ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สสจ.ภูเก็ต ห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก หลังพบมีรายงานผู้ป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นมาก จำนวน 912 ราย และมีผู้เสียชีวิต
นายบัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-12 มิถุนายน 2556 มีรายงานผู้ป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นมาก จำนวน 912 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย พบผู้ป่วยกระจายอยู่ทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักซื้อยากินเอง กว่าจะไปพบแพทย์ก็ล่าช้า ไม่ทันเวลา ทำให้อันตรายถึงชีวิต
โดยทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต จึงขอความร่วมมือประชาชน ผู้ที่มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย (ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ) ควรงดทานยาแก้ไข้สูง/แก้ปวดเมื่อย เพราะจะทำให้โรครุนแรงอันตรายมากขึ้น และให้ทายา/โลชั่นกันยุงกัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นในช่วงที่มีไข้สูง โดยทาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน รวมจำนวน 6 ซอง รวมทั้งให้สังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลง หากไข้ 2 วันยังไม่ลดให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการเจาะเลือดตรวจวินิจฉัยอาการ รวมถึงให้ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้าน ชุมชน โรงเรียน สถานที่ทำงานทุกสัปดาห์ การดำเนินการที่ทำได้ดีที่สุด คือ ประชาชนทุกบ้านทุกหลังคาเรือนช่วยกันทำภายใต้แนวคิด “บ้านใคร บ้านคนนั้น เราต้องทำเอง” ซึ่งจะเป็นวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ได้ผลที่สุด และเกิดความยั่งยืน
นายแพทย์บัญชา ยังได้กล่าวถึงการพ่นเคมีกำจัดยุงด้วยว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่สามารถกำจัดยุงได้ครอบคลุม แต่การพ่นเคมีจำเป็นต้องดำเนินการกรณีมีผู้ป่วยที่ต้องควบคุมโรค ซึ่งวิธีพ่นเคมี มี 2 ชนิด คือ 1.การพ่นหมอกควัน เป็นการพ่นภายในบ้าน ปิดประตู หน้าต่าง และอบควันทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมงเพื่อฆ่ายุง ซึ่งประชาชนยังเข้าใจผิดและปฏิเสธการพ่นภายในบ้านแต่จะให้พ่นนอกบ้าน คูระบายน้ำ ซึ่งเป็นการพ่นที่ผิดวิธี เพราะยุงลายอาศัยอยู่ในบ้าน กรณีที่ประชาชนไม่ยินยอมให้พ่นในบ้านสามารถใช้สเปรย์กระป่องฉีดพ่นเอง และ 2.พ่นฝอยละออง เช่น เครื่องพ่นติดรถยนต์ การพ่นวิธีนี้ต้องปิดประตู หน้าต่างให้ฝอยละอองลอยไปสัมผัสตัวยุงจึงจะตาย