ไรน์เฟลด์ มาช่วยพัฒนางาน และจัดตั้งระบบ UUCP (Unix to Unix Communication Protocol) ขึ้น เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารจาก ม.อ. ไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วโลกที่มีระบบคล้ายๆ กันได้ ทำให้เกิดการส่งอีเมลฉบับแรกจากประเทศไทยออกไป โดยใช้ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต (URL) ว่า Sritrang.psu.th ซึ่งหมายถึงดอกศรีตรัง ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั่นเอง
อีเมล์ฉบับแรกของประเทศไทย
 
“อีเมลฉบับแรกของประเทศไทยถูกส่งเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2531 โดยอาจารย์โรเบิร์ต เอลซ์ เป็นผู้ส่งอีเมลฉบับนี้ไปยังมหาวิทยาลับเมลเบิร์น โดยเนื้อความในอีเมลมีเพียงคำทักทายว่า Hi และลงท้ายว่า Bye ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไร เพื่อเป็นการทดสอบระบบเท่านั้น ซึ่งเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในวงการอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยโดยไม่ได้ตั้งใจ” ผศ.วุฒิพงศ์ กล่าว

สำหรับอีเมลฉบับแรกนั้น มีข้อความดังนี้
 

Return-path: kre@sritrang.psu.th
Received: from mulga.OZ by munnari.oz (5.5)
id AA06244; Thu, 2 Jun 88 21:22:14 EST
(from kre@sritrang.psu.th for kre)
Received: by mulga.oz (5.51)
id AA01438; Thu, 2 Jun 88 21:21:50 EST
Apparently-to: kre
Date: Thu, 2 Jun 88 21:21:50 EST
From: kre@sritrang.psu.th
Message-id: <8806021121.1438@mulga.OZ>

Hi. 

Bye


อาจารย์โรเบิร์ต เอลซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์
 
และหลังจากส่งอีเมลฉบับแรกสำเร็จ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็พัฒนาระบบ และนำมาประยุกต์กับการใช้งานต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดมา

ย้อนไปในช่วงแรกๆ (พ.ศ.2510-2519) ซึ่งถือเป็นยุคเตรียมการ มีการส่งคณาจารย์ไปศึกษาต่อด้านคอมพิวเตอร์ที่ต่างประเทศ และเริ่มเปิดสอนวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แต่สอนโดยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ โดยเมื่อเขียนโปรแกรมเสร็จ จะต้องส่งบัตรที่เจาะรูแล้วข้ามไปทดสอบระบบที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย บางส่วนก็ส่งไปตรวจที่สำนักงานสถิติแห่งชาต กรุงเทพฯ จากนั้นก็เตรียมการจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ขึ้น และเขียนโครงการของคอมพิวเตอร์ไปยังคณะกรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐ

ต่อมา ในช่วงที่ 2 (พ.ศ.2520-2529) เป็นยุคทองของระบบคอมพิวเตอร์ ใน ม.อ. เลยก็ว่าได้ เนื่องจากบุคลากรที่ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศเริ่มทยอยกลับมาสอน และมีการจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ขึ้นในคณะวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกัน เครื่องคอมพิวเตอร์ CDC Cyber 18-20 ก็เดินทางมาถึง ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ ในปี พ.ศ.2522 เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เครื่องแรกของ ม.อ. และเครื่องแรกใน 14 จังหวัดภาคใต้ จากนั้นจึงมีการเปิดสอนวิชาคอมพิวเตอร์แบบเต็มรูปแบบ และในปี พ.ศ.2522 นั่นเองที่มีการยกฐานะศูนย์คอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นโครงการจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ ม.อ. เพื่อให้นักศึกษาคณะอื่นๆ ได้ใช้งานด้วย

 
จากนั้นก็มีการพัฒนา และทดลองระบบเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับงานต่างๆ เช่น การตรวจข้อสอบ การประเมินผล การลงทะเบียนเรียน การประกาศผลสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย และใช้สำหรับเวชระเบียนในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นต้น จนอาจกล่าวได้ว่า หลังจากอีเมลฉบับแรกเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็มีส่วนผลักดัน และส่งเสริมให้งานด้านอื่นๆ เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และง่ายดายขึ้นเช่นกัน

สำหรับเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ในอดีต มีดังนี้

- พ.ศ.2524 ม.อ.เริ่มเปิดให้มีการลงทะเบียนเรียนด้วยคอมพิวเตอร์ และนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการรวมคะแนน และจัดลำดับที่ในการสอบคัดเลือกโดยวิธีรับตรง

- คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เริ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานเวชระเบียน

- พ.ศ.2525 พัฒนาระบบ Payroll ของมหาวิทยาลัยโดยคอมพิวเตอร์

- พ.ศ.2526 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (คอมพิวเตอร์)

- ภาควิชาคณิตศาสตร์ ใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลผลการประเมินการเรียนการสอน

- พ.ศ.2527 ตรวจข้อสอบคัดเลือกโดยใช้เครื่อง OMR และจัดห้องสอบคัดเลือกโดยใช้คอมพิวเตอร์

- 27 เม.ย.2527 ประกาศจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ในพระราชกิจจานุเบกษา

- ได้รับเครื่องแมคอินทอช รุ่น Classic จำนวน 8 เครื่อง และ Lisa จำนวน 1 เครื่อง จากประเทศออสเตรเลีย (เป็นล็อตแรกในไทย)

- ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในโครงการพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย โดยใช้คอมพิวเตอร์ จัดทำพจนานุกรม 6 เล่ม 6 สาขา

- พ.ศ.2529 ทดลองเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ ระหว่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่ ม.อ.หาดใหญ่ กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของสำนักวิจัย และระบบคอมพิวเตอร์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมๆ กับเปิดหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์

- 2 มิ.ย.2531 ส่งอีเมลฉบับแรกจาก ม.อ.หาดใหญ่ ไปยังมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย จากนั้นก็เริ่มมีการใช้อีเมลใน ม.อ.

- พัฒนาระบบรายงานผลการแข่งขันกีฬาแห่งชาติแบบออนไลน์ ใช้งานที่สมิหราเกมส์ (พ.ศ.2532), นครพิงค์เกมส์ จ.เชียงใหม่ (พ.ศ.2533), กรุงเก่าเกมส์ (พ.ศ.2534) และดอกคูณเกมส์ (พ.ศ.2535)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น